Skip to main content

ตุลาการศาลปกครอง

เมื่อไม่นานมานี้ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด
  
ซึ่งที่ประชุมได้ประชุมลับเพื่อพิจารณาในส่วนของประวัติและความประพฤติในเชิงลึก ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
  
ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งทั้ง ๕ คน เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ดังนี้ 
 
๑. นายเกษม คมสัตย์ธรรม ได้คะแนน ๙๒ ต่อ ๕๓ งดออกเสียง ๑๑ คน
๒. นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ได้คะแนน ๙๓ ต่อ๕๓ เสียง งดออกเสียง๑๐ คน
๓. นายปรีชา ชวลิตธำรง ได้คะแนน ๑๐๘ ต่อ ๔๗ เสียง งดออกเสียง ๙ คน
๔. นายวิชัย ชื่นชมพูนุช ได้คะแนน ๙๗ ต่อ ๕๐ เสียง งดออกเสียง ๑๒ คน
๕. นายวิชัย วิวิตเสวี ได้คะแนน ๙๒ ต่อ ๕๓ เสียง งดออกเสียง ๑๓ คน 
 
ถ้าท่านเห็นคะแนนแล้วสังเกตให้ดี จะเห็นสิ่งที่น่าประหลาดใจมาก เพราะมีคะแนนซึ่งแทบจะเป็นคะแนนเหมือนกันทั้ง ๕ คนที่ไม่เห็นชอบในการแต่งตั้ง ซึ่งมีประมาณ ๕๓ เสียง และไม่ออกเสียง ๑๐ เสียง
  
ซึ่งเป็นสิ่งบอกเหตุการณ์ว่าสามารถบอกให้ไปทางเดียวกันในการลงคะแนน ประมาณ ๖๐ กว่าเสียงในวุฒิสภา
 
เสมือนหนึ่งมีคะแนนจัดตั้ง หรือคะแนนที่อาจสามารถบอกให้ไปในทางไหน
  
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นในวุฒิสภา เพราะวุฒิสภาออกแบบมาให้เป็นอิสระทางการเมือง ไม่ให้เป็นฝ่ายรัฐบาล หรือเป็นฝ่ายค้าน
  
หน้าที่ของวุฒิสภาคือการควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหารคือรัฐบาล และหน้าที่ที่แต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ เช่น กกต. ปปช.
 
ถ้าสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันในวุฒิสภาได้แล้ว นับว่าการตรวจสอบ การแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระจะเป็นหมันทันที และเป็นอันตรายในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร
  
ก็ดีที่คะแนนเห็นชอบมากกว่า คือยังมีความเป็นอิสระถึง เกือบ ๑๐๐ เสียง
 
นี่เป็นการวิเคราะห์การลงคะแนนของบรรดา ส.ว.ให้ท่านได้ทราบ ว่า มีการพยายามคุมอำนาจตรวจสอบของวุฒิสภา ซึ่งถ้าวิเคราะห์จากคะแนน ก็คือสามารถ คุมเสียงได้ ประมาณ ๖๕ เสียง
  
เพราะจากที่ผมฟังประวัติของทั้ง ๕ ท่านในการประชุมลับก็ไม่มีส่วนเสียใดที่ทำให้ที่จะไม่ลงคะแนนเสียงให้
  
แต่การที่ ส.ว.ลงคะแนนไม่เห็นชอบไปในทางไม่เห็นชอบ ถึง ๕๓ เสียง และงดออกเสียง ถึง ๑๐ เสียงนั้น บอกเหตุถึงการสุมหัวทางการเมือง
  
ผมไม่อยากให้การวิเคราะห์ของผมว่าถูกต้อง มิฉะนั้น ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป การลงคะแนนแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระจะมีการสั่งได้เป็นคะแนนถึง ๖๕ เสียงในวุฒิสภา
  
๖๕ เสียงอาจจะเป็นคะแนนที่สามารถไปไหนไปด้วยกัน เสมือนหนึ่งเป็นพรรคการเมืองในวุฒิสภาที่พร้อมจะไปไหนไปด้วยกัน
  
ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่งในปีครึ่งที่เหลือในวุฒิสภา
  
ท่านอาจจะคิดว่าเหลือเวลาไม่มาก แต่ในทางการเมือง วุฒิสภาจะต้องควบคุม ตรวจสอบ และแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระอีกหลายองค์กร เช่น กทช. กสช. และอื่น ๆ อีกมาก
  
ผมได้แต่หวังว่าการวิเคราะห์ของผมในครั้งนี้ว่าวิเคราะห์ผิด