Skip to main content

ใจมีไว้เปลี่ยน...เปลี่ยนไปดำน้ำ (กันเถอะ)

คอลัมน์/ชุมชน

เรื่องที่อยากเขียนในวันนี้ สืบเนื่องจากการนั่งดูข่าวทางทีวีเกี่ยวกับการรับอาสาสมัครดำน้ำเพื่อฟื้นฟูสภาพแหล่งท่องเที่ยวใต้ท้องทะเลอันดามัน จึงทำให้ตนเองได้เห็นภาพความสวยงามใต้ท้องทะเลซ้ำ ๆ และซ้ำ ๆ จนเก็บไปฝันว่า ตนเองได้ไปเที่ยวดำน้ำท่ามกลางฝูงปลาการ์ตูนมากมายมหาศาล


แต่เมื่อตื่นจากฝัน ตนเองก็หมดความสนใจเรื่องดำน้ำ เพราะคิดว่า การดำน้ำเป็นการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มผู้มีสตางค์และจะต้องมีทักษะการว่ายน้ำที่เก่งกาจ แต่ตัวเองนั้นนอกจากจะเป็นผู้มีฐานะ (ยากจนโคตร) แล้ว ยังมีความฉมังในการว่ายน้ำได้เพียงท่าเดียวคือ ท่าลูกหมาตกน้ำ ดังนั้น การดำน้ำ จึงไม่เคยแวะเวียนเข้ามาเคาะประตูใจ


จนกระทั่ง บังเอิญได้คุยเรื่องดำน้ำกับหน่อง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชาวเกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี ที่หลงใหลกับการดำน้ำและมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นครูดำน้ำ (instructors) เพื่อที่จะนำไปสู่การประกอบอาชีพ และมีส่วนช่วยสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลให้ดำรงอยู่ ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) คือ เที่ยวอย่างมีสำนึกรับผิดชอบต่อการรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ตลอดไป และรักษาธรรมชาติคงเดิม


หน่องเล่าว่า การดำน้ำลึก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า scuba diving นั้น ไม่ใช่เรื่องยาก ใคร ๆ ก็ดำน้ำได้แม้ว่าจะว่ายน้ำไม่เป็น (ฮ้า..ตะลึงตึง ๆ) และจ่ายเพียง ๖ พันบาทก็สามารถเรียนหลักสูตรพื้นฐานเพื่อเปิดโลกการดำน้ำ (open water ๑) ได้ที่เกาะเต่า ซึ่งเป็นการเรียนรวดเดียว ๔ วันจบไปเลย หน่องทิ้งท้ายไว้ให้คิดว่า หากเราเรียนจบได้บัตรดำน้ำจะเป็นการเปิดประตูจากพื้นพิภพสู่โลกสวยงามใต้ทะเลได้ทั่วโลกที่มีบริการดำน้ำลึก




ตนเองเลยใช้เวลาวันหยุดไปร้านหนังสือใกล้บ้าน เพื่อหาซื้อคู่มือที่จะทำให้เกิดความรู้และเข้าใจเรื่องการดำน้ำเพิ่มขึ้น พบว่ามีหนังสือเกี่ยวกับการดำน้ำอยู่เพียง ๔ เล่ม ลองพลิกอ่านไปมาทุกเล่ม แล้วตกลงใจเลือกซื้อหนังสือชื่อ "ดำน้ำสู่อัศจรรย์แห่งทะเลลึก" พิมพ์ครั้งที่ ๓ ซึ่งผู้เขียนคืออภินันท์ บัวหภักดี ผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักเขียนและช่างภาพใต้น้ำรุ่นบุกเบิกที่มีผลงานระดับคลาสสิกคนหนึ่งของเมืองไทย


หนังสือเล่มนี้นอกจากให้ความรู้เรื่องขั้นตอนการเรียนดำน้ำแล้ว ยังกล่าวถึงแหล่งดำน้ำที่สำคัญของประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำประเภทแนวกองหินใต้น้ำ ที่ซึ่งจะมีปะการังชนิดต่าง ๆ เกาะอยู่มากมายและมีฝูงปลานานาชนิดเข้ามาอาศัยอยู่ในแนวปะการังเหล่านั้น ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ดังนี้


หนึ่ง ฟากฝั่งทะเลอันดามัน แบ่งเป็นอันดามันเหนือ ได้แก่ เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ และอันดามันใต้ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา ทะเลกระบี่ ทะเลพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา และอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา


สอง แหล่งดำน้ำฟากฝั่งทะเลอ่าวไทย ประกอบด้วยอ่าวไทยตอนบนได้แก่ ทะเลชุมพร เกาะเต่า เกาะพงัน อ่าวไทยตอนล่าง ได้แก่ เกาะกระ เกาะโลซิน อ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ ทะเลชลบุรี ระยองและตราด


ซึ่งอภินันท์ ได้เล่าประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวใต้ทะเลลึกในแหล่งดำน้ำแต่ละแห่งข้างต้นและแหล่งดำน้ำบางแห่งในต่างประเทศอย่างละเอียด และมีหลากหลายรสชาติทั้งสนุก แสบสัน โหดมันและเฮฮา รวมทั้งการรวบรวมภาพสวย ๆ ใต้ท้องทะเลอีกด้วย (จ้า)


บทส่งท้าย คือ การเลือกซื้ออุปกรณ์ดำน้ำที่จำเป็นได้แก่ หน้ากากดำน้ำ (mask) ท่อหายใจ (snorkel) ตีนกบ (fins) อุปกรณ์ทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่นักดำน้ำทุกคนจะต้องมีไว้ใช้ ตั้งแต่เริ่มแรกเรียนดำน้ำ ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ สามารถใช้เช่าไปก่อนได้ มีเงินเมื่อไหร่ค่อยซื้อไว้เอง ได้แก่ ชุดช่วยหายใจ (regulator) เสื้อชูชีพดำน้ำ (buoyancy control device) และชุดดำน้ำ (suit) เป็นต้น


เอาละ...ตอนนี้ ความรู้พร้อม กายพร้อมแล้ว มีใครบ้างที่ใจเปลี่ยน..เปลี่ยนใจไปเรียนดำน้ำบ้าง??? ยกมือขึ้น จะได้ไปร่วมด้วยช่วยกันเป็นอาสาสมัครฟื้นฟูธรรมชาติใต้ทะเลอันดามันกันไง..ไปเร็ว..(เย้ เย้)