Skip to main content

"การเมือง" ใน "ภัยธรรมชาติ"

คอลัมน์/ชุมชน

1


มีข้อควรขบคิด และนัยทางการเมืองมากมาย ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์ที่โถมกระหน่ำเข้าทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน ซึ่งเกิดขึ้นที่จังหวัดทางภาคใต้ฝั่งอันดามัน กล่าวได้ว่าคลื่นยักษ์ได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับผู้คนในทุก ๆ ระดับ ตั้งแต่คนจนไปจนถึงเศรษฐี ตั้งแต่กรรมกรที่กำลังก่อสร้างรีสอร์ตไปจนถึงชาวต่างชาติ ซึ่งนอนตากอากาศริมทะเลอย่างสบายอกสบายใจ


แต่ความสูญเสียของชาวบ้านและคนจน ๆ ไม่ปรากฏเป็นข่าวมากนัก หรือไม่ปรากฏเป็นข่าวเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับความสูญเสียของคนใหญ่คนโตหรือคนมีชื่อเสียง แทบจะไม่มีพื้นที่ในสื่อมวลชนแขนงใดเลยที่ใส่ใจให้ความสำคัญกับโศกนาฏกรรมของชาวบ้านธรรมดาอย่างจริงใจ หรือถ้าจะมีปรากฏอยู่บ้างก็เป็นเพียง "ส่วนเสริม" หรือ "ส่วนขยาย" ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการในโศกนาฏกรรมของคนใหญ่คนโตเท่านั้นเอง


ถ้าว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาและเข้าใจได้ง่าย ๆ ที่คนตัวเล็ก ๆ ซึ่งเสียชีวิต และได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์จะ "หายไปจากข่าว" เพราะข่าวของ "คนตัวเล็ก" ไม่น่าจะขายได้เมื่อเทียบกับข่าวของคนมีชื่อเสียง ดังนั้น จึงเป็นเรื่อง "ป่วยการ" ที่จะไปเรียกร้องอะไรจากสื่อ ซึ่งนำเสนอข่าวในเรื่องนี้ราวกับเป็นนิยายน้ำเน่าที่ดูแล้วแทบทนไม่ได้


เมื่อความเสียหายที่ปรากฏตามสื่อ เป็นความเสียหายของ "คนรวย" ที่มีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตที่ดีด้วยการท่องเที่ยวพักผ่อน ความสะเทือนใจของคนชั้นกลางในกรุงเทพ และ "คนรวย" ด้วยกันจึงมีมากเป็นพิเศษ ดังนั้นความช่วยเหลือต่าง ๆ และความเห็นใจก็เกิดขึ้นล้นหลามอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน


แน่นอนว่า "ความเห็นใจ" ต่อความทุกข์ยากของผู้อื่นเป็นเรื่องที่น่าชมเชย แต่ "ความเห็นใจเฉย ๆ" เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์มากนัก เพราะ "ความเห็นใจเฉย ๆ" ไม่ได้ก่อให้เกิดมรรคผลอะไรขึ้นมากับคนที่เดือดร้อน ในทางตรงข้าม "ความเห็นใจเฉย ๆ" อาจก่อให้เกิดโทษก็ได้


บางทีการแสดงออกถึงความเห็นใจในชะตากรรมของคนอื่นโดยไม่ต้องคิดวิเคราะห์อะไรมาก ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการตอกย้ำความอ่อนแอทางจริยธรรมของตนเอง และ "ความเห็นใจเฉย ๆ" ที่แท้แล้วอาจหมายถึงการปัดการรับรู้และความรับผิดชอบในความเดือดร้อนของคนอื่นก็เป็นได้ เพราะ "ความเห็นใจเฉย ๆ" ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย


เป็นเรื่องตลกเหลวไหล หากใครก็ตามเชื่อว่าแค่บริจาคสิ่งของหรือเงินผ่านวิธีการต่าง ๆ (เช่น ส่งข้อความผ่านโทรศัพท์) แล้วจะได้ชื่อว่าเป็น "คนดี" เป็น "คนมีน้ำใจ" ยิ่งเลยเถิดไปใหญ่หากคิดว่าการกระทำเพียงเท่านี้จะแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนอะไรได้


ในโลกที่ทุกอย่างถูกแปรให้มี "มูลค่า" และเป็นสินค้าได้หมด ไม่เว้นแม้แต่สิ่งซึ่งเป็นนามธรรมมาก ๆ อย่างความยุติธรรม ความฝัน ความรัก ฯลฯ "คุณค่า" ของสิ่งเหล่านี้จึงแปรผันตรงกับราคาซื้อขายในตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


"ความดี" ก็เช่นเดียวกันที่กลายเป็นสินค้าที่สามารถใช้เงิน หรือสิ่งของซื้อหาแลกเปลี่ยนมาบริโภคได้และการเกิดมหันตภัยทางภาคใต้ก็นับเป็น "โอกาสอันดี" ที่จะสามารถหาซื้อ "ความดี" "ความเป็นคนมีน้ำใจ" มาตอบสนองตัวตนของตนเองได้โดยง่ายเพียงแค่ยกหูโทรศัพท์


ความทุกข์ยาก และชะตากรรมเลวร้ายของคนอื่นมักถูกแปรให้เป็นประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งให้ต่อสถาบันและบุคคลบางจำพวกได้อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น มันช่วยให้สื่อมวลชนและฝ่ายค้านหยุดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยรักไทยไปชั่วคราว นอกจาก "คลื่นยักษ์" จะช่วยหยุดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแล้ว รัฐบาลไทยรักไทยยังฉวยใช้โอกาสนี้เพื่อ "หาเสียง" ให้แก่ตนเองได้อีกด้วย


2


ประจวบเหมาะพอดีที่การเลือกตั้งใหญ่กำลังจะมาถึง และรัฐบาลไทยรักไทยก็กำลังอยู่ในช่วง "ขาลง" แต่แล้ว "ภัยธรรมชาติ" ก็กลับหยุดยั้ง "ขาลง" และความตกต่ำของรัฐบาลไทยรักไทยเสีย มากไปกว่านั้นผลพวงของ "ภัยธรรมชาติ" ยังช่วยผลักดันส่งเสริมทั้งทางตรงและทางอ้อมให้พรรคไทยรักไทยดูดีขึ้นไปอีก (และการ "ตายหมู่" ที่ "ตากใบ"อันเป็นผลงานของเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลก็ถูกลืมไปชั่วคราว)


เรื่องของ "ธรรมชาติ" จึงไม่ได้จำกัดขอบเขตเป็นแค่เรื่องของ "ธรรมชาติ" อีกต่อไป แต่มันยังส่งผลไปถึงปริมณฑลของวัฒนธรรมและเรื่องของการเมืองได้เช่นกัน


ในระดับบุคคล บางคนไม่สนใจเลยด้วยซ้ำว่า "เหยื่อ" ของคลื่นยักษ์สูญเสียอะไรไป และจริง ๆ แล้วคนที่เดือดร้อนต้องการอะไรในการบรรเทาทุกข์ พวกเขาและเธอต้องการเพียงแต่การ "แสดงออก" ถึงความเป็นห่วงเป็นใย ต้องการ "เล่นบท" เป็น "ผู้ให้" เท่านั้นเอง


ดาราบางคนฉลาดพอที่จะใช้โอกาสนี้ในการ "โปรโมท" ตนเอง ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับที่รัฐบาลไทยรักไทยทำ จึงเห็นได้ว่าผลพวงของ "ภัยธรรมชาติ" ถึงที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "การเมือง" อย่างมาก


อันที่จริง การเรียกผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์ว่า "เหยื่อ" ก็ดูเหมือนจะแฝงความหมายเชิงคุณค่าอะไรบางอย่างไว้ด้วย อยากจะตั้งข้อสงสัยว่าและคิดไปให้ไกลว่า วาทกรรมคำว่า "เหยื่อ" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง "เหยื่อ" จากการกระทำของคลื่นยักษ์เท่านั้น หากแต่เป็น "เหยื่อ" จากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็น "เหยื่อของความเห็นใจ" หรือ "เหยื่อของกิจกรรมการกุศล"


"กิจกรรมการกุศล" อาจเคยถูกถือว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงคุณความดีและการมีจิตใจที่สูงส่ง แต่อยากจะเน้นย้ำว่าในปัจจุบัน "กิจกรรมการกุศล" ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความดีงามอีกต่อไปแล้ว หากแต่มันเป็นงานของมืออาชีพ กิจกรรมการกุศลได้กลายเป็น "อาชีพ" อย่างหนึ่งในปัจจุบัน มีองค์การและหน่วยงานมากมายที่ทำงานทางด้าน "การกุศล" หรือหากินกับกิจกรรมการกุศล สาธารณชนจึงควรเข้าใจว่าองค์กรการกุศลต่าง ๆ ในปัจจุบันไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสียสละหรือการมีจิตใจดีงาม แต่มันเป็นองค์กรที่ไม่แตกต่างกับองค์กรอื่น ๆ ที่ต่างก็อยู่ได้ด้วยเงิน ซึ่งอาจจะแสวงหา "กำไร" หรือ "เงินตอบแทน" มากน้อยต่างกันไป


ความเสียหายที่เกิดจากคลื่นยักษ์ได้ช่วยให้บทบาทขององค์กรการกุศลโดดเด่น และมีความสำคัญขึ้นมาก เพราะองค์กรเหล่านี้มีความพร้อม และ "ความเชี่ยวชาญ" หลายประการในเรื่องเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าทันทีที่เกิดคลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ ด้วยความเป็นมืออาชีพ องค์กรการกุศลก็ตั้งจุดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วกรุงเทพ


3


เช่นนี้แล้ว จึงเห็นได้ว่า ความทุกข์ยากและชะตากรรมเลวร้ายของคนที่ประสบภัยพิบัติได้กลายมาเป็น "โอกาส" ให้ใครต่อใครนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถว่าใครจะนำมันไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้มากน้อยเพียงใด นี่ยังไม่นับรวมไปถึงว่ามี "มิจฉาชีพ" แฝงตัวสวมรอยเข้ามาหาประโยชน์และซ้ำเติมผู้ประสบภัยด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา


กระแสความช่วยเหลือที่เกิดขึ้นอย่างเอิกเกริกในขณะนี้ชวนให้ขบคิดไปว่า "ความเห็นใจราคาถูก" จะสามารถช่วยผู้เดือดร้อนได้จริง ๆ หรือเปล่า? และแน่ใจหรือว่าการช่วยเหลือนี้ไม่มี "การเมือง"แอบแฝงอยู่?