Skip to main content

ยกเลิกทุนเงินกู้ยืม สำหรับนักเรียนมัธยมปลาย

คอลัมน์/ชุมชน

ที่สุดแล้วสิ่งที่หวาดหวั่นก็เป็นจริง เมื่อผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ออกมาแถลงข่าวว่าเริ่มเดินหน้าใช้รูปแบบใหม่ในการให้กู้ยืมเฉพาะกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีเท่านั้น


และยิ่งตอกย้ำว่านี่เป็นทิศทางเดินของรัฐบาลชุดเลือกตั้งเมื่อกุมภาพันธ์ปี 2548 (รัฐบาลทักษิณ 2) เมื่อนายกรัฐมนตรีบรรยายทิศทางการบริหารราชการแผ่นดินในโอกาสปฐมนิเทศคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมาว่าต้องดำเนินการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบใหม่ คือเน้นให้นักศึกษาเป็นผู้ได้รับเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย และเริ่มใช้คืนเมื่อมีงานทำพร้อมกับมีเงินเดือนสูงพอใช้คืนได้ นั่นคือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เปลี่ยนจาก กยศ. เป็น กรอ. โดยยกเลิกการให้กู้ในระดับมัธยมปลายแล้วเปลี่ยนเป็นทุนให้เปล่าแทน


ซึ่งคำว่าทุนให้เปล่านี้จะมีลักษณะอย่างไร จะทั่วถึงเท่าเทียมนักเรียนมัธยมปลายทุกคนที่ต้องการหรือไม่ จะสามารถเข้าถึงทุนนี้ได้ยากง่ายเพียงใด มีกฎเกณฑ์เช่นไร ไม่มีใครอธิบายให้ชัดเจนได้ แม้แต่ท่านผู้นำก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากท่านมุ่งเน้นจัดทำแผนที่ทางเดินแต่การนำพาประเทศให้ดำรงอยู่ในระบบทุนนิยมให้ได้อย่างไร จะลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ประชาชนอย่างไรเพื่อร่วมขบวนการทุนนิยมในกระแสโลกาภิวัฒน์ให้ได้ นี่เป็นทิศทางเดินของการบริหารประเทศต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้า


ภายใต้ระบบทุน ใครเก่ง ใครมีโอกาส คนนั้นจะเป็นผู้ชนะและได้ประโยชน์เป็นผลตอบแทนแก่ชีวิต คนไร้โอกาส โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษาจึงแพ้ตั้งแต่ต้นแล้ว ยิ่งสำหรับลูกหลานคนยากจนเมื่อหมดโอกาสจะได้เรียนต่อแม้แต่ในชั้นมัธยมปลาย ย่อมไม่มีหนทางที่จะมีงานทำ มีรายได้ที่สามารถเลื่อนชั้นตนเองให้กลายเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือนักธุรกิจขนาดย่อม ขนาดใหญ่ได้


แม้รัฐธรรมนูญจะให้เรียนฟรี 12 ปีก็จริง แต่การดำเนินการนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีเงินค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากค่าเทอมที่รัฐออกให้ฟรีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าสมุดหนังสือ เสื้อผ้า อุปกรณ์ ค่ากิจกรรมพิเศษ ค่าเดินทาง ค่าสูญเสียโอกาสที่จะได้ช่วยพ่อแม่ทำงานในไร่นาหรือรับจ้างมีรายได้ เหล่านี้คือสิ่งที่ประชาชนผู้ยากจนไม่สามารถส่งให้ลูกได้เรียนมัธยมปลาย อันเป็นด่านแรกให้มุ่งสู่การเรียนในระดับอุดมศึกษาต่อไปได้ เดิมที่มีการให้นักเรียนมัธยมและนักเรียนอาชีวะสามารถกู้เงินเรียนได้ ทำให้ลูกหลานชาวนา กรรมกร ลูกจ้าง มีโอกาสเรียนต่อจนถึงระดับอุดมศึกษาได้


แม้ว่าปัญหาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 ของ กยศ.คือให้กู้ไปสองแสนกว่าล้านบาท มีผู้กู้จำนวนกว่าสองล้านสองแสนคน ในจำนวนนี้มีเกือบเจ็ดแสนคนที่อยู่ในระยะเวลาเริ่มชำระหนี้ โดยส่วนใหญ่อยู่ระหว่างผ่อนผันเพราะยังหางานทำไม่ได้ หรือมีงานทำแต่เงินเดือนต่ำจนไม่อาจใช้หนี้ได้ และหลายคนเบี้ยวหนี้ทั้งโดยการหนีและปฏิเสธจะใช้คืน ซึ่งทาง กยศ.มองว่าเป็นปัญหาทำให้ขาดเงินหมุนเวียนให้ผู้กู้รายใหม่ ประกอบกับปัญหาการให้สถานศึกษาเป็นผู้ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนฯ นี้ไปแล้วทำหน้าที่คัดเลือกนักเรียนนักศึกษาให้มีสิทธิกู้ ซึ่งมีการดำเนินการไม่โปร่งใสในบางสถานศึกษา จึงนำมาสู่การเปลี่ยนรูปแบบใหม่ในการให้กู้ยืม


ขณะเดียวกัน รัฐก็เปิดโอกาสให้สถานศึกษาคิดค่าหน่วยกิตได้สูงขึ้น ในรูปแบบการบีบให้เป็นสถานศึกษาออกนอกระบบ และการให้คิดค่าหน่วยกิตได้ตามค่าใช้จ่ายจริง นั่นคือรัฐลดการอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้สถานศึกษา แต่เปลี่ยนมาให้นักศึกษากู้ยืมไปเลือกเรียนตามที่ตนเองสอบเข้าได้แทน ดังนั้น ยอดเงินกู้ของนักศึกษาแต่ละคนจะสูงขึ้นมาก ทำให้เมื่อเรียนจบเป็นหนี้ทันทีจำนวนหลายแสนบาท ซึ่งสิ่งนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับนักศึกษาว่าเขาควรจะได้ใช้คืนก็ต่อเมื่อมีรายได้มากกว่ารายได้ขั้นต่ำที่ไม่ต้องเสียภาษีรายได้คือ 15,000 บาทต่อเดือน


สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด เร่งด่วนที่สุด ที่จะต้องดำเนินการคือการทำให้นักเรียนสามารถเข้าเรียนต่อมัธยมปลายได้ตามความต้องการของทุกคน เมื่อระบุว่าจะตั้งเป็นกองทุนให้เปล่าก็ต้องทำให้เป็นจริงและมีจำนวนเพียงพอแก่ความต้องการ ไม่ใช่ใช้ระบบให้ทุนกับนักเรียนที่เรียนเก่งตำบลละหนึ่งคนเท่านั้น หรือให้สำหรับนักเรียนที่เขียนเรียงความได้เศร้าสลดที่สุด ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่ให้ความเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องมีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษา


กองทุนให้เปล่าต้องจัดสรรให้นักเรียนได้รับตามความเป็นจริง ให้ทุนไปที่ตัวนักเรียนเอง แล้วให้นักเรียนเลือกว่าจะเข้าเรียนที่ไหนหรือสามารถสอบเข้าเรียนต่อได้ที่ใด มุ่งให้นักเรียนในชนบทสามารถมีทุนพอเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน รวมค่าเดินทางไปเรียนด้วย ซึ่งน่าจะเป็นอีกภารกิจหนึ่งของ กรอ.ที่จะดำเนินการ ให้นักเรียนมายื่นความจำนง และคัดเลือกตามฐานรายได้ของพ่อแม่ผู้ปกครอง


ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงว่าชาวนาชาวไร่ ลูกจ้าง กรรมกร ซึ่งอาจมีรายได้ไม่ประจำ แม้จะใช้การคำนวณเฉลี่ยต่อเดือนต่อปีอย่างไรก็ไม่ควรอิงรายได้ตามเส้นความยากจน เพราะเส้นความยากจนมั่นต่ำไป นั่นคือพ่อแม่ที่มีรายได้เกินกว่า 150,000 บาทต่อปี ก็อาจไม่มีปัญญาส่งเสียลูกเรียนระดับมัธยมปลายได้ ยิ่งมีลูกหลายคนกำลังเรียนยิ่งไม่สามารถ ควรมีเกณฑ์การพิจารณาครอบครัวที่รายได้ต่อปีมากกว่า 150,000 บาทด้วยการพิจารณาจากจำนวนลูกที่มี ความมั่นคงในอาชีพการงานของพ่อแม่ และระยะทางใกล้ไกลที่นักเรียนต้องเดินทางไปเรียน หรืออาจต้องไปพักต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นด้วย


รัฐบาลต้องมีนโยบายให้ชัดเกี่ยวกับกองทุนให้เปล่าว่าในแต่ละปีจะต้องให้ครอบคลุมกี่เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนที่เรียนจบมัธยมต้น ไม่ใช่เอาจำนวนเงินเป็นตัวตั้งว่ามีเท่านี้ แล้วไปหารกันเองว่าจะให้ได้กี่คน อย่างนี้ยิ่งกีดกันนักเรียนที่ยากจน ยากลำบาก ออกไปจากวงจรความจนได้


การสร้างโอกาสทางการศึกษาคือการวางรากฐานให้คนมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน เป็นการลดช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย และเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลไม่อาจละเลยได้ ปีการศึกษา 2548 นี้จะเป็นเช่นไร ต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบ ในฐานะประชาชนที่อยู่ในประเทศประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งตัวแทนให้เข้าไปทำหน้าที่ดำเนินการทั้งทางกฎหมายและการบริหารประเทศ หากไม่มีนักเรียนมัธยมปลาย หรืออาชีวะระดับ ปวช. ก็จะมีนักศึกษาปริญญาตรีไม่มากพอ ทำให้กองทุนเงินให้กู้ยืมฯ เฉพาะปริญญาตรีทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ก็ได้ ใครจะรู้