Skip to main content

เมื่อนายกฯ พูดถึง สสส.

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้ฟังรายการนายกฯ ทักษิณพูดกับประชาชนทางวิทยุ ไม่ได้ฟังตั้งแต่ต้นว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ได้มาฟังตอนกลาง ๆ ช่วงแปดโมงกว่า ๆ ที่นายกฯ เล่าให้ฟังว่าได้ไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการ สสส. (กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ในฐานะประธานฯ เป็นครั้งแรก ที่ผ่านมามอบให้รองนายกฯ ดูแล ทั้งนี้เพื่อตอกย้ำและให้แนวปฏิบัติต่อ สสส.

นี่เป็นสัญญาณแสดงถึงอะไรบ้าง แสดงว่า นายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นอย่างมากพร้อมไปร่วมประชุมด้วยตนเอง หรือแสดงว่าเพื่อต้องการบอกให้กรรมการ สสส. รู้ไว้ว่าอย่าทำอะไรนอกลู่นอกทาง หรือเพื่อสยบปัญหาความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นระหว่างรองนายกฯ ที่มอบให้มาทำหน้าที่ประธานกับคณะกรรมการ สสส.


จะด้วยเหตุผลอย่างไรก็ตาม นายกฯ ก็ได้ไปร่วมประชุมแล้ว และเก็บมาเล่าให้ประชาชนฟังผ่านรายการวิทยุเช้าวันเสาร์ ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากกังวลว่า สสส. จะทำหน้าที่บิดเบี้ยวไปจากภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จึงบอกให้กรรมการ สสส. ต้องทำบทบาทสามประการเป็นหลัก ทั้งนี้ เพราะกองทุน สสส. มาจากกฎหมายที่ระบุให้ได้รับทุนจากเงินร้อยละสองของภาษีที่เก็บจากผู้ผลิตผู้นำเข้าบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นบทบาทหลักสามประการที่ต้องทำคือ


หนึ่ง สร้างนิสัยรักสุขภาพให้กับประชาชน รักการออกกำลังกาย รักการดูแลสุขภาพ รักการบริโภคอาหารปลอดภัย ลดพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ


สอง สร้างนิสัยรักความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ การป้องกันอุบัติเหตุจากรถ การสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัด เป็นต้น


และสาม ลดพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การใช้สารมึนเมา การใช้สารเสพติด


ทั้งสามประการเป็นเรื่องเร่งด่วนในสังคมไทยอยู่แล้วที่จะต้องร่วมกันดำเนินการ และยิ่งจะได้ผลมากขึ้นเมื่อมีเจ้าภาพหลักอย่างเป็นทางการอย่าง สสส. ที่มีเงินกองทุนปีละไม่น้อยกว่าสองพันล้านบาท เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ แตกต่างจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่มักอ้างว่าทำอะไรไม่ได้มากนักในเรื่องการรณรงค์เพราะไม่มีงบประมาณ ซึ่งน่าคิดว่าไม่มีงบประมาณเพราะไม่มีวิสัยทัศน์พอจะวางแผนจนหางบประมาณมาได้ด้วยหรือเปล่า


อย่างไรก็ตาม หวังว่าคณะกรรมการ สสส.ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการและตัวแทนประชาชนที่มีคุณวุฒิด้านประสบการณ์ จะไม่ลดบทบาทหน้าที่ของตนลงเหลือภารกิจเพียงสามด้านนี้เท่านั้น ดิฉันยังชื่นชมแนวทางของ สสส.ในการสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนในการดูแลสุขภาพ การสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพื่อเอื้อให้คนมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางที่มีคุณค่าและยั่งยืน ที่ต้องอาศัยระยะเวลาและการสั่งสมประสบการณ์ของชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการรักสุขภาพที่แท้จริง ถาวร ยั่งยืน และสอดรับกับสภาพแวดล้อมของแต่ละชุมชน


ดิฉันไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดง่าย ๆ แบบขอโครงการซื้อหมวกกันน็อค (หมวกนิรภัย) แจกประชาชนทั้งประเทศ แม้จะบอกว่าขายในราคาถูกให้ก็ตาม หากประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนไม่มีความเชื่อเรื่องการใส่หมวก แถมมีความเชื่อว่าการไม่ใส่หมวกดูเท่กว่านั้น การแจกหมวกไม่สร้างสำนึกเรื่องรักความปลอดภัย เยาวชนไม่รู้ว่าชีวิตมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด ในเมื่อปัจจุบันสนุกไปแต่ละวันก็ดีอยู่แล้ว


การสั่งสมความรักชีวิต การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า จึงเป็นภารกิจร่วมของสังคมในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่เพียง สสส.ทำคนเดียวคงเอาไม่อยู่ จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือกับองค์กรอื่น มีการวางแผนระยะยาว การสนับสนุนให้เยาวชนเองเข้าร่วมกิจกรรมและดำเนินกิจกรรมด้วยตนเอง


การแจกหมวกกันน็อคก็เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ส่วนหลัก และควรแจกให้คนที่ต้องการใช้จริงแต่ไม่มีทุนมากพอจะซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและรักษาความปลอดภัยได้จริง หรือการให้ทุนไปกับชุมชนเพื่อจัดซื้อจัดหาให้เหมาะกับคนในชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการจัดซื้อในระดับประเทศ ที่มักมีเรื่องคอรัปชั่น การกินหัวคิวเข้ามาให้ได้ยินเสมอ ๆ เพียงแต่ให้มีคณะกรรมการเจรจาเรื่องราคาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ที่เหลือบริษัทก็ไปจัดหาสินค้าให้ผู้บริโภคตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้เอง ไม่ต้องสิ้นเปลืองเรื่องการเก็บสต็อก การขนย้าย การจัดการจากส่วนกลาง และยังทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการได้ด้วยตนเองมากขึ้นด้วย


การสร้างเสริมสุขภาพเพื่อสุขภาวะของชุมชน เป็นภารกิจระยะยาวที่ สสส. ต้องเดินหน้าและท้าพิสูจน์ โดยมีภาวะสุขภาพของประชาชนเป็นเดิมพัน เงินกองทุนฯ คือเงินที่คนทั้งประเทศใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่ ซื้อสุรา บริโภค ดังนั้น เงินนี้จึงต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการใช้จ่ายอย่างมีคุณภาพด้วย และมองภาวการณ์สร้างเสริมสุขภาพที่กว้างกว่าการใช้เงินพาคนไปออกกำลังหนึ่งวันแต่ใช้เงินเป็นหลายล้านบาท กับการสร้างเสริมให้คนรักการออกกำลังด้วยใจรักแท้จริง และการออกกำลังมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ใช่การเต้นแอโรบิกเพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับว่าชุมชนจะมองอย่างไรและเลือกแบบใด ไม่มีสูตรสำเร็จในการสร้างสุขภาพค่ะ


ที่ดิฉันเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ บทบาทของกระทรวงสาธารณสุขควรจะเป็นอย่างไรในเรื่องสร้างเสริมสุขภาพ ในเมื่อให้ สสส. ทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างสุขภาพแล้ว และให้ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ทำหน้าที่ในการรับประกันการซ่อมสุขภาพแล้วในราคา 30 บาททุกครั้ง แล้วกระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่อะไรอีกต่อไป น่าคิดต่อนะคะ หรืออดใจรอฟังนายกฯ พูดในวันเสาร์เช้าต่อไป