Skip to main content

ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้

คอลัมน์/ชุมชน

" ชื่อเรียก " ที่เราใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ นั้นไม่ได้หมายแทนถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ต้องการจะบ่งถึงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ " ชื่อเรียก " ยังบรรจุแฝงฝังไว้ด้วย พลังอำนาจของภาษา เป็นปฏิบัติการของภาษาที่สามารถสร้าง ชี้นำกำหนดอารมณ์ ความรู้สึก ตลอดจนการก่อรูปของแนวคิดต่าง ๆ ได้


มีช่องว่างมหาศาล ซึ่งไม่อาจข้ามผ่านได้ระหว่างสิ่งที่ภาษาต้องการสื่อถึงกับคำที่เปล่งออกมา บางท่านได้เปรียบมันว่า อุปมาดั่งนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ เพื่อต้องการสื่อความหมายถึงวัตถุรูปกลมสีนวลตาที่ลอยอยู่บนฟากฟ้า ภาษาก็เหมือนดั่งนิ้วซึ่งหมายจะบ่งชี้ถึงวัตถุที่ลอยเลื่อนอยู่บนฟ้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ฟังหรือแม้กระทั่งผู้พูดเองกลับมองไปที่นิ้ว หรือติดอยู่ที่ภาษาโดยไม่สามารถเห็น " ดวงจันทร์ " จริง ๆ ได้ ภาษาหรือในที่นี้คือ " ชื่อเรียก " จึงมีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดการรับรู้และการเข้าใจ


ภาษาหรือ " ชื่อเรียก " ของสรรพสิ่งไม่อาจสะท้อนโลกภายนอกได้อย่างตรงไปตรงมา ไร้เดียงสา ใครที่ยังเชื่อว่าภาษาหรือการกำหนดชื่อเรียกเพื่อเรียกสิ่งต่าง ๆ เป็นแค่เพียงเครื่องมือที่ช่วยในการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ออกจะดูเบาพลังอำนาจของภาษามากเกินไปหน่อย หรือไม่ก็ยังไม่เข้าใจความซับซ้อนยุ่งยากของโลกแห่งภาษาได้


เราสามารถสังเกตเห็นได้ว่า การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองทุกครั้ง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือที่อื่น ๆ จะมี " ชื่อเรียก " เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการปฏิวัติมากมายหลายชื่อด้วยกัน เพราะ " ชื่อเรียก " ใหม่ ๆ สามารถก่อให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ตามมาด้วย และความคิดใหม่ ๆ นี้เองที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของสังคมการเมือง


ตัวอย่างเช่น การปฏิวัติ 2475 มีคำใหม่ ๆ และ " ชื่อเรียก " ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามากมาย ทั้งทับศัพท์และแปล และแปลงมาจากต่างประเทศ ทั้งบัญญัติมันขึ้นมาใหม่ อย่างคำว่า " อภิวัฒน์ " " สิทธิมนุษยภาพ " " ลัทธิประชาภิบาล " เป็นต้น


เราไม่สามารถคิดโดยไม่ใช้ภาษาได้ (ภาษาในที่นี้รวมถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ) และหากมีแต่ภาษาเก่า ๆ ซึ่งเป็นภาษาของระบบเดิม ๆ ช่องทางที่จะคิดอะไรใหม่แตกต่างออกไปจึงมีน้อยเต็มที การประดิษฐ์ภาษาขึ้นมาใหม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลง สำหรับการนำเสนออะไรใหม่ ๆ หรือทำความเข้าใจในโลกที่เปลี่ยนไป


มี " ชื่อเรียก " มากมายที่เป็นผลพวงจากการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ และเป็น " ชื่อเรียก " ที่ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี (อาจเป็นผลดีและความจำเป็นในขณะนั้น ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลดีนั้นก็กลับกลายเป็นผลเสียได้) และควรจะนำมาพิจารณาทบทวนกันใหม่


นักวิชาการระดับแนวหน้าของเมืองไทยได้เคยเสนอเป็นระยะ ๆ ว่าควรเปลี่ยน " ชื่อเรียก " ประเทศไทยเป็น " สยาม " ดังเดิม เพราะน่าจะสอดรับสถานการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเรียกประเทศนี้ว่า " ไทย " นั้นเกี่ยวพันในทางลบกับปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (และปัญหาอื่น ๆ) อย่างไม่น่าเชื่อ


และรัฐบาลรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องก็ควรพิจารณาข้อเสนอนี้อย่างจริงจัง เพราะมันไม่ใช่เรื่องตลกเหลวไหลแต่อย่างใด หากแต่มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกและการรับรู้ตลอดจนโลกทัศน์อย่างมากทีเดียว (อันที่จริงข้อเสนอนี้มีมาอยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่ไม่ค่อยได้รับการตอบรับมากเท่าไหร่นัก)


ถ้าว่าไปแล้ว ไม่เฉพาะแต่เพียงชื่อเรียกประเทศนี้ว่า " ไทย " เท่านั้นที่ควรเปลี่ยน มี " ชื่อเรียก " และ " วลี " อีกมากมายที่ฟังแล้วแสลงหู และสมควรถูกยกเลิกไป เป็นต้นว่า ชาวเขาเผ่าอาข่าไม่ปรารถนาที่จะให้เรียกเขาว่า " อีก้อ " เพราะเป็นคำที่แสดงถึงการดูถูก ดังนั้นชาวเขาเผ่านี้จึงคิด " ชื่อเรียก " สำหรับไว้เรียกตัวเองเพื่อตอบโต้ " ชื่อเรียก " ที่แสดงถึงการดูถูกเหยียดหยามจากผู้ที่ " เจริญกว่า " ขึ้นมาว่า " อาข่า " (ส่วนผู้ซึ่งมีอำนาจทางการเมือง การเศรษฐกิจเหนือกว่าก็ทำนองเดียวกันคือประดิษฐ์ " ชื่อเรียก " เพื่อเรียกตนเองขึ้นมาเพื่อบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ ความรุ่งเรือง)


การเรียกผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในป่ากลุ่มหนึ่งว่า " ผีตองเหลือง " นั้นก็แฝงฝังไว้ด้วยอาการดูถูกเหยียดหยามด้วยเช่นกัน คนไทยเชื้อสายเวียดนามก็ไม่พอใจมากหากใครเรียกเขาว่า " แกว " หรือการเรียกผู้ก่อการในภาคใต้ว่า " โจรใต้ " นั้นก็เป็นอะไรที่แสลงหูและแสดงถึงความก้าวร้าวหยาบคายของผู้พูดเป็นอย่างยิ่ง (หากใครสนใจลักษณะเกี่ยวกับการ " เรียกชื่อ " ชนชาติอันเป็นสิ่งที่ส่อแสดงถึงฐานะทางสังคมของชนชาตินั้น ๆ โปรดอ่านงานคลาสสิกของ " จิตร ภูมิศักดิ์ " เล่มที่ชื่อว่า " ความเป็นมาของคำสยาม ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ " หนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่าการ " เรียกชื่อ " หรือ " ชื่อเรียก " โดยเฉพาะอย่างยิ่งของชนชาติต่าง ๆ นั้นมีความสลักสำคัญอย่างมากเพราะมันมีนัยของอำนาจ การต่อต้านอำนาจที่กระทำผ่าน " ชื่อเรียก " และการต่อสู้ทางภาษา อีกทั้งยังช่วยให้เห็นว่ามีความสลับซับซ้อนมากมายอย่างคาดไม่ถึงทั้งในด้านการเมือง สังคมและวัฒนธรรมซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายใต้ " ชื่อชนชาติ " )


ของตกค้างทางประวัติศาสตร์ในสังคมไทยหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ สถาบัน หรือโลกทัศน์เก่า ๆ บางครั้งยังสามารถดำรงอยู่ได้เพราะการผลิตซ้ำผ่าน " ชื่อเรียก " นั่นเอง และ " ชื่อเรียก " เหล่านี้นี่เองที่เป็นตัวที่คอยให้ความชอบธรรมกับการดำรงอยู่ของสิ่งที่ว่านี้


บางครั้งการธำรง " ชื่อเรียก " ไว้ก็คือการธำรงอำนาจ ไว้นั่นเอง โดยอาจจะเพิ่มเติมความหมายใหม่ ๆ เข้าไปใน " ชื่อเรียก " ที่มีก่อนหน้านี้ ทำให้ " ชื่อเรียก " มีความอ่อนไหวไปกับสถานการณ์ในขณะนั้นเพื่อที่จะซึมซับรับเอาความหมายใหม่ ๆ เข้าไป ดังนั้นในบางกรณีจะเห็นได้ว่า " ชื่อเรียก " ชื่อเดียวกันจะมีความหมายที่แตกต่างหลากหลายออกไปในแต่ยุค


จากประวัติศาสตร์ ดูเหมือนว่าชนชั้นผู้ปกครองของไทยเราจะเข้าใจ และเล็งเห็นถึงความสำคัญของ " ชื่อเรียก " ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเราจึงได้เห็น " ชื่อเรียก " ที่ประกาศแสดงสถานะ และความยิ่งใหญ่เก่าแก่ของผู้ปกครองปรากฏอยู่ตามที่ต่าง ๆ อยู่ดาษดื่นเต็มไปหมด พร้อม ๆ กับที่ " ชื่อเรียก " ที่แสดงความต่ำต้อยของผู้อยู่ใต้ปกครองก็ปรากฏอยู่อย่างแนบเนียนแยบยล โดยพลังอำนาจของภาษา หรือปฏิบัติการทางวาทกรรมได้สะกดให้ผู้อยู่ใต้ปกครองนั้นยอมรับความต่ำต้อยเอาไว้กับตัวโดยไม่ต้องตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปและความชอบมาพากลของมันแต่ประการใด


ที่กล่าวมาพอจะเห็นได้คร่าว ๆ ว่า " ชื่อ " นั้นสำคัญ แม้แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็ต้องตัดคำว่า " การเมือง " ที่ต่อท้ายชื่อของมหาวิทยาลัยแต่เดิมออกไป และดูเหมือนว่าหลังจากนั้นความข้องเกี่ยวกับการเมืองของมหาวิทยาลัยก็ค่อย ๆ จางคลายไปด้วย


คงจะไม่เป็นการเกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นนายของภาษา ภาษาไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือไร้เดียงสาที่มีความเป็นกลางที่พร้อมจะให้ใครก็ได้หยิบฉวยไปใช้ หากแต่อาจกล่าวได้ว่า ภาษารวมทั้ง " ชื่อเรียก " ของสรรพสิ่งต่างหากที่ " สร้างมนุษย์ " ขึ้นมา และในคัมภีร์ของคริสต์ศาสนาก็จะเขียนไว้ชัดเจนว่าพร ะเจ้าได้สร้างโลกนี้ด้วยภาษาวาทะของพระองค์