Skip to main content

ฟื้นฟูวิถีชีวิต หลังสึนามิ ชีวิตเดิม ชีวิตใหม่ ใครกำหนด

คอลัมน์/ชุมชน

เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสติดตามสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปเยี่ยมกลุ่มนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันฯ ให้ไปจัด ค่ายอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาให้ความรู้ด้านหลักประกันสุขภาพและช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตผู้ประสบภัยสึนามิ 6 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีนักศึกษาจำนวนเกือบ 4,000 คนจาก 19 สถาบันตั้งแต่เหนือจรดใต้ ส่วนใหญ่เป็นคณะทางด้านสาธารณสุข

นักศึกษามุ่งเน้นการใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านที่ประสบภัย ทั้งชาวบ้านที่พักอาศัยในจุดที่พักชั่วคราว ในหมู่บ้านที่กำลังสร้างและซ่อมแซมบ้านเรือนรวมทั้งต่อเรือ ซ่อมเรือ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากิน นักศึกษาหลายคนร่วมจัดกิจกรรมกับเด็กนักเรียน การซ่อมแซมตกแต่งสถานที่ในโรงเรียน การจัดห้องเรียนให้ความรู้ด้านสุขภาพ การสำรวจเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักประกันสุขภาพ การไปใช้สิทธิ คุณภาพที่ได้รับ ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการใช้บัตรหลักประกันสุขภาพ รวมถึงบางพื้นที่ นักศึกษาร่วมลงแรง ลงทรัพย์ ในการก่อสร้างถังเก็บน้ำ ศาลาอเนกประสงค์ ห้องสมุด ที่เป็นความต้องการของชาวบ้าน


นักศึกษาได้สะท้อนให้เห็นว่า นี่เป็นโอกาสอันดีที่ตนเองได้เรียนรู้ถึงชีวิตของผู้คนในสังคม ได้สัมผัสกับความทุกข์ยากเดือดร้อนจากการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปในชั่วพริบตา ในขณะที่ชาวบ้านก็ได้มีโอกาสระบายความรู้สึก ความโศกเศร้า ความวิตกกังวล ที่อยู่ในใจให้นักศึกษาได้รับทราบ ซึ่งถือว่าเป็นการเยียวยาด้านจิตใจให้กับผู้คนที่ประสบกับสภาวะจิตใจอย่างรุนแรง ปัญหาทางใจเมื่อได้มีการระบายออกจะช่วยลดความหนักอึ้งที่ทับถมในความรู้สึกออกไป แม้ไม่ได้ค้นพบทางออกโดยตรง แต่ก็ช่วยให้ได้มีขวัญกำลังใจที่จะเผชิญสภาพปัญหาอย่างมีพละกำลังต่อไป นับว่าการจัดค่ายครั้งนี้เอื้อประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ให้และผู้รับ


การได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ประสบภัย สิ่งที่เหมือน ๆ กันคือ นอกจากรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนแล้ว เขากำลังวิตกกังวลกับ วิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป จากที่เคยอยู่ริมทะเล หากินกับทะเล หรืออยู่ตามชายหาด หากินกับนักท่องเที่ยวชายหาด กำลังจะถูกปรับเปลี่ยน ถูกจัดระเบียบใหม่ เดิมที่เคยทำเพิงริมหาด อาจไม่ได้ทำอีกเนื่องจากความไม่เป็นระเบียบและเป็นพื้นที่สาธารณะ ใครคนใดคนหนึ่งจับจองไม่ได้ ในขณะที่บางจุดบางพื้นที่น่าจะเป็นที่สาธารณะเช่นกัน แต่กลับมีโฉนดทำให้มีการลงทุนทำบ้านพัก โรงแรม รีสอร์ต อย่างหรูหรา


ชาวบ้านเคยต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาแล้วครั้งหนึ่ง คือชีวิตดั้งเดิมที่สูญหายไปตั้งแต่ธุรกิจท่องเที่ยวเติบโต จากชาวประมงกลายเป็นทำธุรกิจค้าขายนักท่องเที่ยว ให้เช่าร่มชายหาด ทำร้านขายของที่ระลึก นวดแบบไทย ๆ ที่เยอะมากคือเป็นลูกจ้างในโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร ร้านขายของ ซึ่งทำให้วิถีชีวิตทั้งหมดของชุมชนขึ้นอยู่กับธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อเกิดสึนามิ ธุรกิจท่องเที่ยวหยุดชะงัก การจ้างงานหดหาย การค้าขายขาดทุน ชาวบ้านสิ้นหวัง ได้แต่รอให้การท่องเที่ยวฟื้นคืนชีวิต


หลังเหตุการณ์สึนามิ ได้มีความพยายามจัดระเบียบใหม่ของรัฐในการจัดการพื้นที่ชายหาด การรุกของนายทุนในการจับจองที่ดิน การขาดแผนผังเมืองในระดับท้องถิ่น การวางนโยบายท่องเที่ยวไม่ได้ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น แต่ดำเนินการโดยส่วนกลาง เหล่านี้ย่อมเป็นสถานการณ์บังคับให้ชาวบ้านต้องปรับตัวรอบสอง นั่นคือขึ้นอยู่กับว่านโยบายการท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร จะทำมาหากินกันอย่างไร หรืออยากให้แผนการท่องเที่ยวในท้องถิ่นในชุมชนของตนมีลักษณะเช่นไร


เนื่องจากตอนนี้ชาวบ้านปรับตัวเป็นเพียงลูกจ้าง ไม่อาจเป็นเจ้าของธุรกิจได้เอง ทั้งไม่พร้อมด้านความรู้ การจัดการ และทุน หรือชาวบ้านบางคนก็รู้สึกไม่พึงพอใจกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปที่มีคนแปลกหน้ามาเป็นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และชาวบ้านต้องทำงานบริการให้คนเหล่านี้พึงพอใจ ต้องนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ออกมาวางขายนักท่องเที่ยวกันอย่างหมดเปลือก


เหล่านี้คือความสับสนที่เกิดขึ้นต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านเอง รายได้หลักที่มาจากการขายบริการนักท่องเที่ยว หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก นักท่องเที่ยวหดหายอีก ชาวบ้านได้เตรียมตัวรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร หากชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้กำหนดทิศทางการใช้ทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวด้วยตนเอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่มีอำนาจในการจัดระบบระเบียบอาคาร สิ่งก่อสร้าง ที่พัก โรงแรม คลับ บาร์ ให้เหมาะสม เป็นระเบียบ แม้แต่การจำกัดจำนวนสถานบันเทิงเหล่านี้ไม่ให้มากเกินไป เพื่อไม่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชุมชนโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่


วิถีชีวิตเหล่านี้ใครควรเป็นคนกำหนด นโยบายรัฐจากส่วนกลางหรือชุมชนเอง ทั้งนี้ การท่องเที่ยวต้องอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ การปรับเปลี่ยนวิถีการทำมาหากินควรเปิดโอกาสให้คนในชุมชนเลือกได้ที่จะดำรงชีวิตแบบเดิม ทำประมง ทำเกษตร ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเป็นพนักงานบริการเพื่อการท่องเที่ยวในธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นวิถีแบบใหม่


ทำอย่างไรให้ผสมกลมกลืนกันอย่างพอดี ให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์และไม่สูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเอง มีความหลากหลาย เพื่อสามารถตั้งรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ แม้ธุรกิจท่องเที่ยวซบเซาชาวบ้านก็ไม่เดือดร้อนมากนักเพราะทำอย่างอื่นได้อยู่ ไม่ใช่พึ่งพิงรายได้หลักจากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว


ชุมชนควรได้รับการสนับสนุนให้เลือกและกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง และองค์กรส่วนท้องถิ่นควรมีทิศทางการพัฒนาพื้นที่แบบหลากหลาย และยั่งยืน เพื่อให้คนในชุมชนมีความสุข มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ อารมณ์ สังคม และความเชื่อดั้งเดิม