Skip to main content

ความรุ่มรวยทางภาษาของขบวนการเดือนตุลา

คอลัมน์/ชุมชน









































































คุณูปการและผลพวงที่ปฏิเสธไม่ได้ประการหนึ่งของขบวนการที่นับเนื่องจากการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 นั่นก็คือการมีภาษาและศัพท์แสงทางการเมืองแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามากมายอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเสียจนแทบไม่น่าเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลง (ทางการเมือง) ในครั้งหนึ่ง ๆ จะส่งผลและอาศัยปฏิบัติการทางด้านภาษามากมายถึงขนาดนี้

 

ภาษาเหล่านี้หลาย ๆ คำกลายเป็นมรดกที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน และใช้กันอย่างเป็นปกติธรรมดาโดยที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่เฉลียวใจเลยว่าครั้งหนึ่งมันเคยเป็นถ้อยวาทะของฝ่ายซ้ายมาก่อน เช่นคำว่า " อัตวิสัย " " แกนนำ " " จุดยืน " " โลกทัศน์-ชีวทัศน์ " เป็นต้น

 

ศัพท์แสงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลังการปฏิวัติตุลาคม 2516 มีทั้งศัพท์ที่แปลและแปลงมาจากภาษาต่างประเทศ ศัพท์ที่บัญญัติขึ้นใหม่ และศัพท์เก่าที่ถูกนำให้ความหมายใหม่เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ทางการเมืองของฝ่ายซ้าย

 

ภาษาเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อบรรยายถึงสภาพการณ์อันเลวร้ายต่าง ๆ ของสังคมการเมืองไทยในขณะนั้นและโน้มน้าวเร้าอารมณ์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังใช้อธิบายถึงแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองของขบวนการฝ่ายซ้ายอีกด้วย และนอกจากจะใช้ศัพท์แสงเพื่อเป้าหมายในการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามแล้ว ฝ่ายซ้ายด้วยกันยังใช้โจมตีกันเองอย่างดุเดือดด้วย

 

สำหรับ " ภาษา " ทางการเมืองใหม่ ๆ ที่ใช้สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์สังคมซึ่งเต็มไปด้วยการกดขี่และความ อยุติธรรม ซึ่งเป็นมาตลอดประวัติศาสตร์ไทยนับตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ที่ถูกเปิดเผยออกมาหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม 2516 โดยกรอบคิดของมาร์กซิสต์นั้นได้แสดงให้เห็นถึงเนื้อหาใหม่และการตีความใหม่ของประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนเพื่อรับใช้ชนชั้นนำมาโดยตลอด

 

ภาษาแปลก ๆ ใหม่ ๆ อันไม่ค่อยคุ้นหูสาธารณชนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดเสรีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หลังจากมหาชนแสดงพลังร่วมกันขับไล่จอมเผด็จการทหาร และทายาททางการเมืองออกจากตำแหน่งได้สำเร็จ และทำให้การเมืองการปกครองไทยใน " ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข " รุดหน้าไปอย่างก้าวกระโดด

 

สำหรับการเมืองไทยสมัยใหม่อาจจะไม่มีช่วงเวลาไหนอีกแล้วที่การแสดงออกทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นของปัญญาชนและประชาชนจะมีชีวิตชีวา และความกระตือรือร้นทางการเมืองจะสูงสุดเท่ากับในช่วงหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม 2516 (จนกระทั่งถึง 6 ตุลาคม 2519)

 

ในยุคที่สิทธิและเสรีภาพเบ่งบานราวกับดอกไม้ได้รับแสงอาทิตย์ยามเช้านี้ กล่าวได้ว่าค่านิยมและแบบแผนเก่า ๆ ในแทบทุก ๆ ด้านที่เคยเป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจหรือชนชั้นที่ขูดรีด ถูก " ภาษา " ของขบวนการฝ่ายซ้ายถอด รื้อ ( deconstruct ) ออกหมดแล้วให้คำนิยามเสียใหม่ หรือสอดใส่ค่านิยมแบบใหม่เข้าไปเพื่อให้รับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และบรรยากาศ แห่งสิทธิ เสรีภาพ

 

อีกทั้งขบวนการของฝ่ายซ้ายได้มีความพยายามที่จะนิยามคำว่า " การเมือง " เสียใหม่ จากเดิมที่คำว่า " การเมือง " เป็นเรื่องที่ชั่วร้ายไม่ควรเข้าไป เกี่ ่ยวข้องให้กลายเป็นการเมืองที่ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเพราะการปล่อยให้ " การเมือง " เป็นเรื่องของชนชั้นนำ รังแต่จะทำให้ประชาชนตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ร่ำไป

 

บรรยากาศที่เปิดกว้างหลัง 14 ตุลา 2516 นี่เองที่นักคิดนักเขียนสามารถแสดงออกถึงความคิด จินตนาการ ความใฝ่ฝันทางการเมืองออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะนวนิยาย สารคดี งานแปล และงานวิชาการได้อย่างไม่ต้องหวาดกลัว มีพื้นที่สาธารณะที่รองรับการแสดงออกที่ว่านี้ และได้รับการตอบรับจากสังคมค่อนข้างมาก

 

นอกจากกลุ่มนักคิด นักเขียนแล้ว บรรยากาศหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม 2516 ยังก่อให้เกิดความตื่นตัวทางการเมือง มีกลุ่มการเมือง และกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากมาย ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของตนเอง ตระหนักถึงพลังความสามารถของตนเอง

 

ในขณะเดียวกันบทบาทขององค์กษัตริย์ไทยซึ่งเข้ามาช่วยคลี่คลายบรรยากาศแห่งความขัดแย้งได้รับการตอกย้ำทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจโดยขบวนการนักศึกษาจนอยู่ในสถานะอันสูงยิ่ง ทั้งยังได้พระราชทานนายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อคลายบรรเทาบรรยากาศแห่งความขัดแย้งทางการเมืองลง

 

สำหรับในทางศิลปะและการใช้ภาษาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองแล้ว อาจกล่าวได้ว่าขบวนการฝ่ายซ้ายของไทยมีความสามารถเหนือรัฐบาลเป็นอย่างมาก นักรบทางวัฒนธรรมในสมัยนี้มีความพิถีพิถันเป็นพิเศษในการเลือกใช้ศัพท์หรือบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ จนใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนั้น อย่างคำว่า " มรรคาปฏิวัติ " " กงล้อประวัติศาสตร์ " " เจตนารมณ์แห่งประวัติศาสตร์ "

 

เพราะ " ภาษา " นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารแล้ว ปฏิบัติการของภาษายังสามารถฉุดลากอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดความอ่านให้เป็นไปตามที่ " ภาษา " กำหนดได้อีกด้วย ดังนั้นหากสามารถเอาชัยในด้านการใช้ภาษาเหนือฝ่ายตรงข้ามได้ ก็เป็นไปได้มากทีเดียวที่จะมีชัยชนะทางด้านความคิด

 

แม้แต่นักเขียนของฝ่ายขวาเองก็ยังยอมรับ และนำศัพท์ของฝ่ายซ้ายมาใช้ซึ่งยิ่งทำให้ภาษาของฝ่ายซ้ายแพร่หลายมากขึ้นไปอีก จนกระทั่งว่าแม้แต่ในแวดวงของรัฐบาลเองก็ยังนำคำศัพท์ที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางของฝ่ายซ้ายมาใช้ไปด้วย แต่ในกระบวนการตอบโต้ และดูดกลืน ทางภาษาของนักเขียนอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายขวา การนำศัพท์และภาษาทางการเมืองของฝ่ายซ้ายมาใช้ก็ได้มีการให้ความหมายใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความหมายและความรู้สึกในแง่ลบให้แก่ศัพท์นั้น ๆ

 

อย่างไรก็ตาม อาจพอกล่าวได้ว่า สังคมที่มีความรุ่มรวยของภาษาย่อมหมายถึงว่ามีความรุ่มรวยของความคิด อุดมการณ์ และก็หมายถึงความรุ่มรวยหลากหลายของทางเลือกในการดำเนินชีวิต คำตอบหรือทางออกของปัญหา ตลอดจนความหมายของรูปแบบชีวิตที่ดีก็ย่อมมีมากกว่าหนึ่ง การมีภาษาที่หลากหลายอันแสดงถึงความหลากหลายทางอุดมการณ์ ย่อมน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการปล่อยให้อุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งได้รับการผูกขาดซึ่งเป็นสิ่งที่บดบังความเป็นไปได้และปิดกั้นศักยภาพของมนุษย์

 

ภาษาทางการเมืองของฝ่ายซ้ายที่เฟื่องฟูขึ้นอย่างมากหลังการปฏิวัติตุลาคม 2516 เป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าความคิด และวัฒนธรรมในการวิพากษ์ วิจารณ์เพื่อเปิดโปงให้เห็นความฟอนเฟะของสังคมและใฝ่ฝันถึงความเป็นไปได้ของสังคมการเมืองที่ดีกว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ชนิดที่การวิพากษ์ วิจารณ์ในปัจจุบันไม่อาจเทียบได้ ยังไม่กล่าวถึงว่า " ภาษา " ในปัจจุบันส่วนมากแล้วก็ไม่ใช่ " ภาษาสำหรับการวิพากษ์ " แต่เป็น " ภาษาสำหรับการเชื่อฟัง "

 

อย่างไรก็ตาม ภาษาก็คล้ายกับหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมและมีที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์ย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย บางทีเพียงแค่การรับรู้ว่าครั้งหนึ่งเคยมี " ภาษาแบบอื่น " ที่แตกต่างออกไปจากภาษาที่ใ ช้ กันอยู่ในปัจจุบันก็มากเพียงพอแล้วเมื่อเทียบกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน