Skip to main content

เอฟทีเอ เพื่อชีวิตหรือทำลายชีวิต

คอลัมน์/ชุมชน

ระหว่างวันที่ 3 ถึง 8 เมษายน 48 นี้ จะเกิดการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาเป็นรอบที่ 3 โดยรอบแรกและรอบสองเจรจากันที่ฮาวาย รอบนี้มาใช้พัทยา

คราวนี้ ความสำคัญอยู่ที่แต่ละฝ่ายต่างต้องยื่นข้อเสนอที่ประเทศของตนต้องการจะได้รับจากอีกฝ่าย โดยไทยเองจากการแถลงข่าวของนายนิตย์ พิบูลสงคราม อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำอเมริกา ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ให้ข้อมูลว่าจะมีการเจรจากันใน 20 กลุ่มการค้า โดย ไทยเสนอจะไม่เจรจาเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน เนื่องจากสถาบันทางการเงินไทยยังไม่พร้อม ในขณะที่ต้องเปิดเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยไม่มีเหตุผลเกี่ยวกับความพร้อมหรือไม่พร้อมของไทย เพียงแต่ต้องดูท่าทีของอเมริกา แต่ที่สุดแล้วก็ จะเปิดเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องจากเป็นการเจรจาการค้าต้องมีการแลกกันไปมาบ้าง


ฟังดูไม่มีเหตุไม่มีผลเหมือนกันในแต่ละกลุ่มการค้าที่ตัวแทนไทยจะต้องนั่งโต๊ะเจรจา เกี่ยวกับการค้าบริการการเงินมีภาคประชาชนที่รัฐรับฟังเสียงคือตัวแทนสมาคมธนาคารไทย ส่วนการเจรจาเรื่องสิทธิบัตรยา (ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง) รัฐรับฟังเสียงใครบ้าง บริษัทยาในประเทศ หรือกลุ่มบริษัทยาข้ามชาติในประเทศ หรือกระทรวงสาธารณสุข หรือประชาชนไทยทั้ง 60 ล้านคนที่ต้องกินยาเมื่อเจ็บป่วยไม่วันนี้ก็วันหน้า ทุกคนหนีไม่พ้นวังวนชีวิต ไม่เห็นหัวหน้าทีมเจรจาของไทยกล่าวอ้างถึงใคร หรือประชาชนมันกว้างไป ต้องเน้นนักธุรกิจเท่านั้น เพราะ นี่คือการเจรจาการค้าล้วน ๆ ไม่ต้องคำนึงถึงชีวิต และสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน


คนรวยที่ป่วยไม่รู้สึกว่ามีปัญหา แม้ยาจะราคาแพงเท่าไรก็มีปัญญาซื้อ แต่คนจนที่ป่วยเมื่อยาราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ จะไม่มีปัญญารักษาตนเอง แม้ว่ารัฐจะให้สวัสดิการผ่านระบบหลักประกันสุขภาพที่จ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทก็ได้รับการรักษาก็ตาม แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าระบบนี้อยู่ระหว่างการปรับตัว รัฐยังจำกัดวงเงินงบประมาณที่จะจ่ายให้กองทุนหลักประกันสุขภาพ และยังมีการกีดกันการรักษาราคาแพงออกไป คือผู้ป่วยไตวาย และผู้ติดเชื้อที่รักษาด้วยยาต้านไวรัส หากยิ่งราคายาแพงขึ้น ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ผู้ป่วยเรื้อรังต่าง ๆ คงไม่ต้องหวังจะมีชีวิตรอดยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต เพราะรัฐไม่อาจจัดหายาได้พอเพียงเพราะมันแพง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเจ็บป่วยอันดับต้น ๆ ของคนไทย เนื่องจากโรคเหล่านี้มีความจำเป็นต้องใช้ยาที่ติดสิทธิบัตรมากขึ้น


ทำไม ไทยจึงยอมแลกเรื่องสิทธิบัตรยากับการเปิดตลาดการค้ากับอเมริกา สิ่งที่ไทยจะได้รับจากกลุ่มการค้าอื่น ๆ เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ การค้าบริการนวดไทย สปาไทย รักษาผู้ป่วยต่างชาติ เป็นฮับสุขภาพ เหล่านี้คือสิ่งที่ไทยหวังจะได้จากอเมริกา แต่จะหวังให้ส่งข้าวไปขายอเมริกามากขึ้นนั้นยาก เพราะเขาปกป้องชาวนาเขาเต็มที่ให้สามารถผลิตขายในประเทศได้ ทำให้ราคาข้าวของเขาถูกกว่าของไทยที่ส่งไปขายแม้จะได้รับการลดภาษี แต่ก็แข่งเขาไม่ได้ อาจขายได้แต่ข้าวเกรดเอ หอมมะลิ แต่เมื่อไรเขาผลิตได้เอง เราคงลำบาก


ขณะที่ สิ่งที่อเมริกาจะได้จากไทย คือขายยาได้เยอะราคาแพง ขายผูกขาดได้นานกว่า 20 ปี ขายได้ตลอดไป เพราะบริษัทยาท้องถิ่นของไทยก็ยังไม่มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตวัตถุดิบได้ และแม้ทำเอฟทีเอไปแล้วก็ไม่ได้มีโอกาสได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังนั้น ผลประโยชน์เรื่องขายยามีไปตลอดชาติเลยก็ว่าได้ เพราะอย่างไรเราต้องป่วยในที่สุด การเจรจาเอฟทีเอครั้งนี้ จึงบอกถึงอนาคตของพวกเราได้ว่า เมื่อเจ็บป่วยอาจไม่ได้รับการรักษาเต็มที่ เนื่องจากรัฐไม่มีเงินมากพอที่จะอุดหนุนระบบหลักประกันสุขภาพที่ต้องใช้ยาราคาแพงมากขึ้นเรื่อย ๆ


ในเมื่อมีกลุ่มการค้าที่ต้องเจรจากันถึง 20 กลุ่ม ทำไมยังจำเพาะเจาะจงนำเรื่องสิทธิบัตรยาไปร่วมเจรจาด้วย ทั้งที่กติกาในองค์กรการค้าโลก ( WTO) ได้เปิดโอกาสให้ประเทศที่เป็นสมาชิกสามารถหามาตรการใดใดก็ตามที่จะทำให้ประชาชนได้รับการรักษาสามารถเข้าถึงยาราคาถูกได้ เช่น การเปิดให้มีการนำเข้ายาราคาถูกกว่าได้ การให้รัฐมีอำนาจบังคับใช้สิทธิผลิตยาเอง หรือให้ผู้อื่นผลิตให้แทน หรือนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ได้ การเปิดโอกาสให้บริษัทยาสามัญมาขึ้นทะเบียนยาได้ ขณะเดียวกันก็รักษาความลับทางการค้าให้ได้ด้วย


แต่ภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐคราวนี้ ดูเหมือนรัฐไทยและทีมเจรจาที่ได้รับมอบหมายเตรียมพร้อมที่จะยอมรับเงื่อนไขของอเมริกาเพื่อแลกกับการค้าอื่น ซึ่งผลประโยชน์ของการค้าอื่น ๆ ไม่รู้ว่าอยู่ในกำมือของตระกูลธุรกิจใหญ่ ๆ ที่ได้ดิบได้ดีเป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้นหรือไม่


เพื่อสิทธิในชีวิตของประชาชนทุกคน รัฐบาลไทยควรมีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับเงื่อนไขเพิ่มเติมที่นอกเหนือไปจากเงื่อนไขขององค์กรการค้าโลกเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา ไม่ยอมขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 20 ปีไปเป็น 25 ปี ไม่ยอมที่จะจำกัดสิทธิของรัฐไทยในการดำเนินการทุกวิถีทางที่จะมียาราคาถูกให้ประชาชนของตนโดยไม่ขัดหลักการดั้งเดิมเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่ตกลงกันในองค์กรการค้าโลก


บริษัทยาข้ามชาติได้กำไรไปมากมายแล้วจากการมีสิทธิผูกขาดขายคนเดียว 20 ปี ไม่จำเป็นต้องเอาชีวิตคนไปสังเวยเพิ่มอีก แม้จะได้รับผลประโยชน์จากการค้ากลุ่มอื่น ๆ แต่หากคนป่วย ตายกันเยอะ ๆ จะเอาแรงงานราคาถูกที่ไหนไปทำงานผลิตสินค้าส่งออกอเมริกาได้ พวกนายทุนที่อยู่ในรัฐบาลควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างยุติธรรมและสมานฉันท์ด้วย