Skip to main content

ย้ายอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คงต้องย้ายรัฐบาลเองด้วยมั้ง

คอลัมน์/ชุมชน

เหตุผลที่ย้ายอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาว่ารู้ล่วงหน้ามีแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียครั้งนี้แล้วจะมีภัยจากคลื่นยักษ์ด้วย แต่ไม่เตือนให้ (ใคร) รับรู้ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาลในภาคใต้


ลึก ๆ คงรู้สึกเสียหน้าด้วยกับนักท่องเที่ยว (เงินหนา) เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ที่เป็นคนต่างชาติอยู่ในประเทศไทย สำหรับที่อินโดนีเซีย ศรีลังกา และอินเดีย เป็นประชาชนที่อยู่บนเกาะและชายฝั่งของประเทศซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่ถูกโปรโมทให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต พังงา และกระบี่ของไทย น่าจะไม่ใช่ทางแก้ปัญหาทั้งหมด


เพราะหากกรมอุตุฯ ต้องการเตือน จะเตือนใคร และแม้ว่าจะสามารถเตือนผ่านทีวีทุกช่องได้ แน่ใจได้ไหมว่าจะมีการดำเนินการได้ทันท่วงที เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเรื่องนี้ และมีแนวทางแนวปฏิบัติชัดเจนในการเตือนผู้คนริมชายหาดเป็นหมื่น ๆ คน กระจายอยู่ใน 5-6 จังหวัดฝั่งอันดามัน ผู้ว่าฯซีอีโอ ทำหน้าที่นี้ได้ไหม หรือต้องรอให้รัฐมนตรีบินลงไปสั่งการเอง และต้องรัฐมนตรีทุกกระทรวงด้วย ตามที่เห็นความสับสนอลหม่านในการกู้ภัยครั้งนี้ในอาทิตย์กว่า ๆ ที่ผ่านมา


หากจะรับผิดชอบต่อหายนะภัยครั้งนี้ รัฐบาลคงต้องทบทวนตนเองด้วยว่า มีระบบเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติขนาดมโหฬารนี้อย่างไร มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงหรือไม่ มีระบบบรรเทาสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพเพียงใด


จากปรากฏการณ์ซึนามิที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีอาสาสมัครเข้าร่วมบรรเทาทุกข์จำนวนมากมาย ทั้งแรงคน ทั้งการบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง เสื้อผ้า โลงศพ การบริจาคเงิน แต่เท่าที่รับรู้จากชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายครั้งนี้ พบว่าสิ่งของบริจาคไม่ถึงมือ และที่ถึงมือก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่สอดคล้องกับปัญหาเร่งด่วน เช่น ข้าวสาร มาม่า (บริษัทยิ้มแน่ยอดขายเกินเป้าส่งท้ายปี) เพราะไม่มีอุปกรณ์ทำครัว ไม่มีแม้แต่ที่จะพักพิง ได้ทราบมาอีกว่าสิ่งของบริจาคบางอย่างต้องกลายเป็นขยะทับถมให้ภาคใต้ไปด้วย รวมกับนกกระดาษ 120 ล้านตัวก็เป็นภาระหนักเอาการเหมือนกัน


สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นระบบในการจัดการปัญหา การที่รัฐบาลส่งรัฐมนตรีลงไปให้ทำหน้าที่ดูแลคนละจังหวัด รัฐมนตรีกี่กระทรวงจึงจะเหมาะสม รัฐมนตรีก็ไม่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าฯซีอีโอ ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะต้องฟังรัฐมนตรี


คนที่อาสาสมัครไปช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตก็ไม่รู้จะทำงานฟังใคร ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างทำ ขาดแคลนอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จำเป็น ไม่มีระบบ เช่น การขนย้ายผู้บาดเจ็บอย่างไรไม่ให้ได้รับความรุนแรงเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้นหรือทำให้กลายเป็นเสียชีวิต การจัดสรรกำลังคน สลับกันทำงาน การจัดระบบสื่อสารระหว่างกัน การจัดหางบประมาณฉุกเฉินเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการทำงาน การจัดระบบของรับบริจาค


ที่ดู ๆ มาจะเป็นการแข่งกันทำงานเอาหน้าเอาคะแนนกันมากอยู่ และรัฐบาลก็ไม่มีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และควรเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่อำนวยการบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น หน่วยงานนี้ต้องได้รับการฝึกฝนการกู้ภัย การจัดฝึกซ้อมรับภัยพิบัติ และมีกำลังคนกำลังงบประมาณเพียงพอในการจัดเตรียมอุปกรณ์กู้ภัย การสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาศักยภาพองค์กรท้องถิ่นในการวางระบบกู้ภัย


ไม่ว่าเกิดเหตุการณ์ที่ใด หน่วยงานนี้ต้องเป็นหลักในการอำนวยการ หน่วยงานอื่นเป็นผู้ร่วมงาน และทุกคนไม่ว่ารัฐมนตรีหรือใครต้องอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงานนี้ ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันก็มีหน่วยงานนี้อยู่ชื่อว่า กรมหรือหน่วยบรรเทาสาธารณภัย หรืออย่างไรนี่แหละ ที่ไม่แน่ใจเพราะไม่เห็นมีบทบาทในครั้งนี้ ไม่รู้ว่ายังมีอยู่หรือไม่อย่างไร


สำหรับครั้งนี้ คลื่นยักษ์เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องมีการสรุปรวบรวมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนกู้ภัยแห่งชาติต่อไป ครั้งนี้เราสูญเสียผู้คนไปหลายพันคน ได้รับผลกระทบเป็นหมื่น และต้องใช้เวลาเยียวยารักษากันอย่างยาวนาน โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านที่สูญเสียเรือ เครื่องมือประมง กระชัง อุปกรณ์ในการทำมาหากิน สูญเสียความรู้สึกต่อการจากไปของญาติพี่น้อง และหลายคนอาจต้องสูญเสียพื้นที่ทำกิน และที่ดินสำหรับอยู่อาศัย เนื่องจากจะมีการจัดระเบียบการใช้ที่ดินใหม่ คนที่เคยอาศัยในที่ดินสาธารณะอาจไม่ได้กลับไปอยู่ที่เดิม อาจถูกย้าย และได้อยู่ในบ้านที่เหมือนหมู่บ้านจัดสรร คือเหมือน ๆ กันเรียงรายเป็นระเบียบ อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาตามความจำเป็นเหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม การทำมาหากิน ไม่ใช่ย้ายไปอยู่ในที่ทำมาหากินไม่ได้ ก็จะเป็นการสร้างทุกข์ซ้ำซ้อนให้กับประชาชนอีก


การจัดระบบพื้นที่อยากให้สนใจพวกนายทุนที่ทำธุรกิจรุกล้ำชายหาด การจับจองที่ชายหาดขายของ เหล่านี้มากกว่า อย่าหวังแต่รายได้โดยทำลายทัศนียภาพของธรรมชาติ และกลายเป็นชาวบ้านไม่มีที่เดินลงหาดที่ตนเองอยู่มาตั้งแต่เกิด