Skip to main content

กรรมกร อีกฐานรากของเศรษฐกิจ

คอลัมน์/ชุมชน

วันกรรมกร เวียนมาบรรจบอีกครั้งทุกวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี


ี้ หากดูตามตัวเลขของสำนักงานประกันสังคมที่ต้องรับขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิจากนายจ้าง จะมีกรรมกรอยู่เกือบ 8 ล้านคน ในที่นี้เป็นกรรมกรที่มีสังกัด มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือน หรือรายเดือน มีนายจ้างชัดเจน และคนเหล่านี้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ระบุให้ต้องทำ ทั้งนี้เพื่อสร้างระบบสวัสดิการให้กรรมกร ผลประโยชน์ที่ได้คือสวัสดิการรักษาพยาบาล สวัสดิการเมื่อตกงาน สวัสดิการเมื่อชรา สวัสดิการชดเชยค่าแรงกรณีป่วย ทุพพลภาพ สวัสดิการเมื่อตาย


ในสังคมไทยยังมีกรรมกรมากกว่านี้อีก ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคม คือกรรมกรต่างด้าว กรรมกรตามฤดูกาลที่ส่วนใหญ่ออกมาทำงานก่อสร้าง ขับรถรับจ้าง เป็นต้น กรรมกรที่เข้าไปทำงานบ้าน (คนรับใช้ คนเลี้ยงเด็ก คนขับรถ คนสวน ฯลฯ) ซึ่งน่าจะมีจำนวนอีกเท่าหนึ่งของกรรมกรที่อยู่ในระบบจ้างงานที่มีสวัสดิการประกันสังคม นี่ยังไม่รวมกรรมกรที่ส่งออกไปทำงานต่างประเทศ ไปเป็นแรงงานต่างด้าวให้คนชาติอื่นดูถูก เช่นเดียวกับที่คนไทยดูถูกคนงานต่างด้าว


ดังนั้น ข้อเรียกร้องสำคัญของกรรมกร คือการเพิ่มค่าแรงให้เท่ากับข้าราชการใหม่ คืออยู่ราว ๆ 7,000 บาทต่อเดือน นับเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ซับซ้อน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่ากรณีข้าราชการที่ได้รับบรรจุเข้าทำงานต่างถิ่นไปจากที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้าน จะมีบ้านพักพร้อมน้ำไฟให้ด้วย บางที่มีรถรับส่ง บางที่บ้านพักกับที่ทำงานอยู่ในที่เดียวกัน ขณะที่กรรมกรได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ทุกอย่างจ่ายเอง ทั้งค่ากินอยู่ ที่พัก ยกเว้นบางโรงงาน บางบริษัท มีรถรับส่งให้ หากหยุดงานก็ไม่มีรายได้ การขอเพิ่มค่าจ้างรายวันเป็นวันละ 233 บาทจึงเป็นเรื่องน่าจะรับฟังและดำเนินการได้


น่าแปลกใจว่า นายกรัฐมนตรีกลับบอกว่าการขึ้นค่าแรงจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขาดคนลงทุน ทุกวันนี้ไทยสู้เขาได้เพราะค่าแรงถูก ฟังดูดีแต่แฝงด้วยความรู้สึกเหมือนกับว่ากรรมกรราคาถูกไม่ใช่มนุษย์ ที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ อีกเหตุผลที่จะไม่ขึ้นค่าแรงให้คือว่า คนเหล่านี้เป็นกรรมกรไร้ฝีมือ ซึ่งควรจะได้รับการพัฒนาฝีมือ เพื่อจะได้ขยับไปทำงานที่มีค่าแรงสูงกว่าค่าแรงกรรมกรไร้ฝีมือ โดยรัฐจะจัดฝึกอบรมเสริมทักษะการทำงานให้


ในทางปฏิบัติ กรรมกรหาเช้ากินค่ำเหล่านี้จะเอาเวลาและสมาธิที่ไหนมารับการพัฒนาฝีมือแรงงาน คนเหล่านี้คือคนที่ต้องการปรับค่าแรงมากที่สุด เพื่อจะได้ใช้ในการสร้างคุณภาพชีวิตของตนและครอบครัว เพราะที่สุดแล้วจะไม่ค่อยมีคนยอมทำงานแบบนี้ ส่วนการพัฒนาฝีมือแรงงานน่าจะมุ่งไปยังเยาวชนที่จบการศึกษาใหม่ ๆ เพื่อเสริมทักษะที่นอกเหนือจากชั้นเรียน ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจที่ต้องการช่างฝีมือให้มากขึ้น สร้างอัตราความต้องการแรงงานมากขึ้น โดยไม่ปล่อยให้เกิดช่องว่างค่าแรงของกรรมกรไร้ฝีมือกับกรรมกรที่ได้รับการพัฒนาฝีมือหรือเยาวชนที่จบการศึกษาสูงขึ้น


ในมุมกลับกัน หากกรรมกรได้รับการปรับค่าจ้าง ทำให้มีรายได้เพียงพอและมีส่วนเหลือนำไปใช้จ่ายในการเพิ่มทักษะตนเอง การเข้าเรียนเพิ่มเติมจะทำให้มีการพัฒนาความสามารถด้วยตนเองที่จะขยับไปทำงานที่อาศัยทักษะ ฝีมือ พร้อมกับมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ด้วย โดยไม่ต้องเป็นภาระของรัฐต้องมาจัดทำหลักสูตรพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มเติมต่อไป


กรรมกรเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเช่นเดียวกัน กรรมกรเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สมควรได้รับการดูแลอย่างสมศักดิ์ศร ไม่ควรปล่อยให้ทุกปีในวันกรรมกร ต้องมีการมาขอปรับค่าแรงกันทุกปี ปีละไม่กี่บาท ทั้งที่เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง ราคาสินค้าปรับโดยไม่ต้องขออนุญาต รวมทั้งรัฐต้องคุ้มครองแรงงานที่ทำงานรับจ้างตามบ้านที่บางทีถูกนายจ้างโกงค่าแรง และทุบตีทำร้าย


กรรมกรเหล่านี้สมควรได้รับการช่วยเหลือและพัฒนาปรับปรุงต่อไป อย่าเอาแรงงานราคาถูกเป็นสินค้าชักชวนนักลงทุน เป็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง