Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ อย่างเดียวไม่พอ

คอลัมน์/ชุมชน

นโยบายหลักประกันสุขภาพ นับเป็นความก้าวหน้าที่รัฐบาลไทยรักไทยกล้าทำ เพราะต้องดำเนินการ "หักด้ามพร้าด้วยเข่า" คือการหักดิบการจัดการงบประมาณจากเดิมให้งบเบ็ดเสร็จเหมารวมไปที่กระทรวงสาธารณสุขที่เดียว เปลี่ยนเป็นงบประมาณเป็นของประชาชน เป็นค่าใช้จ่ายรายหัวของประชาชนที่จ่ายให้กระทรวงฯ ให้ทำหน้าที่ดำเนินการดูแลรักษาประชาชนโดยไม่ต้องรับค่ารักษาใด ๆ อีก เป็นหลักประกันว่ายามเจ็บป่วยทุกคนสามารถไปรับการรักษาได้อย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ต้องร้องขอการ "สงเคราะห์ช่วยเหลือค่ารักษา" อีกต่อไป เพราะรัฐจัดสรรงบให้แล้ว


แต่การดำเนินนโยบายนี้ ต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากข้าราชการกระทรวง รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิดจากที่ข้าราชการคือเจ้านาย เปลี่ยนเป็นหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกส่วนเป็นพนักงานบริการประชาชนไม่ใช่เจ้านายอีกต่อไป หากรัฐไม่อาจซื้อใจคนเหล่านี้ด้วยแรงจูงใจบางอย่าง อาจส่งผลเสียคือความล้มเหลวของระบบหลักประกันสุขภาพได้


ที่ผ่านมารัฐยังทำได้ไม่ดีพอ หากการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีพรรคใดมาดำเนินการต่อ คงต้องเน้นทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืน และทำให้ข้าราชการพร้อมจะทำงานบริการรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่พูดง่าย ๆ ว่า รักษาฟรี อย่างเดียวต้องให้เงินเพิ่ม ให้แรงจูงใจ เพื่อคนในระบบจะมีความสุขในการทำงานบริการประชาชน


นโยบายหลักประกันการศึกษา การเรียนฟรี 12 ปีเป็นสิ่งที่รัฐต้องดำเนินการเนื่องจากเป็นสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญของประชาชน แต่รัฐต้องรับผิดชอบสร้างหลักประกันให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและได้มาตรฐานเหมือนกัน เช่นเดียวกับหลักประกันสุขภาพ


นั่นคือรัฐต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากการยกเว้นค่าเล่าเรียน เช่น ค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ค่าสูญเสียรายได้กรณีลูกต้องเข้าเรียนไม่อาจไปช่วยพ่อแม่ทำงานหาเลี้ยงชีพได้ และเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยม รัฐต้องรับประกันว่าทุกคนจะได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาตามที่ตนเองถนัด ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน


การยกเลิกระบบกู้ยืมเงินตามความจำเป็นมาเป็นให้ทุกคนกู้ได้ไม่จำกัด จะทำให้คนที่มีฐานะทางครอบครัวดีอยู่แล้วสามารถกู้ได้สบายใจ และมั่นใจว่าเมื่อจบแล้วมีงานทำก็ยินดีให้หักเงินเดือนใช้คืนเงินกู้ได้ ขณะที่นักเรียนที่ฐานะยากจนเมื่อเรียนจบมีงานทำ มีรายได้ จะต้องนำไปใช้ในการช่วยเหลือเกื้อกูลครอบครัวและฐานะตนเองมากกว่า จึงทำให้ไม่มั่นใจว่าควรจะกู้หรือไม่ ทำให้การเข้าถึงเงินกู้เป็นไปได้อย่างไม่ทั่วถึง เท่าเทียม


การสร้างหลักประกันการศึกษา ควรเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐดำเนินการเพื่อลดความยากจนของประชาชน และก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษา


หลักประกันเรื่องที่ดินทำกิน การสร้างหลักประกันด้านการเกษตรพอเพียง หลักประกันให้เกษตรกรรายย่อยมีที่ดินทำกิน มีแหล่งน้ำ มีความหลากหลายในพืชพรรณ การดำรงคงไว้ซึ่งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์พื้นเมือง ที่มีความคงทนต่อสภาพอากาศและไม่ต้องพึ่งพาการตัดต่อพันธุกรรม การใช้สารเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้สังคมไทยมีความมั่นคงในเรื่องอาหาร สุขภาพอนามัย นโยบายด้านที่ดินทำกิน เป็นสิ่งพิสูจน์ความจริงใจของทุกรัฐบาลที่ได้เข้ามาบริหารประเทศว่ามุ่งมั่นให้ประชาชนส่วนใหญ่พออยู่พอกิน หรือเอื้อประโยชน์ให้มีการสวมสิทธิในที่ดินทำกิน


หลักประกันในสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องมุ่งเน้นการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่าที่เอื้อต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่ใช้เพื่อสงเคราะห์ซื้อใจประชาชนแต่ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว ถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของมนุษย์ในการมีชีวิตอยู่

พวกเราคนจนมีเงินในมือวันนี้ 3 หมื่น 5 หมื่นบาทจากนโยบายสงเคราะห์ของรัฐ กับการที่จะมีหลักประกันระยะยาวว่า รัฐมีสวัสดิการเรื่องรักษาพยาบาล เรื่องที่ดินทำกิน เรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้รัฐธรรมนูญไทย อันไหนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า


เลือกพรรคที่พูดความจริงทั้งหมด เคารพในศักดิ์ศรีมนุษย์ ไม่มองว่าประชาชนคือผู้รอรับเศษเงินความสงเคราะห์ช่วยเหลือต่าง ๆ น่าจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว


หากไม่มีพรรคไหนน่าสนใจ ก็ไม่จำเป็นต้องเลือก ไปใช้สิทธิ แต่ไม่เลือกใครเลยดีกว่า หากจำนวนคะแนนไม่เลือกใครเลยสูงมากถึงครึ่งหนึ่งของคนมาใช้สิทธิ ควรให้เขตนั้นเลือกตั้งใหม่ หรือให้ชาวบ้านส่งตัวแทนไปเป็น ส.ส. จะดีกว่า