Skip to main content

จาก 6 ตุลา ถึง ตากใบ : บทเรียนที่รัฐและสังคมไทยไม่ยอมเรียน

คอลัมน์/ชุมชน

การศึกษาประวัติศาสตร์มีข้อดีประการหนึ่งตรงที่ช่วยให้ได้เรียนรู้ถึงบทเรียนความสำเร็จ และความล้มเหลวในอดีต และอาจนำบทเรียนที่ได้จากการศึกษาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นั้นมาปรับใช้ เพื่อการเผชิญหน้าและรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน


การสังหารหมู่นักศึกษาในเหตุการณ์ที่เรียกกันติดปากว่า "6 ตุลา" นั้นมีบทเรียน และแง่มุมมากมายให้เรียนรู้และจดจำ ความเจ็บปวดจากเหตุการณ์นี้อาจเป็นสิ่งที่พอลืมกันได้ (เพราะยิ่งจำก็อาจยิ่งเจ็บ) แต่ "บทเรียน" ของความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่ไม่ควรลืม ไม่ควรลืมก็เพราะว่า การทบทวนทำความเข้าใจมันอาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเจ็บปวดสูญเสียขึ้นซ้ำอีก


แต่ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้ให้บทเรียนอะไรกับสังคมไทยมากนัก (เพราะว่าสังคมไทยไม่ต้องการบทเรียนมาตอกย้ำความผิดพลาดของตนเอง) มีเพียงเหยื่อเท่านั้นที่ต้องขมขื่นทนทุกข์อยู่กับมัน เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ (เพราะร่องรอยถูกกลบลบออกไปหมด) ทั้งนี้ก็เพราะว่ารัฐและสังคมไทยไม่ปรารถนาที่จะจำหรือจะเรียนนั่นเอง


เมื่อสังคมไทยและรัฐไทยไม่ยอมศึกษาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และไม่ยอมเรียนรู้ว่า "สิ่งเลวร้าย" ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนั้นเป็น "บทเรียน" สำคัญอย่างหนึ่งที่ควรหาทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ เมื่อไม่ยอมศึกษาบทเรียนมาเป็นเครื่องเตือนสติ ที่สุดแล้วก็อย่างที่เห็น ก็คือการฆ่าหมู่ที่ "ตากใบ" และที่มัสยิด "กรือเซะ" ซึ่งซ้ำรอยเดิมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 6 ตุลา 19


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตากใบ มีความคล้ายคลึงหลายประการที่อาจพอเปรียบเทียบกันได้กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (และที่น่ากลัวก็คือ ในตอนนี้กลุ่มลูกเสือชาวบ้านที่เคยสร้างผลงานที่โดดเด่นไว้ในอดีตได้เริ่มเข้ามาเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้ด้วยแล้ว)


ความคล้ายคลึงที่น่าสนใจประการหนึ่งระหว่าง "6 ตุลา" กับ "ตากใบ" ก็คือว่า "ไม่มีการลงโทษอาชญากร" อันที่จริงไม่มีอาชญากรให้ลงโทษเลยด้วยซ้ำ เพราะไม่มีใครผิดเลย! คนที่ตายก็เป็นเพียงปัจเจกบุคคลที่ "สมควรตาย" และ "สมควรถูกสั่งสอน" ทั้งนั้น


การตั้งข้อหาอุกฉกรรจ์ให้แก่คนที่ตายทั้งสองเหตุการณ์ก็มีคล้ายคลึงกันจนน่าตกใจ ว่า "ไม่เป็นไทย" ที่น่าตกใจก็เพราะว่าข้อกล่าวหานี้เป็นเรื่องบิดเบือน เป็นความบิดเบือนเก่าแก่ที่ดำรงอยู่ตลอดเกือบสามทศวรรษนับตั้งแต่ 6 ตุลา ซึ่งนั่นก็หมายความว่าสังคมไทยและรัฐไทยอยู่ร่วมกับความบิดเบือนโดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรเลย และถือมันเสมือนเป็นมรดกตกทอดอันหนึ่งที่พร้อมนำมาใช้ได้ทุกเมื่อ


การฆ่าคนที่ "ตากใบ" และที่ "6 ตุลา" กระทำลงไปในนามของความจำเป็นและเหตุผลแห่งรัฐ กระทำลงไปในนามของแนวคิดราชาชาตินิยมที่คับแคบเห็นแก่ตัว ตำรวจ (และลูกเสือชาวบ้าน ตอน 6 ตุลา 19) ต่างก็ทำไปในนามของความถูกต้อง! และทำเพื่ออุดมการณ์อันสูงส่ง ! ไม่มีใครผิดเลย (นอกจากเหยื่อ)!


ความคล้ายคลึงหลาย ๆ ประการระหว่าง "ตากใบ" กับ "6 ตุลา" ชวนให้คิดไปว่า รัฐและสังคมไทยยังคงวนเวียนอยู่ในความมืดมนและมืดบอดตลอดมา ทั้งนี้ก็เพราะไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ หรือถ้าเรียนมาบ้างก็เรียนกันมาแบบผิด ๆ ท่องจำกันมาเป็นนกแก้วนกขุนทองว่าชาติไทยมีความเป็นมายาวนาน ยิ่งใหญ่ รักสงบ! (ช่างน่าสงสัยศักยภาพและคุณภาพของสถาบันการศึกษาเสียนี่กระไร)


คำถามที่อยากถามดัง ๆ ก็คือ รัฐและสังคมไทยเรียนรู้อะไรขึ้นมาบ้างจากเหตุการณ์นองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเกือบสามทศวรรษที่แล้วมา? ราคาที่ต้องจ่ายในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อครั้งกระโน้น "ไม่มากพอ" ที่จะช่วยให้รัฐและสังคมได้เรียนรู้หาหนทางป้องกัน และแก้ปัญหาความขัดแย้งทางอุดมการณ์ความคิดด้วยวิธีการที่สันติหรืออย่างไร?


สังคมไทยสำนึกผิดบ้างหรือไม่ที่ปล่อยให้อำนาจ และกลไกรัฐจัดการกับผู้บริสุทธิ์ที่ตากใบอย่างเหี้ยมเกรียม เหี้ยมเกรียมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 6 ตุลาคม 19? ปัจเจกบุคคลที่สนับสนุนให้รัฐจัดการผู้ชุมนุมประท้วงที่ "ตากใบ" ตลอดจน "ผู้ก่อความไม่สงบ" อื่น ๆ ที่ภาคใต้ ด้วยความเฉียบขาดรุนแรงจะรู้สึกละอายต่อบาปและสำนึกเสียใจบ้างหรือไม่?

รัฐและสังคมไทยเรียนรู้อะไรขึ้นมาบ้าง จากเหตุการณ์นองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเกือบสามทศวรรษที่แล้วมา? ตอบว่า เปล่าเลย เกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐและสังคมไทยเรียนรู้เพียงน้อยนิดหรือแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากเหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519


จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ดูเหมือนว่าการล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการทารุณกรรมที่ท้องสนามหลวงเป็นคล้าย ๆ ปรากฏการณ์ธรรมดา ๆ ที่ผ่านแล้วก็ผ่านเลยไป ทั้ง ๆ ที่มันเป็นอาชญากรรมการฆ่าหมู่ที่โหดเหี้ยมมากที่สุด (และเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่มีลูกผู้ชายคนไหนยืดอกรับผิดชอบเลย)


ประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลาคม 2519 ไม่รู้ไปอยู่ตรงซอกหลืบไหนของประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย มันถูกเอาไปซ่อนไว้เพื่อปกปิดความทุเรศอัปลักษณ์ของคนไทย และความด้อยวุฒิภาวะของสังคมไทย (และก็เป็นไปได้ว่าประวัติศาสตร์ "ตากใบ" ก็คงมีชะตากรรมเช่นเดียวกัน)


ถ้าว่าไปแล้วเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ถูกทำให้กลายเป็นเพียง "ประเด็นทางวิชาการ" ที่รับรู้กันอยู่ไม่กี่คน และแทบจะไม่ส่งผลอันใดต่อความเป็นไปสังคม ไม่ช้าไม่นานเหตุการณ์ที่ "ตากใบ" และที่ "กรือเซะ" ก็จะกลายเป็นเพียง "ประเด็นวิชาการ" ให้นักวิชาการถกกันในวงสัมมนา ในขณะที่การฆาตกรรมโดยรัฐจะยังคงดำเนินต่อไปภายใต้การสนับสนุนของคนจำนวนมาก


ราคาที่ต้องจ่ายในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อครั้งกระโน้น "ไม่มากพอ" ที่จะช่วยให้รัฐได้เรียนรู้หาหนทางป้องกันและแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดด้วยวิธีการที่สันติหรืออย่างไร? ตอบว่า ไม่มากพอ นอกจากไม่มากพอแล้ว ในทางตรงข้าม รัฐและสังคมไทย อาจเห็นว่า การทารุณกรรมเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 อาจเบาเสียด้วยซ้ำไป "ผู้ก่อการร้าย" จึงไม่ยอมเข็ดหลาบ ดังนั้นจึงต้องเพิ่มระดับความรุนแรงเข้าไป!


หลายคนอุทานออกมาด้วยความสะสาแก่ใจ เมื่ออ่านข่าวตอนเช้าแล้วพบว่าผู้ก่อการร้ายถูกเจ้าหน้าที่รัฐฆ่าตาย! และรำพึงต่อไปด้วยความเมามันว่า "น่าจะฆ่าให้ตายให้หมด"


เบเนดิกส์ แอนเดอร์สัน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ถูกต้องทีเดียวที่ใช้คำว่า "บ้านเมืองของเราลงแดง" กับ เหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 และคงจะไม่เป็นการผิดที่ผิดทางนักหากจะนำคำว่า "บ้านเมืองของเราลงแดง" มาใช้กับเหตุการณ์ที่ "ตากใบ" และที่ "กรือเซะ" ด้วย


สังคมไทย ที่พร่ำบอกสั่งสอนกันว่าเป็นสังคมพุทธนั้น ด้านชาเสียจนไม่รู้จักการสำนึกผิดที่ฆ่าหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากจะไม่สำนึกผิดแล้วยังส่งเสียงสนับสนุนให้รัฐจัดการขั้นเด็ดขาดกับ "ผู้ก่อความไม่สงบ" ที่ภาคใต้อีก ความเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของพุทธศาสนาหายไปไหนเสียสิ้น? หรือว่า "ฆ่าโจรใต้ไม่บาป" (ประวัติศาสตร์ช่างพ้องพานกันเสียจริง)


อีกกี่ "6 ตุลา" อีกกี่ "ตากใบ" รัฐจึงจะยอมเรียน "บทเรียน"? คนจะต้องตายอีกเท่าไหร่ สังคมไทยจึงจะหายลงแดง?