Skip to main content

มนุษยชนที่ไร้สิทธิกับอำนาจรัฐที่ไร้มนุษยธรรม : กรณีบุกจับชนกลุ่มน้อยที่บ้านปางแดง

คอลัมน์/ชุมชน

















































































มีหลักฐานข้อมูลทางมานุษยวิทยามากมาย ที่บ่งบอกให้รู้ว่าผืนแผ่นดินที่เรียกกันว่าประเทศไทยในปัจจุบันเคยมีและยังคงมีกลุ่มคนหลากหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันมาช้านานแล้ว มีความผูกพันทางเชื้อชาติวัฒนธรรม ตลอดจนประเพณีความเชื่อ มีการหยิบยืม แลกเปลี่ยน และผสมกลมกลืนในทางวัฒนธรรม จนอาจกล่าวได้ว่าในทางวัฒนธรรมแล้วกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายในประเทศไทยเปรียบเสมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน

 

แต่เมื่อรัฐชาติสมัยใหม่ ที่ต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ถูกสถาปนาขึ้นเหนือดินแดนสยามประเทศ ความหลากหลายก็กลายเป็นสิ่งต้องห้าม จินตนาการความเป็นไทยอันคับแคบได้เบียดขับ ผลักไสกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้ออกไปอยู่ตรงชายขอบ

 

ชายขอบในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงชายขอบในทางภูมิศาสตร์ แต่คำว่าชายขอบนั้นบ่งถึง สภาวะของการไร้อำนาจต่อรอง การไร้สิทธิ ไร้เสียง การเข้าไม่ถึงศูนย์กลาง รวมไปถึงการไม่มีสิทธิแม้แต่กระทั่งจะดูแลวิถีชีวิตของตนเอง ไม่มีสิทธิที่จะเป็นมนุษยชนเสียด้วยซ้ำไป

 

กลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบหลายกลุ่มที่บ้านปางแดงนอก ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติการบุกจับอย่างอุกอาจ และไร้มนุษยธรรมอย่างที่สุด เป็นกรณีล่าสุดที่จะชี้ให้เห็นถึงชุมชนในจินตนาการอันคับแคบของความเป็นชาติไทย อีกทั้งยังจะชี้ให้เห็นถึงนโยบาย วิธีคิด อคติ ความลำเอียง และการเลือกปฏิบัติของรัฐไทยซึ่งไม่เคยคำนึงถึงมิติทางด้านวัฒนธรรมหากแต่คำนึงถึงแต่ด้านการเมืองการปกครองเป็นสำคัญ

 

เมื่อเช้าตรู่ของวันหนึ่งปลายเดือนกรกฎาคม 2547 เจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงานพร้อมอาวุธสงครามตรึงกำลังเข้าล้อมหมู่บ้านปางแดงนอก จับกุมชาวเขาเผ่าลาหู่ ปะหล่อง ลีซอ และคนพื้นราบ รวม 48 คน เป็นชาย 34 คน และหญิง 14 คน และในการนี้ทางเจ้าหน้าที่รัฐได้นำรถสำหรับขังนักโทษมาพร้อมด้วย

 

เจ้าหน้าที่รัฐชุดที่ว่านี้ประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเชียงดาว, เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังผาเมือง, ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงดาว, เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน 355 กำกับ ตชด.33 เจ้าหน้าที่ป่าไม้สังกัดสำนักบริหารจัดการในเขตป่าอนุรักษ์ 16, เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการศูนย์ป้องกันรักษาป่าที่ 6 เชียงใหม่, เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการที่ 1 ลำพูน, เจ้าหน้าที่หน่วยประสานป้องกันรักษาป่า (นปป.ประจำเชียงใหม่ที่ 1 ), เจ้าหน้าที่ตำรวจป่าไม้ประจำจังหวัดเชียงใหม่, เจ้าหน้าที่สายตรวจเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทรัพยากรป่า ไม้สายที่ 1 (ภาคเหนือ)

 

สิ่งที่น่าละอายและน่าสังเวชสำหรับการกระทำในครั้งนี้มีอยู่หลายประการด้วยกัน

 

ประการแรก เจ้าหน้าที่รัฐหลอกชาวเขาเพื่อให้ชาวเขาขึ้นรถว่าจะพาไปอำเภอเพื่อรับแจกผ้าห่ม เจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็อ้างว่าจะพาไปอบรมที่โรงเรียนแล้วจะพากลับมาส่งที่บ้าน แต่แล้วก็จับเข้าไปยัดคุกในข้อหาอันเก่าแก่ที่ว่าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว

 

ประการที่สอง การใช้เจ้าหน้าที่จากหลาย ๆ หน่วยงานและนำกำลังอาวุธติดตัวราวกับไปทำสงครามนั้นได้แสดงให้เห็นความป่าเถื่อนสิ้นคิดของอำนาจรัฐ อันที่จริงเราผ่านพ้นยุคแห่งอนารยชน ( barbarism ) มานานหลายปีแล้ว แต่การกระทำครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าวิธีคิดแบบป่าเถื่อนยังคงดำรงอยู่ แม้ว่าจะอยู่ในยุคสมัยแห่งอารยธรรมแล้วก็ตาม

 

มีวิธีละมุนละม่อมตั้งมากมายที่สามารถเลือกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาและแก้ไขความขัดแย้งต่าง ๆ แต่ดูเหมือนว่ารัฐไทยยังคงไม่คิดใหม่ทำใหม่ ยังคิดแบบเก่า และทำอะไรแบบเดิม ๆ

 

อาทิ กล่าวหาชาวเขาแห่งบ้านปางแดงว่า " ชาวบ้านบุกรุกถางป่าเพื่อขายที่ให้นายทุน " ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริงตัวปัญหาน่าจะเป็นนายทุนไม่ใช่ชาวบ้านหรือชาวเขา และการที่เจ้าหน้าที่รัฐบุกจับชนกลุ่มน้อยจึงเป็นการแก้ปัญหาอย่างมักง่ายที่ปลายเหตุ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความหละหลวม และไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของรัฐเอง

 

อีกทั้งในกรณีนี้เห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายได้กลายเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการปกครอง และกดขี่ผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไร้อำนาจต่อรอง

 

อย่างไรก็ตาม ในบางลักษณะอำนาจรัฐกลับยอมรับการดำรงอยู่ของชนกลุ่มน้อย เช่น ให้เข้าเรียนในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ, ส่งเสริมฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนนำมาโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยว และถ้าว่าไปแล้ว การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไปชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยนำเงินเข้าประเทศในแต่ละปีได้ไม่น้อย ดังนั้นในทางหนึ่งรัฐเองก็สนับสนุนการดำรงอยู่ของคนกลุ่มน้อยและหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าของรัฐ แต่ในอีกทางหนึ่งกลับเสือกไสไล่ส่งราวกับชนกลุ่มน้อยแห่งบ้านปางแดงไม่ได้เป็นมนุษย์

 

กลุ่มคนที่ถูกจับถูกบังคับให้พิมพ์ลายนิ้วมือ จากนั้นจึงถูกนำไปขังไว้ในห้องขังของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงดาว และไม่สามารถที่จะประกันตัวออกมาได้เนื่องจากไม่มีเงิน

 

อันที่จริง ก่อนหน้านี้ชนกลุ่มน้อยแห่งบ้านปางแดงเคยถูกจับมาแล้ว ครั้งแรกเมื่อปี 2532 โดยใช้ข้อหาเดิม ๆ คือบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และถูกจับเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2541 ในข้อหาเดิม และการบุกจับกุมในครั้งนี้ก็นับได้ว่าเป็นครั้งที่ 3

 

การบุกจับกุมถึง 3 ครั้งของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในข้อหาเดิม ๆ นั้นสะท้อนให้เห็นอย่างดีว่ารัฐไทยไม่เคยเรียนรู้วิธีที่จะแก้ไขปัญหาโดยใช้ปัญญาความคิดได้ ยังนิยมใช้กำลัง ความรุนแรง ในการจัดการกับปัญหาซึ่งแน่นอนว่าการใช้กำลังความรุนแรงในครั้งแรกจะนำไปสู่การใช้กำลังความรุนแรงในครั้งต่อ ๆ มา เพราะว่าการใช้กำลังความรุนแรงไม่สามารถขจัดต้นตอรากเหง้าของปัญหาได้นั่นเอง

 

ชนกลุ่มน้อยแห่งบ้านปางแดงเมื่อถูกจับกุมคุมขังมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็มีชีวิตอยู่อย่างหวาดผวามาโดยตลอดเพราะกลัวว่าจะจับกุมอีก แล้วก็ถูกจับกุมอีกจริง ๆ วันที่ถูกจับกุมนั้นผู้แก่ผู้เฒ่าหลายคนน้ำตาคลอด้วยความเจ็บปวด เด็กและผู้หญิงร้องสะอึกสะอื้น

 

แต่อำนาจรัฐไม่ไยดีต่อเสียงกรีดตระหนกและหยาดน้ำตาของคนเล็กคนน้อย ป่วยการและเสียเวลาเปล่าที่จะร้องหามนุษยธรรม ความเมตตาปราณีจากรัฐ เพราะไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่ในรัฐ ซึ่งก็พลอยทำให้ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐเหี้ยมเกรียม เฉยชาต่อความทุกข์ร้อนของคนอื่นไปด้วย

 

ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมใดก็ตาม มนุษย์ควรมีและจำเป็นต้องมีความเป็นอยู่ที่เหมาะควรแก่การเป็นมนุษย์ แม้ว่าจะไม่ได้สังกัดเป็นพลเมืองของประเทศหนึ่งประเทศใดก็ตาม อย่างน้อยที่สุดก็มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินเทียบเท่ากันกับผู้อื่น

 

มีหลักฐานมากมาย ที่จะยืนยันว่าคนกลุ่มน้อยแห่งบ้านปางแดงอาศัยอยู่ในเขตแดนของประเทศไทยมากกว่า 15 ปีแล้ว (ซึ่งหมายความว่าน่าจะได้บัตรประชาชนแล้ว) แต่ข้อเท็จจริงที่ว่านี้กลับถูกมองข้าม มองข้ามเพื่อจะได้ใช้อำนาจรัฐในการเลือกปฏิบัติ และเจ้าหน้าที่รัฐก็เลือกปฏิบัติได้อย่างน่าชมเชย