Skip to main content

เรียนต่อ

คอลัมน์/ชุมชน

ช่วงปลายปีมาจนถึงปลายกุมภาพันธ์ บรรยากาศเป็นช่วงเย็นสบาย ไม่ร้อน ไม่เฉอะแฉะ มีเทศกาลต่าง ๆ ให้ได้ร่วมสนุกสนานและผ่อนคลาย


ล่าสุดคือวันวาเลนไทน์ ที่เยาวชนถูกเฝ้าติดตามพฤติกรรมแบบไม่ให้คลาดสายตา แต่ก็คงไม่ได้ช่วยให้เยาวชนได้ประสบกับทางเลือกที่หลากหลายเพียงพอในการดำรงวิถีชีวิตทางเพศ นอกจากสูตรเดิม ๆ คือรักนวลสงวนตัว (เฉพาะผู้หญิง) มีเพศสัมพันธ์ในวัยอันควร (ไม่รู้ว่าเมื่อไร) และการตรวจตราโรงแรมม่านรูด ไม่เห็นตำรวจออกมารายงานว่าได้ผลเป็นอย่างไรกันบ้าง ช่วยให้เยาวชนผ่านพ้นวันเทศกาลอย่างมีความสุข ไม่มีทุกข์ตามมาได้มากน้อยเพียงใด


จากนี้ไปอีกสองสามเดือนข้างหน้า อาจมีเยาวชนหลายคนต้องพึ่งบริการทำแท้ง หากรู้เรื่องการป้องกันตนเอง มีทางเลือกในการป้องกัน มีบริการและเครื่องมือเพียงพอในการป้องกัน น่าจะช่วยลดปัญหาที่ตามมาได้บ้าง เยาวชนมีความหลากหลายทั้งความคิด ความเชื่อ ความรู้ ประสบการณ์ สภาพครอบครัว สภาพแวดล้อม สภาพโรงเรียน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยต่อพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต


ระหว่างที่สนุกสนานกับวันวาเลนไทน์ หลายคนก็กำลังอยู่ในช่วงสอบปลายภาค สอบเอนทรานซ์ สอบเรียนต่อไปด้วย และนี่ก็เข้าเทศกาลหาที่เรียนต่อของนักเรียนมัธยมปลายทั่วประเทศ


สิ่งที่ต้องคิดและเลือกคือ อยากเรียนอะไร ที่ไหน ราคาเท่าไร สะดวกไหม พ่อแม่ไหวไหม มีเพื่อนไปเรียนด้วยกันไหม ที่สุดแล้วมีความสามารถสอบเข้าได้ไหม หลายคนสอบได้แต่ติดขัดไม่มีเงินค่าใช้จ่ายเพียงพอ


ที่ผ่านมา มีทางเลือกให้ครอบครัวคือ กู้เงินนอกระบบ กับในระบบ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยเหลือนักเรียนมัธยมปลายและอุดมศึกษาให้มีเงินค่าเรียน ค่าอุปกรณ์ ค่ากินอยู่ ค่าหอพัก มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา มี พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษารองรับ รัฐจ่ายเงินแต่ละปีรวมกันจนถึงปี พ.ศ.2548 ประมาณสองแสนล้านบาท มีผู้กู้ไปแล้วประมาณสองล้านสามแสนถึงสองล้านห้าแสนคน ในจำนวนนี้มีผู้จบการศึกษาไปแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดแสนราย และหลายคนเริ่มทยอยใช้คืนแต่ก็มีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ใช้คืน และมีหลายคนอยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางกฎหมาย คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครต้องติดคุกเพราะกู้ยืมเรียนกันบ้าง


แนวทางแก้ปัญหาให้คนมีโอกาสได้เรียนหนังสือด้วยวิธีให้กู้ยืมเงิน ไม่แน่ว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดต่อการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตเด็กและเยาวชนไทย ที่สมควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ มีการศึกษา มีงานทำ ซึ่งขณะนี้แม้แต่โอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาที่ตนเองพึงพอใจ สนใจ และมีความสามารถก็ไม่อาจเป็นจริงได้ หากขาดแคลนทุนการศึกษา


การกู้ยืมแล้วไม่อาจใช้คืนได้อาจเป็นตราประทับในใจของเยาวชนรุ่นใหม่ตลอดไป จะมีสิ่งใดเป็นความหวังและกำลังใจให้เยาวชนได้ว่า รัฐและสังคมได้ให้ความใส่ใจต่อการมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคงปลอดภัยของพวกเขา แม้แต่การได้เรียนหนังสือยังต้องกู้ยืม รัฐไม่มีหลักประกันทางการศึกษา เหมือนกับที่มีในเรื่องหลักประกันสุขภาพ คือทุกคนเท่าเทียมกันไม่ว่าจนหรือรวยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ขอเพียงจ่ายค่าธรรมเนียมคนละ 30 บาทก็พอ คนรวยไม่อยากมาใช้บริการก็ได้ จะเลือกใช้บริการเอกชนแล้วจ่ายเงินเองก็ได้ไม่มีใครว่า เพราะว่ารัฐได้นำเงินภาษีของทุกคนไม่ว่าภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม (ภาษีมูลค่าเพิ่ม คนจนส่วนใหญ่จ่ายภาษีนี้เยอะกว่าคนรวยที่มีหยิบมือเดียว) มาจ่ายเป็นหลักประกันสุขภาพแล้ว เช่นเดียวกันขณะนี้ภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐจัดการศึกษาฟรียกเว้นค่าเทอมตั้งแต่ชั้นประถม 1 ถึง มัธยม 6


ทั้งนี้ รัฐยังลงทุนด้านการศึกษา ด้วยการจ่ายทั้งค่าแรงครู ค่าอาคารสถานที่ ค่าพัฒนาหลักสูตร ค่าอื่น ๆ ให้กับกระทรวงศึกษาธิการด้วย แต่ขณะเดียวกัน รัฐก็เปิดโอกาสให้โรงเรียนเรียกเก็บเงินอื่น ๆ ได้ เช่น ค่าทัศนศึกษา ค่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ค่ารายงาน และอื่น ๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นภาระของครอบครัวที่รายได้ไม่มาก พอมีพอกินไปวัน ๆ การให้กู้ยืมเงินในระดับมัธยมปลายเป็นทางออกหนึ่งที่รัฐได้ดำเนินการมา แต่อย่างที่ให้ความเห็นไว้ตอนต้น หากในอนาคตไม่อาจใช้คืนได้ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จะส่งผลต่อจิตใจและความมั่นคงในชีวิตเยาวชนรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างแน่นอน


สำหรับการศึกษาขั้นอุดมศึกษาก็เช่นกัน ขณะนี้จำนวนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะการยกฐานะของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และราชมงคล แต่ความสามารถในการเข้าเรียนยังมีข้อจำกัด รัฐจัดให้มีกองทุนเพื่อกู้ยืมโดยเท่าเทียมกัน คนรวยคนจนก็กู้ยืมได้ และใช้คืนเมื่อมีความสามารถ มีรายได้มีงานทำ ซึ่งจะเป็นเงินกู้ก้อนโตมาก ๆ เนื่องจากค่าหน่วยกิตของทุกสถาบันจะสูงขึ้นเรื่อย ๆตามต้นทุน คนจนจะเข้าถึงกองทุนกู้ยืมนี้ได้มากน้อยเพียงใด จะกล้าเป็นหนี้มากเพียงใด เพราะยังไม่มั่นใจว่าเรียนจบแล้วจะมีรายได้พอใช้คืนให้รัฐได้


แนวทางการสนับสนุนให้เยาวชนทุกคนที่ต้องการเรียนต่อได้เรียนอย่างมั่นใจ และปลอดภัยจากการล้มละลาย น่าจะเหมาะสมมากกว่ากองทุนให้กู้ยืม ซึ่งน่าเป็นเรื่องที่ขบคิดร่วมกัน การจัดการศึกษาฟรีให้ทุกคนในระดับมหาวิทยาลัยเป็นไปได้หรือไม่ การสร้างงานให้นักศึกษาทำไปด้วยเรียนไปด้วยเป็นไปได้หรือไม่ การจัดการศึกษาระดับวิทยาลัยในท้องถิ่นที่เป็นวิชาชีพสามารถหางานทำได้และค่าใช้จ่ายในการเรียนไม่สูงมาก คงเป็นเรื่องที่สังคมต้องร่วมกันคิดหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป โดยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้


น่าจะมีการพูดคุยหาทางออกเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และมีคำตอบสำหรับเยาวชนที่กำลังหาที่เรียนต่อ กันในฤดูกาลนี้ต่อไปด้วย