Skip to main content

ดารากับการเล่นการเมือง

คอลัมน์/ชุมชน





























































































1

 

เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจพอสมควรเมื่อเหล่าดารานักแสดง รวมทั้งผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการบันเทิงเปลี่ยนบทบาทจากการเล่นหนัง เล่นละครหรือเล่นตลก หันมาลงเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว หรือไม่ก็เข้าทำงานคลุกคลีในแวดวงการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

 

ก่อนหน้านี้พอจะมีศิลปิน และดาราที่ตบเท้าเข้าเวทีการเมืองอยู่บ้างแต่ก็มีจำนวนไม่มากพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ แต่ขณะปัจจุบัน การที่ดาราหรือที่เรียกกันอย่างหรูหรา " ศิลปิน " โดดลงมาเล่นการเมืองนั้นเรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กำลังมาแรงได้เลยทีเดียว และไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะพรรคไทยรักไทยเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

 

ถ้าว่าไปแล้วอาชีพการเป็นดารา และอาชีพการเป็นนักการเมืองมีส่วนที่ละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย ในแง่ที่ว่า ทั้งสองอาชีพต่างเป็นอาชีพของบุคคลสาธารณะที่ต้องพบปะคลุกคลีกับคนจำนวนมากหน้าหลายตา และตกอยู่ในความสนใจของสาธารณชนตลอดจนสื่อมวลชน

 

อาชีพดาราหรือศิลปินนั้นกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่ให้ความบันเทิงแก่สาธารณชน ให้ความสุขสนุกสนานแก่ผู้ชม ศิลปินอาจไม่จำเป็นต้องสวยต้องหล่อเสมอไป เช่น คนที่แสดงเป็นตัวโกง หรือ นักแสดงตลก หากแต่ที่สำคัญอยู่ที่ความสามารถในการสร้างความเพลิดเพลินคลายเครียดให้แก่ผู้ชม จะเห็นได้ว่านักแสดงตลกบางคนดึงดูดผู้ชมได้มากกว่าพระเอกนางเอกหลายคนเสียอีก

 

ส่วนอาชีพนักการเมืองก็คลุกคลีอยู่กับพี่น้องประชาชน เป็นคนของประชาชน คอยบริการรับใช้ประชาชน (ในทางปฏิบัติอาจเป็นอีกอย่าง) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้ตนเองดูดีในสายตาของคนอื่นอยู่เสมอ

 

เมื่อต้องเกี่ยวข้อง และมีปฏิสัมพันธ์อยู่กับคนจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับทั้งสองอาชีพนี้คือ " ภาพลักษณ์ " ทั้งอาชีพดาราและนักการเมืองต่างต้องเล่นอยู่กับ " ภาพลักษณ์ " หรือนำเสนอ " ภาพลักษณ์ " ของตัวตนผ่านช่องทางต่าง ๆ ผ่านทางสื่อแขนงต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย

 

และแน่นอนว่าประชาชนคนทั่วไปไม่อาจสัมผัสเข้าถึงบุคคลสาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา หากแต่รู้จักคนเหล่านี้ผ่านสื่อต่าง ๆ ที่ทำการเสกสรรปั้นแต่ง " ภาพลักษณ์ " ให้เรียบร้อยแล้ว ประเด็นก็คือ เป็นไปได้มากทีเดียวว่าการรู้จักบุคคลสาธารณะเหล่านี้ผ่านทางสื่อแขนงต่าง ๆ ย่อมไม่สามารถรู้จักได้อย่างครบถ้วนถ่องแท้ หากแต่รู้จักเพียงบางส่วนเสี้ยว (ที่ถูกกำหนดให้รู้จัก) เท่านั้น

 

2

 

การนำเสนอ " ภาพลักษณ์ " ของบุคคลสาธารณะอย่างดาราหรือนักการเมืองผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ใช่ลักษณะที่สะท้อนตัวตนจริง ๆ ดังกระจกเงา หากแต่มันคือการ " สร้างใหม่ " โดยอาศัยเทคนิควิธีการสร้างภาพที่แยบยลจนตามไม่ทัน ดังนั้น " ภาพลักษณ์ " ของดาราและนักการเมืองกับ " ตัวตนจริง ๆ " ของพวกเขาหรือเธอนั้นมีช่องว่างห่างไกลอยู่มากมายมหาศาล

 

ทั้งอาชีพนักแสดงและอาชีพนักการเมือง ต่างมีที่มาและดำเนินอยู่ได้โดยอาศัยประชาชนคนส่วนใหญ่ เงินรายได้ของอาชีพนักแสดงมีที่มาจากความนิยมที่ได้รับจากประชาชนคนดู เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนหมดความนิยม (เพราะภาพลักษณ์ไม่ดี) ในตัวนักแสดงคนนั้น ๆ โอกาสที่จะโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงก็มีน้อยเต็มที

 

นักการเมืองก็เช่นเดียวกัน จะสามารถก้าวเข้ามานั่งอยู่ในสภาได้ก็ด้วยการสนับสนุนจากเสียงของประชาชนซึ่งไว้วางใจต่อนักการเมืองคนนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม แม้นว่าสองอาชีพนี้จะละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมากดังที่กล่าวแล้ว แต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างสำคัญด้วยเช่นกัน

 

โดยหลักการของประชาธิปไตย นักการเมืองเป็นผู้ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนและมีความรู้ ความสามารถมากพอที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย หรือการบริหารประเทศชาติ

 

อาชีพนักการเมืองเกี่ยวพันอยู่อย่างลึกซึ้งกับความเป็นอยู่ของประชาชน ยิ่งคนในระดับรัฐมนตรีด้วยแล้วในบางกรณีสามารถกำหนดอนาคตและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหรือปัจเจกบุคคลได้เลยทีเดียว เพราะนักการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นฝ่ายรัฐบาล มีส่วนอย่างมากในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางการพัฒนาซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนอื่น

 

นักการเมืองมีส่วนอยู่ไม่น้อยในการตัดสินใจในโครงการใหญ่โตต่าง ๆ อันกระทบต่อความเป็นอยู่และวิถีชีวิตปกติของประชาชน เช่น การอนุมัติให้สร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้า หรือการสร้างเขื่อนอันส่งผลมหาศาลต่อชาวบ้านในพื้นที่

 

แต่ดาราเป็นเพียงผู้ให้ความบันเทิงที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อกิจการสาธารณะ แน่นอนว่าคนซึ่งเป็นดารานักแสดงอาจมีผลทางด้านวัฒนธรรมต่อคนอื่น ๆ แต่ดารานักแสดงไม่ใช่บุคคลซึ่งสามารถอ้างได้เลยว่าเป็นตัวแทนของประชาชน และมีสิทธิที่จะกระทำการใด ๆ ในนามของประชาชน

 

การตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำในกิจกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก หรือการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารในกรณีที่เป็นฝ่ายค้านเป็นหน้าที่ซึ่งต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนมีคุณสมบัติอีกหลายประการ อย่างเช่น การเอาธุระส่วนรวม ความซื่อสัตย์ สุจริต

 

ลำพังการเป็นดาราที่มีคนรู้จักมากมาย อาจเพียงพอที่จะทำให้ได้รับเลือกตั้งเข้ามา เพราะอาจกล่าวได้ว่าบางส่วนเสี้ยวของวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเรามีลักษณะแบบ " ลิเก " คือนิยมชมชอบที่จะเลือกนักการเมืองเพราะว่ารูปหล่อหน้าตาดี ส่วนอื่น ๆ เป็นเรื่องรอง

 

แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่าการเป็นเพียงดารา ที่ขายหน้าตาคงไม่เพียงพอแน่ ๆ สำหรับการเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชนหรือทำงานวางแผนในระดับนโยบาย และที่สำคัญการเล่นการเมืองก็ไม่ใช่การเล่นละคร หรือเล่นจำอวด เพราะมันคือการเล่นกับอำนาจซึ่งต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวังอย่างสูงเพราะมันอาจไปทำให้ใครต่อใครเดือดร้อนได้

 

3

 

ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นดารานักแสดงจะไร้ความสามารถไปเสียหมด หากแต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า การทำงานการเมืองไม่ได้ขายความสามารถในการให้ความบันเทิง หรือรูปร่างหน้าตา หากแต่อยู่ที่สติปัญญาและความตั้งใจจริงในการเข้ามาทำงาน (และควรจะเน้นด้วยว่าคนที่มีความรู้ ความสามารถไม่จำเป็นต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยเสมอไป เพราะคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแต่ไร้ความสามารถก็มีถมถืดไป ชาวบ้านร้านตลาดหรือดารานักแสดงก็อาจเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ ความสามารถได้ด้วยเช่นเดียวกัน)

 

ดารานักแสดงหันมาเล่นการเมืองเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและน่าจับตามอง เพราะนอกจากดาราจะมีความพร้อมในฐานะที่เป็นคนของสาธารณชนอันจะทำให้ได้เปรียบคนทั่วไปแล้ว ดารายังมีข้อได้เปรียบอีกหลายประการ แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้ว หากศิลปินดาราไม่มีความสามารถอันใดนอกเหนือไปจากความสามารถในการให้ความบันเทิงแล้ว ก็เป็นได้เพียงแค่ไม้ประดับหรือคงเป็นได้แค่ฝ่ายประชาสัมพันธ์พรรคการเมืองเท่านั้น

 

และลองจินตนาการกันเล่น ๆ ดูก็แล้วกันว่า หากให้ดาราหรือตลกมาพูดเรื่องนโยบายเกี่ยวกับพลังงานหรือความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หรือปัญหาการก่อการร้าย ภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไร