Skip to main content

การครอบการเมืองระดับชาติลงบนท้องถิ่น

คอลัมน์/ชุมชน















































































การจำลองแนวคิดและรูปแบบของการเมืองระดับประเทศ ซึ่งเป็นการเมืองแบบตัวแทนในระบบรัฐสภามาใช้กับชุมชนเล็ก ๆ อย่างหมู่บ้านไม่ได้ช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระดับรากหญ้า ทั้งยังไม่ได้ช่วยให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ที่จะปกครองตนเองเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามมันกลับนำความล้มเหลวที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นในเวทีการเมืองระดับชาติ และยังคงเกิดขึ้นอยู่มาวางไว้ที่หมู่บ้าน

 

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (สมาชิก อบต.) และเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (เลือกฝ่ายบริหาร) ผ่านพ้นไปไม่นานนัก ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเดินทางไปยังหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด และพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมากมายทั้งปัญหาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง(การไม่เข้าใจกฎกติกาในการเลือกตั้ง) และปัญหาความแตกแยกขัดแย้งของคนชุมชนซึ่งลงสมัครแข่งขันกัน

 

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าถึงที่สุดแล้วปัญหาที่แท้จริงน่าจะเกิดมาจากการนำการเมืองระดับชาติ (ซึ่งตระหนักกันดีในปัจจุบันว่าไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้) มาใช้ในชุมชนหมู่บ้านโดยไม่คำนึงถึงสภาพความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่นั่นเอง

 

การนำรูปแบบวิธีการของการเมืองแบบตัวแทนในระบบรัฐสภา มาใช้ในระดับหมู่บ้านเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนัก อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนระเบียบวิธีอยู่เรื่อย ๆ เมื่อมันเป็นของใหม่ก็ย่อมธรรมดาอยู่เองที่ชาวบ้านจะยังไม่คุ้นเคยเข้าใจกับระบบการเลือกตั้งที่เป็นอยู่นี้

 

ความผิดพลาดอันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจจึงสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เป็นต้นว่า การเปิดหีบนับคะแนนกันก่อน ความสับสนและกาบัตรผิดระหว่างการเลือกสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล กับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเลือกพร้อมกัน ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญก็คือนอกจากความไม่เข้าใจในกฎเกณฑ์กติกาใหม่ที่ส่วนกลางสร้างขึ้นแล้ว กติกาอย่างใหม่ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเมืองแบบตัวแทนที่จำลองมาจากระบบการเมืองของส่วนกลางยังส่งผลที่คาดไม่ถึงต่อชาวบ้านในหลาย ๆ ทางด้วยกัน

 

ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า


" การเลือกตั้งแบบนี้ไม่ดี ทำให้คนขาดความสามัคคีกัน เลือกตั้งทีหนึ่งก็ขัดแย้งกันทีหนึ่ง ทำให้แตกแยก ไม่ถูกกัน คนเคยอยู่กันดี ๆ พอเลือกตั้งก็กลับไม่ชอบหน้ากัน พอนาน ๆ ไปก็ไม่มีใครเคลียร์ความขัดแย้งได้ และก็อยู่กันอย่างนี้ไปตลอด ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยมีอำนาจหน้าที่ในหมู่บ้านก็ถูกแทนที่โดยผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งบางทีชาวบ้านก็ไม่ค่อยชอบเพราะได้รับเลือกโดยการซื้อเสียงเข้ามา "

 
ผู้สมัครรับเลือกตั้งในทีมของนายกองค์กรบริหารส่วนตำบลคนหนึ่งก็บอกว่า

" (การเมืองแบบนี้) มันทำให้ท้องถิ่นระอุ เพราะมีผลประโยชน์มาก ทั้งมีการเมืองระดับชาติมาคอยหนุนหลัง การเมืองในระดับท้องถิ่นกลายเป็นฐานเสียงให้กับการเมืองระดับชาติ "

 

จะเห็นได้ว่าความยุ่งยากและปัญหาต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ในหมู่บ้านได้ถูกเคลื่อนย้ายถ่ายโอนมาจากส่วนกลาง และดูเหมือนว ่ามันจะเลียนแบบประเด็นปัญหาในทางรัฐศาสตร์ของการเมืองแบบรัฐสภาที่นักรัฐศาสตร์พร่ำบ่นกันมานานนับสิบปี อย่างเช่น เรื่องการซื้อเสียง ฯลฯ

 

แต่จุดใหญ่ใจความอยู่ตรงที่ว่ามันไม่เป็นเพียงปัญหาทางรัฐศาสตร์เท่านั้น การครอบการเมืองระดับชาติลงบนท้องถิ่นยังครอบคลุมไปถึงปัญหาทางวัฒนธรรมอีกด้วย

 

วัฒนธรรมหมู่บ้านเป็นวัฒนธรรมย่อย ( sub culture ) ในกรอบโครงใหญ่ของวัฒนธรรมระดับชาติ กระนั้นก็ตามวัฒนธรรมชุมชนหมู่บ้านในแต่ละถิ่นที่ต่างก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง อาทิ วัฒนธรรมของชาวมุสลิม วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย ฯลฯ

 

สิ่งที่ติดมากับระบบการเมืองแบบรัฐสภาซึ่งนำมาใช้ในหมู่บ้าน มีทั้งค่านิยม (ของคนชั้นกลาง) อุดมการณ์ และวิธีคิด ซึ่งในบางลักษณะเข้ากันไม่ได้กับวัฒนธรรมหมู่บ้าน เป็นต้นว่า วิธีการขึ้นสู่อำนาจของการเมืองแบบระบบรัฐสภาเป็นรูปแบบวิธีที่เน้นการแข่งขันกันตามกติกาทางกฎหมาย (ซึ่งมีความหละหลวมอยู่มาก) มากกว่าวิธีการเห็นพ้องต้องกันของคนในชุมชนซึ่งบางครั้งก็เป็นเครือญาติกันทั้งนั้น หรือการบังคับใช้อำนาจในชุมชนเป็นไปตามกฎระเบียบมากกว่าการต่อรองตกลงกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

 

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การเมืองแบบรัฐสภาที่เป็นอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันเป็นการเมืองของระบอบทุนนิยมหรืออย่างน้อยก็เอื้ออำนวยต่อระบอบทุนนิยม ซึ่งเน้นการแข่งขันกันบริโภค การนำมาใช้กับชุมชนหมู่บ้านจึงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการกระตุ้นเร้าให้ชุมชนหมู่บ้านเข้าสู่ระบบทุนนิยมให้เร็วยิ่งขึ้น แทนที่มันจะให้โอกาสในการเป็นทางเลือกในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างออกไป

 

นอกจากนี้แล้ว หลักการกระจายอำนาจที่ต้องการให้ประชาชนปกครองตนเองหรือมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการชีวิตของตนเอง กลายเป็นเพียงหลักการลอย ๆ บนหน้ากระดาษ หรือเป็นเพียงนโยบายขายฝันของนักการเมืองที่ไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

 

เพราะการณ์กลับกลายเป็นว่า องค์การบริหารส่วนตำบลเองก็กลายเป็นตัวแทนของรัฐราชการ เช่นเดียวกับตำแหน่งกำนัน ผ ู ้ใหญ่บ้านมากกว่าที่จะเป็นตัวแทนและปากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง การกระจายอำนาจจึงหมายถึงการกระจายอำนาจของรัฐเข้าไปปกครองควบคุมชีวิตของชุมชน ชีวิตของปัจเจกชนอย่างลึกซึ้งขึ้นนั่นเอง

 

มีความน่ากลัวที่มองไม่เห็นมากมายที่หลั่งทะลักเข้ามาสู่ชุมชนหมู่บ้าน (และหมู่บ้านก็ไม่อาจอยู่ได้โดยการปิดตัวเองไม่ติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก) นอกจากความเจริญทางวัตถุที่ไม่อาจยับยั้งได้แล้ว สิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องดีอย่างระบบการเมืองที่โดยหลักการแล้วเอื้อให้ชุมชนปกครองตัวเอง กลับเร้นแฝงไปด้วยสิ่งอื่น ๆ ที่มากกว่าไปกว่าเรื่องของการเมือง มีบทเรียนและปัญหามากมายจากการเมืองในระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นการเลือกตัวแทนประชาชนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ด้านต่าง ๆ แทนประชาชน เป็นต้นว่า ปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นของฝ่ายบริหารซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้หรือยากแก่การตรวจสอบ การไม่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงสะท้อนปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง การซื้อเสียง ฯลฯ

 

แต่ดูเหมือนว่าบทเรียนเหล่านี้จะไม่ได้รับการพิจารณาและให้ความสำคัญกันเท่าที่ควร เพราะมันมีแนวโน้มว่าบทเรียนเหล่านี้กำลังจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะการนำระบบการเมืองระดับชาติมาใช้กับหมู่บ้าน ในแง่หนึ่ง คือการไม่ตระหนักถึงความล้มเหลวของการเมืองแบบตัวแทนหรือการเมืองแบบรัฐสภา มันคือการจำลองความล้มเหลวของการเมืองระดับชาติมาไว้ที่หมู่บ้าน ความบกพร่องต่าง ๆ ท ี่เคยเกิดขึ้นในเวทีระดับชาติก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำอีกในระดับท้องถิ่น และโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์มันยังอาจทำลายความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของชุมชนลงได้เช่นกัน

 

นับเป็นผิดพลาดโดยแท้จริงที่นำการเมืองระดับชาติ หรือการเมืองที่เป็นทางการมาครอบลงบนการเมืองในระดับท้องถิ่น โดยไม่ตระหนักถึงว่าแท้ที่จริงแล้วชาวบ้านมีระบบการเมืองของเขาเองอยู่แล้ว เป็นระบบการเมืองแบบจารีต หรือการเมืองในแบบของชาวบ้านที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับการเมืองของคนเมืองหรือการเมืองที่ลอกเลียนมาจากตะวันตกแต่อย่างใด