Skip to main content

ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ : พิธีกรรมสู่ความเป็นคนชั้นกลาง

คอลัมน์/ชุมชน

มีสถาบันมากมายที่มีหน้าที่ในการอบรมบ่มเพาะปัจเจกบุคคล ให้กลายไปเป็นสมาชิกที่พึงประสงค์ของสังคมไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน ฯลฯ และสถาบันการศึกษาก็เป็นหนึ่งในนั้น


สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา นอกจากจะเป็นแหล่งที่ให้ความรู้แก่นิสิตนักศึกษาและผู้ใฝ่รู้แล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตและฟูมฟักกล่อมเกลาชั้นดีให้ปัจเจกบุคคลเป็นสมาชิกของสังคม และเป็นสมาชิกของสังคมในฐานะที่เป็นคนชั้นกลางหรือเตรียมคนให้เป็นคนชั้นกลางในอนาคต ซึ่งจะมีบทบาทโลดแล่นอยู่ในสังคมต่อไป


และในแต่ละปี สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาซึ่งมีจำนวนไม่น้อยและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตก็ผลิตบุคลากรในสาขาวิชาต่าง ๆ ออกมามากมายอย่างยิ่ง (ซึ่งมากมายในเชิงปริมาณเสียมากกว่าที่จะมากมายในเชิงคุณภาพ)


ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า สถาบันการศึกษามีส่วนอย่างมากในการกำหนดทิศทางและความเป็นไปของสังคม และถ้าสถาบันการศึกษาใช้ตรรกะทางการตลาดมากำหนดความเป็นไปของตัวเองเสียแล้ว สังคมก็คงจะหวังพึ่งอะไรจากสถาบันนี้ได้ยาก และความเป็นจริงก็ได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่าประชาชนไม่อาจพึ่งอะไรสถาบันในระดับอุดมศึกษานี้ได้จริง ๆ


มีรูปแบบวิธีการมากมายที่สถาบันการศึกษาใช้ในการสร้างคนชั้นกลางดังประสงค์ออกมา เช่น ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอน ผ่านกิจกรรมการจัดตั้งของมหาวิทยาลัยรูปแบบต่าง ๆ ทั้งยังผ่านพิธีกรรมอันหลากหลาย และการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ก็เป็นพิธีกรรมรูปแบบหนึ่งที่สามารถใช้ในการก่อรูปก่อร่างบุคลิกลักษณะแบบคนชั้นกลางได้


การแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ของสองสถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนัยทางการเมืองที่ควรพิจารณาถึงอยู่ไม่น้อย การแข่งขันกีฬาเป็นเพียงสิ่งที่ถูกชูขึ้นมาเพื่อที่จะสื่อถึงอย่างอื่นที่นอกเหนือไปจากกีฬา เช่น ความเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาอันเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5


กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อม กิจกรรมฟุตบอลประเพณีนี้เป็นกิจกรรมที่หาสาระอะไรไม่ได้ ซึ่งหลอกให้นิสิตนักศึกษาหมกมุ่นชื่นชมอยู่กับสถาบันของตัวเองปีแล้วปีเล่า มันเป็นการบริโภคความหมายสัญญะว่าด้วยความเป็นผู้มีการศึกษา, มีปัญญาที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีระดับคะแนนสูงกว่าสถาบันอื่น ๆ, ความเป็นคนชั้นกลางที่มีอันจะกิน, ความเป็นอภิสิทธิ์ชน ฯลฯ


ภาพประกอบจาก http://sport.mweb.co.th


และลูกหลานชาวนาที่เผอิญพลัดหลงได้เข้ามาเรียนในสถาบันนี้ ก็ไม่ลังเลรีรอที่จะเลื่อนชั้นตัวเองด้วยการแสดงสถานะผ่านทางสัญญะต่าง ๆ และหลงลืมรากเหง้าที่มาของตนเองไปในที่สุดเมื่อสามารถกลืนเข้ากับคนอื่น ๆ ได้


นิสิตนักศึกษาบางคนรู้สึกภูมิอกภูมิใจที่ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมนี้อย่างขยันขันแข็ง จนแทบไม่ได้หลับได้นอน แต่กิจกรรมนี้ไม่มีประโยชน์อะไรต่อส่วนรวม (ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์) และแน่นอนว่าไม่เกี่ยวอะไรกับการเติบโตทางความคิดเลยแม้แต่น้อย (น่าสงสัยว่าทำไมนิสิตนักศึกษาจึงให้คุณค่าความสำคัญกับงานนี้กันนัก)


มีแต่เสียง boom หรือเสียง baka ดังโหวกเหวกจนแก้วหูแทบแตกตามที่สาธารณะต่าง ๆ อย่างเช่นในศูนย์การค้า เพื่อบ่งบอกถึงสถาบันที่ตัวเองสังกัด อีกทั้งงานนี้ยังเน้นความบันเทิงสนุกสนานมากเสียจนบดบังการใช้ปัญญาไปเสียหมดสิ้น


กล่าวอย่างถึงที่สุด กิจกรรมงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่ต่อต้านการใช้ปัญญาอย่างสร้างสรรค์ อันที่จริงประเพณีโดยส่วนใหญ่แล้วก็มักต่อต้านการตั้งคำถามทั้งสิ้น เพราะอะไรที่เป็นประเพณีก็มักถูกยอมรับและกระทำตาม ๆ กันไปอย่างเซื่อง ๆ ทั้งที่ประเพณีหลายอย่างไม่เหมาะสมกับยุคสมัยแม้แต่น้อย เช่นประเพณีการรับน้องซึ่งสะท้อนถึงลำดับชั้นและวัฒนธรรมอำนาจนิยม


คำถามง่าย ๆ ที่สามารถถามได้ก็คือว่า งานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์จัดขึ้นเพื่ออะไร ? และจัดขึ้นเพื่อใคร?


หลายคนอาจตอบโดยไม่ต้องคิดเพราะคำตอบมีอยู่แล้วก็คือว่าเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความสามัคคีของสองสถาบัน ถ้าคำตอบเป็นเช่นนี้ คำถามต่อมาก็คือแล้วฟุตบอลประเพณีเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความสามัคคีได้จริงหรือ?


คำตอบในที่นี้คือ "ไม่" การแข่งขันฟุตบอลประเพณีไม่เพียงพอแน่ ๆ ที่จะสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับที่เราไม่สามารถเชื่อมความสามัคคีระหว่างความเป็นไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเข้ากับความเป็นไทยพุทธผ่านการร้องเพลงปลุกใจจำนวนมหาศาล


ความสามัคคีไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างกันได้ง่าย ๆ เพราะมันต้องอาศัยสถานการณ์ และเงื่อนไขมากมายที่จะเอื้ออำนวยให้ความสามัคคีเกิดขึ้นได้ ลำพังแค่การเตะฟุตบอลกันปีละครั้งแล้วจะเกิดความสามัคคีจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และดูเหมือนว่าผลแพ้-ชนะจะสำคัญมากกว่าความสามัคคีที่ถูกอ้างว่าเป็นจุดประสงค์หลักของงานเสียด้วยซ้ำ


บางคนบอกว่า ฟุตบอลประเพณีแฝงไว้ด้วยสาระอยู่บ้าง เช่น มีขบวนล้อการเมือง แต่เอาเข้าจริงแล้วการล้อการเมืองในฟุตบอลประเพณีไม่ต่างอะไรจาก "สะเก็ดข่าว" ของช่องเจ็ดสีที่มีแต่อารมณ์ขันแบบคนชั้นกลางและเป็นเพียงสะเก็ดอย่างแท้จริง และผู้คนก็นิยมชมชอบมากกว่าข่าวเสียอีก


ขบวนล้อการเมืองได้ช่วยประดับประดาให้ฟุตบอลประเพณีมีความชอบธรรมมากขึ้น และช่วยปกป้องการวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่ไม่เห็นด้วยเท่านั้นเอง มันช่วยเคลือบความไร้สาระของกิจกรรมนี้ไว้เพื่อให้มันปรากฏออกมาอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนเกินไป


ที่น่าตลกมากก็คือหลังจากการแข่งขันฟุตบอลประเพณีเสร็จสิ้นลง บรรดานิสิตและนักศึกษาของทั้งสองสถาบันก็ออกเที่ยวตามสถานบันเทิงทั้งที่ยังสวมเสื้อเชียร์ ซึ่งบางปีสถานบันเทิงบางแห่งก็เปิดให้นิสิตนักศึกษาของทั้งสองสถาบันเข้าเที่ยวฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าบัตรผ่านประตู (ความเป็นจุฬาลงกรณ์และความเป็นธรรมศาสตร์จึงเพ่นพ่านไปทั่วกรุงเทพ)


ดังนั้น ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์นั้นเป็นงานบันเทิงอย่างแท้จริง (น้องนิสิตนักศึกษาบางคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องปีหนึ่งดื่มเหล้าเข้าผับเป็นครั้งแรกในวาระนี้)


และนอกจากมันจะเป็นงานบันเทิงแล้ว ประเพณีนี้ยังเป็นการเหมือนกับการเฉลิมฉลองความเป็นจุฬาลงกรณ์ (ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา) ความเป็นธรรมศาสตร์ที่รักประชาชน! (ช่างเป็นคำกล่าวที่ถูกนำมาใช้ด้วยจุดประสงค์ที่น่าเคลือบแคลงไม่น้อย)


หากมองว่าฟุตบอลประเพณีเป็นเหมือนพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านสู่สถานะของการเป็นคนชั้นกลาง ซึ่งเถลิงอภิสิทธิหลายประการในสังคมก็คงจะเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาประเพณีนี้ไว้ต่อไป!



ภาพประกอบจาก http://sport.mweb.co.th