Skip to main content

สิ่งที่ประชาชนต้องได้รับเรื่องหลักประกัน

คอลัมน์/ชุมชน

อาทิตย์นี้ ระหว่างวันที่ 29-30 ม.ค. และอาทิตย์หน้า 6 ก.พ. 2548 เป็นวันที่ประชาชนต้องไปเลือกตั้งผู้แทนเพื่อให้ทำหน้าที่ในการกำหนดกฎหมายสำหรับคุ้มครองสิทธิประชาชน และเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดี มีกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน รวมทั้ง สส.มีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่บริหาร และการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนั้น ๆ


ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ในการเลือกตั้ง หากไม่ไปใช้สิทธิ ก็จะส่งผลต่อการไม่มีสิทธิในการร่วมเข้าชื่อ (ห้าหมื่นชื่อ) เพื่อเสนอกฎหมาย หรือเพื่อถอดถอน สส. สว. ดังนั้น จึงต้องไปเลือกตั้ง แต่จะเลือกใคร พรรคใด ก็พิจารณากันตามความชอบและดูจากนโยบายที่เอื้อต่อประชาชน โดยเฉพาะเรื่องหลักประกันทางสังคมสำหรับคนทุกคนในสังคมไทย


เช่นกัน อาทิตย์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค.2548 ได้มีเครือข่ายประชาชนต่าง ๆ เข้าร่วมงาน "หลอมรวมเครือข่าย หลากหลายเพื่อหนึ่งเดียว : รวมพลังสร้างสรรค์หลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน" เนื่องจากประชาชนเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นกลไกที่จะช่วยพัฒนาให้ระบบมีคุณภาพ มาตรฐาน สำหรับทุกคน


อย่างไรก็ดี การดำเนินการเรื่องหลักประกันสุขภาพโดยรัฐบาลที่มีนายกทักษิณเป็นหัวหน้า และมีรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียวตลอดสี่ปี ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกระทรวงสาธารณสุข โดยเราทราบว่าเพื่อดำเนินการโครงการ 30 บาทให้ลุล่วงตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้


แต่ตลอด 4 ปีของโครงการ 30 บาท ก็ประสบกับปัญหามากมาย ทั้งเรื่องการไม่ครอบคลุมประชาชนทุกคน ยังตกหล่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนไร้บัตรประชาชนแต่เกิดและอยู่ในประเทศไทย เหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ยากไร้ที่สุดแต่ก็ไม่อาจเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้


การกีดกันผู้ป่วยบางประเภทออกไปจากระบบเพราะกลัวจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพล้มเหลว คือกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ต้องการการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ตลอดจนปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานบริการ ที่ผู้ให้บริการในระดับต่าง ๆ ดำเนินการกันอย่างไม่ตระหนักว่านี่เป็นสิทธิของประชาชน แต่ยังทำเหมือนกับว่าประชาชนมา "ขอทาน" การรักษา มีการเรียกเก็บเงินเพิ่ม มีการจัดทำบัญชียาในโรงพยาบาลที่แตกต่างกัน การหลีกเลี่ยงการให้บริการกรณีฉุกเฉิน อุบัติเหตุ เพราะกลัวจะไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ เพราะโรงพยาบาลกลัวตัวเองล้มละลาย (ทั้งที่รัฐบาลจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการให้ทุกเดือนอยู่แล้ว)


ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ได้ใน 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังควบคุมจำนวนงบประมาณในการดำเนินโครงการนี้ ให้แบบจำกัดจำเขี่ย คุณภาพที่ได้จึงยังไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า ประชาชนได้รับหลักประกันด้านสุขภาพอย่างแท้จริง


ดังนั้น เครือข่ายประชาชนต่าง ๆ จึงได้ออกคำประกาศเจตนารมณ์ และข้อเสนอแนะทางนโยบาย แก่รัฐบาลชุดต่อไป ว่าควรพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพต่อไปอย่างไร (ดูคำประกาศในไฟล์ประกอบ) เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่นี่เป็นเพียงเรื่องเดียวในบรรดาหลักประกันทางสังคมอื่นๆ


รัฐบาลชุดใหม่ควรมีการดำเนินการสร้างหลักประกันทางสังคมอื่น ๆ ที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยยืนอยู่บนหลักการสำคัญว่า นี่คือสิทธิของประชาชนทุกคนภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยยึดมั่นในหลักการ "เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข" นั่นคือ เป็นสวัสดิการสำหรับทุกคน ไม่ว่าจนหรือรวย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดใด การจัดงบประมาณที่เป็นภาษีของทุกคน (คนจนจ่ายภาษีทางอ้อมมากที่สุด) อย่างเป็นธรรม ให้ทุกคนมีสวัสดิการ


การรับประกันว่าทุกคนได้รับการศึกษาโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ เช่น ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บนอกเหนือจากค่าเทอมที่รัฐจ่ายแล้ว เพราะทำให้เด็กหลายคนเข้าไม่ถึงการศึกษา ยังไม่มีหลักประกันว่าทุกคนจะได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะคนจน การรับประกันว่าทุกคนเมื่อยามชราได้รับการดูแลเลี้ยงดูอย่างดี มีบ้านพัก มีบริการสุขภาพ มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีพของคนชรา


เหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการอย่างทันท่วงที เป็นการดำเนินการจัดการทั้งระบบ ไม่ใช่การสงเคราะห์ช่วยเหลือเฉพาะผู้ยากไร้ ยากจน แต่เป็นการดำเนินการสร้างหลักประกันให้ทุกคนในสังคมตามสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงมีพึงได้ของประชาชน


ลือกพรรคที่จริงใจในการทำงาน และไม่ดูถูกคนจน เลือกพรรคที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน พรรคที่พร้อมจะดำเนินการเรื่องการกระจายอำนาจ ลองช่วยกันค้นหาพรรคและคนที่เหมาะสมด้วยกันนะคะ ขอให้ไปใช้สิทธิออกเสียงกันทุกคน ค่ะ