Skip to main content

พลังของเยาวชนเพื่อเยาวชน

คอลัมน์/ชุมชน

องค์การ PATH ได้เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชนทั้งหญิงและชายจำนวน ๒๗ คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากเยาวชนทั้งหมดจำนวน ๔๖๘ คน ที่เข้าร่วมค่ายเยาวชน และดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องในจังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช อุดรธานีและกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมประชุมวางแผนงานเครือข่ายเยาวชนโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจปีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๘ - ๑๙ ธันวาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมเฟริส์ท กรุงเทพฯ


โครงการก้าวย่างฯ ในส่วนงานด้านเยาวชนนี้ มุ่งเน้นเพื่อให้คนหนุ่มสาวสามารถสื่อสารเนื้อหาเรื่องเพศศึกษาและเอชไอวีเอดส์ เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นรับผิดชอบในการดำเนินชีวิตทางเพศของตนเองและผู้อื่น ดังคำขวัญงานเยาวชนก้าวย่างฯ คือ "รุ่นเรา เราเลือก เรารับผิดชอบ" [Our Generation, Our Decision, Our Responsibility]


โดยเนื้อหาจะถูกถ่ายทอดผ่านสื่อที่ "โดนใจ" เพื่อนวัยรุ่นด้วยกัน เช่น การแสดงละคร จัดรายการวิทยุชุมชน พูดเสียงตามสายในโรงเรียน การถ่ายภาพ ทำวารสารรายเดือน หนังสือพิมพ์วัยรุ่น การออกแบบเว็บไซต์และทำสื่อไอทีผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น


บรรยากาศในการประชุมมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ทั้งเรื่อง "ระหว่างทาง" ของการทำงานที่น้อง ๆ รู้สึกว่า ตนเองได้เพื่อนเพิ่มมากขึ้น ได้เรียนรู้เรื่องเพศและเอดส์ที่มีเนื้อหารอบด้านและชัดเจน และได้ฝึกใช้ทักษะการสื่อสารผ่านสื่อต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน น้อง ๆ หลายคนบอกว่า รู้สึกเหนื่อยมาก ๆ เพราะต้องทำงานกันดึกดื่นบ่อยครั้ง จนทำให้ขอบตาดำเป็นหมีแพนด้า แต่ไม่ว่าจะอย่างไร "ทุกคน" ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "รู้สึกภาคภูมิใจ" ที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยทางเพศให้กับเพื่อน ๆ วัยรุ่นด้วยกัน


ในตอนหนึ่ง ระหว่างการหารือผู้ดำเนินการได้ถามน้อง ๆ ว่า เราควรจะทำงานเรื่องเพศศึกษากับเยาวชนกลุ่มไหน เพราะอะไร คำตอบของน้อง ๆ ทำให้ตัวเองอดนึกถึงผู้ใหญ่ (บางคน) ที่ชอบออกมาพูดปาว ๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า เราต้องทำงานกับเด็กกลุ่มเสี่ยง เพื่อหยุดยั้งการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และโรคเอดส์ ซึ่งหากฟังคำตอบของน้อง ๆ แล้วจะทำให้เห็นได้ชัดว่า เป้าหมายของการให้การศึกษาเรื่องเพศศึกษาและเอดส์ มิใช่เพียงพูดเฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์และการป้องกัน เท่านั้น


น้องเปา โรงเรียนทวีธาภิเศก บอกว่า "เยาวชนทุกคนควรจะได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษา เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจและมั่นใจในการใช้ชีวิต เด็กเรียนเก่งอย่างเดียวแต่ไม่มีทักษะชีวิต จึงไม่สามารถเอาตัวรอดได้ เช่น กรณีข่าวหนุ่มวิศวกรคลั่งรัก เป็นต้น"


น้องเป๋อ โรงเรียนท่ายางวิทยา จังหวัดเพชรบุรี ตอบว่า "นอกจากคนที่มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนแล้ว เพื่อน ๆ ที่อยู่ตามชุมชนแออัด หรือเร่ร่อนก็ควรที่จะได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา เพื่อที่เขาจะได้มีชีวิตที่ดีและปลอดภัย"


น้องเมย์ ค่าย ICTeen ตอบว่า "เพศศึกษาเป็นเรื่องการเรียนรู้ชีวิต ดังนั้น ทุกคนจึงควรได้เรียนรู้ ไม่เพียงแต่เฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น"


เป้าหมายของโครงการก้าวย่างในการทำงานกับเยาวชน เพื่อให้เยาวชนได้พัฒนาความสามารถในการคิด การตัดสินใจ การสื่อสารที่จะช่วยให้ดำเนินชีวิตได้อย่างรู้เท่าทันความต้องการของตนเอง สามารถหาทางออกกับแรงกดดัน สิ่งชักจูงใจทั้งจากเพื่อน สิ่งแวดล้อมได้อย่างผู้ที่รู้คิด สามารถรับผิดชอบและมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองเลือก เพราะโลกอนาคตอีก ๒๐ ปีข้างหน้า จะอยู่ภายใต้การดูแลของเยาวชนรุ่นนี้ เมื่อถึงวันนั้น เราผู้ซึ่งอยู่ในวัยชราจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพกับลูกหลานของเรา


ทั้งนี้ ภารกิจในโครงการฯ ปีที่ ๒ ของเยาวชนเหล่านี้มีเพียง ๒ ข้อเท่านั้นเอง (จริง ๆ นะ) คือหนึ่ง สานต่องานเดิม เพิ่มความเข้มข้น และสอง สร้างงานใหม่ ขยายงานเดิม ดังนั้น เมื่อแบ่งกลุ่มกันวางแผนการทำงาน ทุกทีมจึงเห็นตรงกันว่าต้องขยายแนวร่วมไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์ที่ปรึกษาและแหล่งทุนในชุมชน หรือเพื่อนเยาวชนรุ่นน้องที่จะมาทำงานร่วมกัน และสานฝันให้เกิดการรวมพลังของเยาวชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนสืบไป