Skip to main content

ความเป็นดาราของนักวิชาการ

คอลัมน์/ชุมชน

1


คนที่จะมาเป็น " ดารา " มีชื่อเสียงโด่งดังได้ ไม่จำเป็นต้องหน้าตาดี และคนที่หน้าตาดีจำนวนมากก็ไม่สามารถที่จะเป็น " ดารา " ได้ เพราะการเป็น " ดารา " นอกจากขึ้นอยู่กับรูปร่างหน้าตาแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสามารถอย่างอื่นอีกด้วย ยิ่งประเภทที่เป็น " ดาวค้างฟ้า " ด้วยแล้ว ย่อมต้อง " มีดี " มากพอสมควรถึงจะค้างอยู่ที่สูงได้นาน


ความสามารถในที่นี้อาจเป็นความสามารถในการแสดงที่ " ตีบทแตก " กระจุยกระจายจนประทับใจผู้ชม หรืออาจเป็นความสามารถในการ " สร้างภาพ " เพื่อโปรโมทตัวเองหรืออาจเป็นความสามารถในการสร้างเครือข่ายกับสื่อมวลชนหรือกับผู้กำกับที่อาจช่วย " ปั้น " ให้ดังได้ ในแง่นี้ การเป็น " ดารา " จึงจำเป็นต้องเล่น " การเมือง " บ้างจะมากจะน้อยก็แล้วแต่สถานการณ์


แต่ความสามารถในการเล่น " การเมือง " เป็นสิ่งที่มีไม่เท่ากันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับทักษะการฝึกฝนเรียนรู้และบุคลิกของแต่ละคน


นักการเมือง เป็นบุคคลประเภทหนึ่งที่มีความสามารถในการเล่นการเมืองสูง นี่เป็นสิ่งที่รู้กันดีเพราะถ้าเล่นการเมืองไม่เป็น อ่านเกมไม่ขาด วางหมากผิด ย่อมต้องพบกับความเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้เป็นธรรมดา แต่นอกจาก " นักการเมืองอาชีพ " แล้วบุคคลในอาชีพอื่นก็มีความสามารถในการ " เล่นการเมือง " ที่ไม่ด้อยไปกว่า " นักการเมืองอาชีพ " แต่อย่างใด


อาชีพ นักวิชาการ ดูเหมือนว่าไม่จำเป็นต้องเล่นการเมืองก็น่าจะดำรงชีพอยู่ได้ตามปกติ รอรับเงินเดือนไปเดือน ๆ แบบข้าราชการทั่ว ๆ ไป หรือแสวงหาเงินก้อนจากการวิจัยไปตามเรื่องตามราว แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าแล้วแต่เป็นนักวิชาการประเภทไหน เพราะความจริงก็คือนักวิชาการนับวันก็มีความแตกต่างหลากหลายกันมากยิ่งขึ้นทุกวัน


มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ยอมรับใช้นักการเมืองหรือนายทุนโดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณ มีนักวิชาการอีกมากที่กระทำตัวเยี่ยงมนุษย์เงินเดือนและไม่เคยคิดถึงความก้าวหน้าทางวิชาการใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งอาจพอเรียกได้ว่ามีความเป็นข้าราชการมากกว่าความเป็นนักวิชาการ มีนักวิชาการอีกจำนวนหน ึ ่งที่ทำตัวเป็นนักเคลื่อนไหวคอยออกมาเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมเป็นครั้งคราว


นักวิชาการเป็นอาชีพ และวิชาชีพอย่างหนึ่งที่นอกจากจะสร้างรายได้ในการดำรงชีพให้มากน้อยต่างกันในแต่ละคนแล้ว ยังอาจสร้างชื่อเสียงหรือสร้างความเป็นดาราเด่นดังให้กับเจ้าตัวได้อีกด้วย เพราะนักวิชาการมี " ต้นทุนทางวิชาการ " มากกว่ากลุ่มคนในอาชีพอื่น


ความรู้และความรู้เท่าทันเป็นสิ่งที่สังคมโลกที่สามซึ่งก็รวมถึงสังคมไทยขาด ดังนั้นคนที่พอมีความรู้อยู่บ้างจึงมีความสำคัญและได้รับการยอมรับ และถ้าว่าไปแล้ว ต้นทุนทางวิชาการนอกจากเป็นเรื่องของความรู้แล้ว ยังเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับเรื่องอำนาจอีกด้วย


ความรู้สามารถแปรไปเป็นอำนาจได้ คนที่มีความรู้เป็นผู้ที่มีอำนาจ เป็นต้นว่าอำนาจในความรู้ของแพทย์สามารถชี้เป็นชี้ตายแก่ชีวิตคนได้ ทั้งที่ความรู้บางประการของแพทย์มาจากการลองผิดลองถูกและผิดพลาดคลาดเคลื่อน และก็มีตัวอย่างมากมายที่พอจะชี้ให้เห็นว่าความรู้ของแพทย์สร้างความหายนะให้เกิดขึ้นหลายต่อหลายกรณี


ความรู้ของแพทย์เป็นความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ที่ว่ากันว่ามีความเป็นเหตุเป็นผล เพราะผ่านการพิสูจน์ทดลองมาแล้ว ( คำยืนยันรับรองของแพทย์มีน้ำหนักและน่าฟังเสมอแม้ว่าหลายครั้งจะเต็มไปด้วยอคติก็ตาม ) อย่างไรก็ตาม ความรู้ในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ก็สามารถอ้างถึงความเป็นเหตุเป็นผลที่เป็นไปตามหลักวิชาได้เช่นกัน


ดังนั้น นอกจากแพทย์และนักวิทยาศาสตร์แล้ว นักสังคมศาสตร์และนักมนุษยศาสตร์ก็สามารถนำความรู้มาแปลงเป็นทุนและอำนาจได้ไม่ต่างจากแพทย์และนักวิทยาศาสตร์



2


เมื่อนักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ซึ่งแน่นอนว่าอ้างอิงตัวเองเข้ากับอำนาจของความรู้พูดอะไรเกี่ยวกับสังคมหรือนำความรู้ของตัวเองออกสู่สังคม ไม่ว่าจะออกมาในรูปลักษณะใดก็ย่อมได้รับการต้อนรับจากสังคม ยิ่งนักวิชาการที่นักเป็นเคลื่อนไหวตามลักษณะที่ดีตามแบบของนักวิชาการในสังคมไทยด้วยแล้ว สังคมก็ยิ่งสนใจฟัง


อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าสังคมจะสนใจฟังการวิเคราะห์วิจารณ์ที่ถูกบ้างผิดบ้างของนักวิชาการที่มีความรู้ทุกคนไป นักวิชาการบางคนแม้นมีความรู้ลึกซึ้ง หากจับจังหวะอารมณ์ของสังคมหรือของสื่อไม่ถูก ออกมาพูดผิดสถานการณ์หรือนำเสนอความรู้ด้วยลีลาเคร่งครัด เคร่งเครียดเกินไป ก็อาจได้รับความนิยมจากสาธารณชนได้ไม่มากนัก


ยิ่งสาธารณชนที่เป็นคนชั้นกลางด้วยแล้ว อะไรที่มีน้ำเสียงเคร่งเครียดจริงจังเกินไป คนเหล่านี้มักจะรับไม่ได้ ดังนั้นนักวิชาการที่เป็นคนชั้นกลางและรู้จักคุ้นเคยกับอารมณ์และจริตของคนเหล่านี้ดี จึงต้องเน้นการนำเสนอการวิเคราะห์วิจารณ์ที่เปี่ยมด้วยลีลาสีสัน


การสร้างลีลาสีสันให้กับความรู้ทางวิชาการ อย่างที่นักวิชาการคนชั้นกลางทำกันอยู่ผ่านการวิเคราะห์การเมือง เศรษฐกิจ หรือผ่านการวิพากษ์ยั่วยุนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล นอกจากจะทำให้เรื่องราวทางวิชาการง่ายต่อการบริโภคหรือมีลักษณะที่เป็นสาธารณ์แล้ว ยังทำให้นักวิชาการกลายมาเป็นดาราที่มีชื่อเสียงไม่แพ้ดาราละครน้ำเน่าหลังข่าวได้อีกด้วย


ความปรารถนาที่จะเป็นดาราดังหรือปรารถนาที่จะมีชื่อเสียงได้รับการพูดถึงยอมรับ น่าจะเป็นความปรารถนาที่ทุกคนมี มันช่วยเสริมตัวตนให้ยิ่งใหญ่ขึ้นและชดเชยปมด้อยบางประการที่มีอยู่ แต่มีบางคนหรือคนบางจำพวกเท่านั้นที่ทำได้ และนักวิชาการก็เป็นคนจำพวกหนึ่งที่ทำได้สำเร็จอย่างน่าชมเชยผ่านการวิเคราะห์วิจารณ์สังคมการเมือง


อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวตอนต้นแล้วว่านักวิชาการมีความหลากหลาย นักวิชาการจำนวนไม่น้อยแม้นอยากมีชื่อเสียงแต่ก็ทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดี และอาจมีนักวิชาการบางประเภทที่ปรารถนาจะมีความสุขอยู่กับงานวิชาการมากกว่าจะมีความสุขกับการเป็นดารามีชื่อเสียง แต่นักวิชาการประเภทนี้น่าจะเป็นข้อยกเว้น และควรจะจัดไว้ให้เป็นปูชนียบุคคลที่ควรแก่การเคารพ


ความเป็นดาราของนักวิชาการเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และควรจะมีการวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างจริงจังว่าการออกมาเคลื่อนไหวของนักวิชาการโดยอาศัยความบ้องตื้นของสื่อนั้นมี " ประโยชน์ทางวิชาการ " มากน้อยเพียงใด หรืออาจถามได้ว่า การวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองแบบที่เน้นสีสันเพื่อให้เกิดความเด่นดังตกเป็นข่าวนั้นมี " พลัง " ต่อสังคมการเมืองมากน้อยเพียงใด หรือว่าเป็นเพียงลมปาก วูบมาแล้วก็วูบไป


และถ้านักวิชาการทำได้แค่อาศัยความรู้เพื่อสร้างความวูบวาบฉาบฉวยเป็นครั้งคราว เน้นการประดิษฐ์คิดคำ และการเปรียบเปรยเรื่อยเปื่อย ก็อย่าหวังเลยว่าจะมาสู้กับระบอบทักษิณ