Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ หลักประกันสำหรับทุกคน

คอลัมน์/ชุมชน

นับเป็นเวลา 2 ปีเต็ม ๆ ที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผลบังคับใช้ หลักใหญ่ใจความของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ รัฐดำเนินการรับประกันให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาฟรี เพียงจ่ายค่าธรรมเนียมบ้างตามที่กำหนด นั่นคือ 30 บาทในแต่ละครั้งที่ไปรับบริการ แต่ก็มียกเว้นสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีและผู้สูงอายุที่เกิน 60 ปีไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใด ๆ ตลอดรวมถึงคนมีฐานะยากลำบาก อาสาสมัครสาธารณสุข ทหารผ่านศึก ผู้พิการ ทหารพราน ที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมเช่นกัน


ทั้งนี้ เนื่องจากในพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มีการตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการรักษาประชาชนของโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมให้บริการ และรับเงินค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ


ระหว่างนี้เป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สส. ทุกพรรคก็ขึ้นป้ายว่าจะดำเนินการรักษาฟรี เป็นคำพูดง่าย ๆ แต่ไม่รู้ว่ารายละเอียดเป็นเช่นไร ดิฉันเองไม่ค่อยแน่ใจพรรคประชาธิปัตย์มากนัก ถึงแม้จะมีสมาชิกพรรคหัวก้าวหน้าที่เข้าใจเรื่องระบบประกัน แต่มีแนวโน้มว่าจะดำเนินการสำหรับคนจน คนยากไร้ คนด้อยโอกาสเป็นหลัก ซึ่งขัดหลักการว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย


ส่วนพรรคมหาชน นั้นไม่มีประสบการณ์มาก่อน และไม่มีโอกาสซักถามว่ารายละเอียดที่จะดำเนินนโยบายรักษาฟรีคืออะไร ที่มีรายละเอียดมากที่สุดคือ พรรคไทยรักไทย เพราะได้มีโอกาสดำเนินการมา 4 ปีเต็ม ๆ กับนโยบาย 30 บาท แต่ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมวิจัยของสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยมีท่านศาสตราจารย์อัมมาร์ สยามวาลา เป็นประธานทีมวิจัย ได้ออกมาสรุปผลที่เกิดขึ้นของการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพที่ผสมผสานกันระหว่างนโยบายและการออกเป็น พ.ร.บ.


ปัญหาที่ประชาชนประสบคือคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของหน่วยพยาบาลต่าง ๆ ทั้งนี้ ทีมวิจัยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะการจัดสรรงบประมาณต่ำเกินจริง ทำให้เกิดการให้บริการที่จำกัดจำเขี่ย หากให้การบริการมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ควรเพิ่มงบประมาณอีกราวสามหมื่นล้านต่อปี จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่มีสิทธิคือประมาณ 48-49 ล้านคน และดูจากการจัดเก็บภาษีของรัฐทั้งทางตรงทางอ้อมที่มีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับการแสดงให้เห็นว่ามีความเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีรายได้ประชาชาติโดยรวมสูงขึ้น รัฐก็น่าจะเพิ่มงบประมาณได้ไม่ยากลำบากนัก เพื่อให้เป็นหลักประกันว่ารัฐเอาจริงต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน


ไม่ต้องดูอื่นไกลไป จากการเก็บภาษีเหล้า เบียร์ บุหรี ปี ๆ หนึ่งได้เป็นแสนล้าน ตัดให้กองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังมีเหลืออีกมากที่สามารถนำมาสนับสนุนกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในการดำเนินการสร้างระบบบริการที่มีคุณภาพให้ประชาชน


ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นเช่นไร ก็หวังว่ารัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการให้บริการดูแลรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้พอเพียง การสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรด้านการแพทย์การพยาบาลการสาธารณสุข ทำให้คนเหล่านี้มีรายได้ที่เหมาะสมกับงานหนักที่ต้องรับผิดชอบ การมีนโยบายเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนา สนับสนุนทุนให้เยาวชนท้องถิ่นได้เรียนแพทย์ พยาบาล โดยมีเงื่อนไข มีตำแหน่งงานให้กลับไปทำงานที่บ้าน


ทั้งนี้ ต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการผลิตแพทย์ พยาบาล ที่เอื้อต่อเด็กชนบทได้เรียน การให้ความสำคัญต่อการเข้าใจวิถีชีวิตของประชาชน ความเจ็บป่วยในระดับชุมชน การรักษาทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นทิศทางการดูแลรักษาที่เป็นองค์รวม หากมุ่งเน้นว่าการเรียนแพทย์ต้องการแต่เด็กเก่ง เด็กอัจฉริยะเท่านั้น ก็จะเป็นการกีดกัดเด็กธรรมดา ๆ จากชนบท ที่สติปัญญาปานกลาง แต่มีจิตใจที่พร้อมจะทำงานกับชุมชนท้องถิ่นได้


เส้นทางในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของไทยยังอีกยาวไกล แต่ก็มีความหวัง ที่ได้มีการเริ่มต้น ไม่ว่าพรรคใดจะเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง ก็ควรจะได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ดำเนินการต่อและพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งนี้ บนหลักการว่านี่เป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ทุกคนต้องเข้าถึงบริการดูแลรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นบริการที่รัฐจัดให้ โดยไม่ต้องมีการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมมากไปกว่านี้ แต่ควรจัดสรรงบประมาณที่เก็บจากภาษีโดยเฉพาะภาษีเหล้า บุหรี่ มาดำเนินการอย่างพอเพียง และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรประชาชน องค์กรท้องถิ่น ในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้เติบโต ก้าวหน้า อย่างยั่งยืนต่อไป


หวังว่าจะไปเลือกตั้งกันนะคะ อย่าลืมว่าหากไม่ไปเลือกตั้ง ท่านจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง เช่น ไม่มีสิทธิเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย หรือเพื่อถอดถอน สส. สว. ได้นะคะ ไปเลือกคนและพรรค เพื่อสร้างสมดุลทางการเมืองให้ทุกคน


และขอเชิญชวน ประชาชนผู้สนใจไปร่วมงาน รวมพลังประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ ไปร่วมแสดงความเห็น เพื่อเสนอต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ ในวันที่ 25-26 มกราคม 2548 ที่ห้องคอนเวนชั่น อิมแพค เมืองทองธานี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ค่ะ มีนิทรรศการและการจัดการแสดงของเครือข่ายประชาชนต่าง ๆ ลองไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ค่ะ ตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงหนึ่งทุ่มค่ะ