Skip to main content

ทักษิณนิยม

คอลัมน์/ชุมชน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ผ่านมาของสังคมการเมืองไทย มีปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจและดูเหมือนว่าเหลือเชื่อหลายประการเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะของการเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก


ข้อสังเกตที่น่าสนใจอันหนึ่งจากปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ชี้ให้เห็นก็คือ การเมืองไทยเป็นเรื่องที่ยากต่อการทำนายและคาดเดา ยากต่อการทำนายและคาดเดาเพราะมีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ไม่มากนักในบุคลิกลักษณะของการเมืองไทยที่เหวี่ยงกลับไปกลับมาไม่อยู่นิ่ง ซึ่งถ้าว่าไปแล้วก็อาจถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่มองมันอยู่ห่าง ๆ


การเมืองไทยที่ยากต่อการทำนายและคาดเดาก่อให้เกิดผลหลายประการด้วยกัน ทั้งในแง่ของการออกแบบรูปลักษณ์ของการเมืองที่พึงประสงค์และพึงจะเป็น และที่เห็นได้ชัดเจนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคือการไม่สามารถที่จะทำนายได้ ซึ่งก็ส่งผลให้หลายต่อหลายคนที่ทำนายผิดได้รับความบอบช้ำไปไม่น้อย


นักการเมืองผู้ซึ่งคลุกคลีคร่ำหวอดกับการเมืองไทยมายาวนานบางท่านเอ่ยปากยอมรับถึงการประเมิน และการคาดการณ์ที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ของตนเอง แม้กระทั่งนักวิชาการหลาย ๆ ท่านก็ยัง "สำคัญผิด" อย่างมากในเรื่องที่เกี่ยวกับผลการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคมหาชนเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้


ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ได้ทำให้การเมืองไทยกลายเป็นระบบ "พรรคเดี่ยว" ไปแล้วโดยปริยาย ส่วนพรรคอื่นเป็นได้แค่เพียง "ส่วนขยายที่อยู่ตรงข้าม" เท่านั้น พรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวสามารถจัดตั้งรัฐบาลท่ามกลางความหวั่นวิตกไปต่าง ๆ นานาของพวกคนชั้นกลางและพวกนักวิชาการ (ซึ่งถือตนว่ามองการณ์ไกลมีวิสัยทัศน์กว่าคนอื่น ๆ) คนเหล่านี้สามารถที่จะมองเห็นอนาคตที่เต็มไปด้วยความเลวร้ายเมื่อหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง


ซึ่งถ้าว่าไปแล้วการจินตนาการถึงอนาคตที่เลวร้ายภายใต้รัฐบาลทักษิณของพวกนักวิชาการ เป็นเหมือนกันการ "เขียนเสือให้วัวกลัว" เสียมากกว่า นักวิชาการหลายท่าน ตลอดจนพวกชนชั้นกลางบางส่วนซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อสกัดกั้นพรรคไทยรักไทย แต่ข้อเท็จจริงของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็คือ พวกคนชั้นกลางและนักวิชาการที่ส่งเสียงโหวกเหวกวิพากษ์วิจารณ์พรรคไทยรักไทยมาตลอดนั้นก็ "มีเพียงหนึ่งเสียง" เท่ากับประชาชนคนเดินดินและชาวบ้านชนบท


ความจริงที่รู้ ๆ กันอยู่ก็คือการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นวัดกันที่ปริมาณไม่ใช่คุณภาพ นี่เป็นเรื่องที่นักวิชาการและชนชั้นกลางรู้กันดี แต่ทั้งที่รู้กันดีก็ไม่วายที่จะอด "ประณาม" หรือ "ดูแคลน" การตัดสินใจของคนที่เลือกพรรคไทยรักไทยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประณามและดูแคลนคนชั้นล่าง เป็นเรื่องที่ออกจะ "ตลกร้าย" อยู่ไม่น้อย หากจะบอกว่าพวกนักวิชาการและพวกคนชั้นกลางเป็นพวกที่มีคุณภาพมากกว่าคนระดับล่าง (เพราะไม่รู้เอาอะไรมาวัด? หรือสมมุติว่ามีมาตรวัดได้ก็เป็นมาตรวัดของคนชั้นกลางเองที่คิดประดิษฐ์กันขึ้นมา) และเป็นเรื่อง "หน้าไหว้หลังหลอก"


หากจะบอกว่า การตัดสินใจ "ไม่เลือก" พรรคไทยรักไทยของนักวิชาการและคนชั้นกลางบางส่วนเป็นการตัดสินใจที่ "ถูกต้องกว่า" คนจน ๆ และคนชนบทที่เลือกพรรคไทยรักไทยเพราะ "ไม่รู้ทันทักษิณ" (อาจารย์ท่านหนึ่งวิเคราะห์ว่าที่พรรคไทยรักไทยชนะในเขตกรุงเทพนั้น ชนะเพราะคนชั้นล่างที่ย้ายมาจากบ้านนอกและกลุ่มนักธุรกิจให้การสนับสนุน แต่ "คนกรุงเทพแท้ ๆ" นั้นไม่เลือกพรรคไทยรักไทย)


ในขณะที่พวกนักวิชาการคนชั้นกลางในกรุงเทพนั้นไม่เลือกพรรคไทยรักไทยเพราะ "รู้ทันทักษิณ" (การ "รู้ทันทักษิณ" ช่วยให้บางคนได้เงินเป็นกอบเป็นกำจากการขายหนังสือ จนมีหนังสือในแนวนี้ออกมาหลายเล่มหลายสไตล์เพื่อแย่งส่วนแบ่งในตลาด ซึ่งล้วนแล้วแต่ขายได้และขายดี ในแง่นี้วาทกรรมการ "รู้ทันทักษิณ" ก็ได้ "กลายเป็นสินค้า" ของคนที่รู้จักฉวยโอกาส หาประโยชน์-นับเป็นความสามารถที่ไม่ต่างไปจากนักการตลาดและนักการเมืองสักเท่าไหร่นัก) ที่ใช้คำว่า "หน้าไหว้หลังหลอก" กับนักวิชาการและคนชั้นกลาง ก็เพราะว่านักวิชาการคนชั้นกลางผู้ซึ่งเทิดทูนระบอบประชาธิปไตย เทิดทูนและพร่ำพูดถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เอาเข้าจริงแล้วกลับ "ไม่เคารพ" สิทธิและการตัดสินใจของคนอื่น คนอื่นที่เป็นเสียงข้างมากเสียด้วย งานของนักวิชาการคนชั้นกลางจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการวิพากษ์รัฐบาลและดูแคลนคนอื่น


ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ประการหนึ่ง ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอำนาจในฐานะผู้ปกครองของพันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร นั้นอาศัย "คุณธรรม (virtu)" ของตนเองเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่ามากชนิดที่คู่แข่งคนอื่น ๆ สู้ไม่ได้ (คุณธรรมในที่นี้ใช้ในความหมายในบริบทความคิดที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง The Prince ของมาคิอาเวลลี(Machiavelli) หรือในสำนวนแปลชั้นครูว่า "เจ้าผู้ปกครอง" โดยสมบัติ จันทรวงศ์)


แน่นอนว่า การก้าวสู่ความเป็นผู้นำประเทศของท่านทักษิณ ชินวัตร อาศัยโชคและจังหวะสถานการณ์ช่วยอยู่บ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว "คุณธรรม(virtu)" ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในครั้งนี้ของท่านทักษิณ


เมื่อหันไปมองคู่แข่ง (ผู้นำพรรคการเมือง) คนอื่น ๆ ท่านทักษิณ ชินวัตร เคยใช้คำว่า "ไม่อยู่ในสายตา" สำหรับคู่แข่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นคำกล่าวที่น่าจะถูกต้องและให้ความรู้สึกที่สะสาแก่ใจสำหรับผู้ที่เชียร์พรรคไทยรักไทย แต่คงเป็นคำที่สร้างความเจ็บแสบไม่น้อยให้กับบรรดาคู่แข่งที่ไร้ความสามารถตามที่ท่านทักษิณบอกไว้


นับว่าเป็นทั้งความ "โชคดีและโชคร้าย" ของการเมืองและของสังคมไทยที่ไม่มี "ตัวเลือก" ที่ทัดเทียมสูสีในแง่ "คุณธรรมความสามารถ (virtu)" กับท่านทักษิณ ชินวัตร มาให้เลือก ดังนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้ที่หัวหน้าพรรคไทยรักไทยจะขึ้นเป็นผู้นำอีกประเทศคำรบหนึ่งด้วยเสียงสนับสนุนจากมหาชนที่ทิ้งห่างขาดลอย (พรรคประชาธิปัตย์นั้น อาจพอเป็นคู่แข่งพรรคไทยรักไทยได้ในแง่ของการตีฝีปากเล่นสำนวนและคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แต่การเล่นการเมืองและการเอาชนะใจประชาชนลำพังแค่การตีฝีปากเล่นโวหารแต่อย่างเดียวหาเพียงพอไม่)


พอที่จะกล่าวได้ว่าดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็น "เจ้าผู้ปกครองที่มหาชนสนับสนุน" ไม่ว่ามหาชนนั้นจะโง่หรือฉลาดก็ตามที และมหาชนนั้นก็ "เอาใจ" ง่ายกว่าคนชั้นกลางขี้หงุดหงิดและนักวิชาการผู้รู้ทัน นี่เป็นสิ่งที่ท่านทักษิณตระหนักเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม หัวหน้าพรรคไทยรักไทยไม่อาจซื้อใจคนภาคใต้ได้ ไม่ใช่ว่าคนภาคใต้ฉลาดกว่าคนภาคอื่น แต่เป็นเพราะเงื่อนไขหลาย ๆ ประการด้วยกัน ซึ่งต้องใช้เวลาและ "ท่าที" ที่จะทำให้คนใต้ "เชื่อ" ว่ารัฐบาลมีความจริงใจต่อพี่น้องคนใต้ (ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของท่านทักษิณจะซื้อใจคนใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วยการหยุดการใช้ความรุนแรง)


ต้องรอดูกันต่อไปว่าลัทธิทักษิณนิยม จะนำพาสังคมการเมืองไทยไปสู่อะไร รอดูอยู่ห่าง ๆ โดยไม่ต้องกระโตกกระตาก ตกอกตกใจและ "เขียนเสือให้วัวกลัว" ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น