Skip to main content

น้องภูมิภัทร บทเรียนชีวิตของไข้เลือดออก

คอลัมน์/ชุมชน

การเสียชีวิตของน้องภูมิภัทรที่มีอายุ 13 ปีด้วยไข้เลือดออก เป็นเรื่องราวที่ผู้คนสนใจและเฝ้าติดตามมากันตลอดสองอาทิตย์ที่ผ่านมา


แม้จะเพิ่งเริ่มต้นหน้าฝนซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก แต่พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตแล้ว 14 ราย ในส่วนน้องภูมิภัทรยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ของไข้เลือดออก ที่คาดว่ามีความรุนแรงมากกว่า ทำให้ประชาชนวิตกกังวลกันไม่น้อย


อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของการให้ข้อมูลข่าวสารของผู้รู้ผู้เกี่ยวข้อง ออกมาแนวคล้าย ๆ กับช่วงแรกของการระบาดของไข้หวัดนก ที่ส่วนใหญ่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ ไม่มี เนื่องด้วยไข้หวัดนกเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจส่งออกไก่ จึงทำให้ไม่มีใครยอมพูดความจริง จนกระทั่งนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและสัตว์เลี้ยงจำนวนมหาศาล


เช่นกันกับไข้เลือดออกคราวนี้ ที่แม้พ่อแม่จะนำลูกส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังคงรุนแรงและที่สุดต้องสูญเสียชีวิต อีกทั้งมีการบริจาคร่างกายให้กับโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี เพื่อการศึกษาค้นคว้าด้วย ซึ่งก็ดูแปลก ๆ ที่ผ่านมา มีผู้เป็นไข้เลือดออกและเสียชีวิตในทุกฤดูของการแพร่ระบาด แต่ไม่มีโรงเรียนแพทย์ให้ความสนใจเท่ารายนี้ จึงเป็นที่คลางแคลงใจว่า จริงหรือไม่ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ มีความรุนแรงมากกว่า มีแนวทางการป้องกันดูแลรักษาที่แตกต่าง หรือมีข้อมูลใดอีกบ้างที่ประชาชนควรรับรู้เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญสถานการณ์ร่วมกัน พร้อมกับร่วมมือร่วมใจในการป้องกันต่อไป


ไข้เลือดออกเป็นโรคระบาดตามฤดูกาล คือช่วงหน้าฝน โดยมีพาหะนำโรคที่ชัดเจนคือยุงลายตัวเมีย ที่ชอบออกหากินตอนกลางวัน และยุงเหล่านี้เติบโตจากแหล่งน้ำขังใสใส ที่อยู่ในบ้าน รอบ ๆ บ้าน รอบ ๆ บริเวณต่าง ๆ ในชุมชน ดังนั้น ยุงในบ้านนั่นแหละตัวการสำคัญ โดยเฉพาะยุงในตอนกลางวัน


การให้ข้อมูลกับประชาชนให้ร่วมกันป้องกันด้วยการกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลายในบ้านอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องเน้น ย้ำให้ระมัดระวังลูกหลานของตนที่อาจถูกยุงกัดในตอนกลางวันจากสถานที่ต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน บ้านเพื่อน สถานรับเลี้ยงเด็ก สวนหย่อม สวนสาธารณะ ที่อาจมีแหล่งน้ำขังที่ไม่ได้รับการดูแลได้


นอกจากนี้ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการและการวินิจฉัยโรคก็ยังมีปัญหา ดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีทักษิณออกมาให้ข้อมูลว่าตนเองมีน้องชายอายุ 25 ปีเสียชีวิตจากไข้เลือดออกเนื่องจากวินิจฉัยช้า เพราะไม่ตระหนักว่าผู้ใหญ่ก็เป็นไข้เลือดออกได้ไม่เฉพาะเด็ก ๆ เท่านั้น


จากกรณีพ่อแม่ของน้องภูมิภัทร ที่บอกว่าเมื่อลูกมีไข้ก็รีบส่งโรงพยาบาลแล้วแต่ก็ยังไม่ทัน ชี้ให้เห็นว่า การวินิจฉัยเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค้นพบสาเหตุการเป็นไข้เลือดออกได้ช้า ไม่ทันอาการที่กำเริบรุนแรง เพราะหมอต้องรอดูอาการและมักไม่รับไว้ในโรงพยาบาลทันที แต่ให้ข้อมูลกับพ่อแม่ว่าหากอาการไม่ดีขึ้นให้พากลับมาพบหมออีกครั้ง


ซึ่งข้อมูลเพียงเท่านี้ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจของพ่อแม่ได้ว่าควรนำลูกกลับมาตอนไหน บางทีก็เกรงจะถูกหมอด่าว่าได้ที่รีบเอากลับมาโรงพยาบาล ทั้งที่ เพิ่งพามาเมื่อเช้า หรือเมื่อวาน มีบางรายที่ปล่อยไว้จนผ่านไปอีกวัน จนถึงดึก ๆ ชักไม่ไหวค่อยพากลับมา ซึ่งแน่นอนว่าย่อมช้าไปแล้ว หากเป็นเช่นนี้แล้วจะหาทางป้องกันได้อย่างไร


การรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออก จึงควรเพิ่มข้อมูลเรื่องความเสี่ยงจากยุงในบ้าน ยุงตอนกลาง วัน รวมถึงแนวโน้มปัจจุบันที่พบไข้เลือดออกนอกฤดูการแพร่ระบาดด้วย คือพบทั้งปี แต่จะชุกมากในหน้าฝน รวมทั้งวิธีการสังเกตอาการ การกล้าที่จะกลับไปพบหมอเร็วขึ้น หรือการร้องขอให้หมอตรวจเช็คความเข้มข้นและเกล็ดเลือดเป็นระยะด้วย


ที่สำคัญประการหนึ่งคือ ควรเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับยาลดไข้ ซึ่งเป็นยาพื้น ๆ มีขายทั่วไป สามารถซื้อหาได้สะดวก ทั้งนี้ ตัวยาสำคัญคือ พาราเซตตามอล คือยาลดไข้ที่ควรใช้ในกรณีไข้เลือดออก ไม่ควรใช้ยาแก้ไข้แก้ปวดที่เป็นแอสไพริน เพราะมีผลต่อการมีเลือดออกในกระเพาะได้ จะยิ่งเร่งผลของอาการไข้เลือดออก แต่ประชาชนไม่เคยรู้เรื่องชื่อสามัญทางยาเหล่านี้ จะรู้เพียงชื่อทางการค้าของยา ซึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นพาราเซตตามอลโดยตรง


ดังนั้น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับยา ชื่อสามัญทางยา จึงเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่สำคัญในการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจและเลือกใช้ได้ถูกต้อง ตรงกับความต้องการที่แท้จริงได้ไม่ใช่ซื้อจากการรับรู้ชื่อการค้าผ่านการโฆษณาเพียงอย่างเดียว อีกประการที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้ยาลดไข้ คือการเน้นย้ำวิธีการใช้ยาลดไข้ที่ถูกต้อง นั่นคือใช้ในระยะเวลาที่ห่างกัน 4-6 ชั่วโมง ไม่ใช่ให้ถี่ ๆ เพราะเห็นว่าไข้ไม่ลดก็ต้องให้ยาซ้ำไปอีก ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดพลาด ทำให้ยาตกค้างในกระเพาะ ส่งผลเสีย ต่อร่างกายได้


บทเรียนชีวิตน้องภูมิภัทร น่าจะทำให้ทุกฝ่ายทบทวนการรณรงค์ป้องกันโรคต่าง ๆ ที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง และมีข้อมูลที่สอดรับกับวิถีชีวิตจริงของประชาชน รวมถึงการเข้มงวดต่อหมอและพยาบาลในการตระหนักเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคได้เร็ว ไม่ละเลยโอกาสเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงวิธีการสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือตัวผู้ป่วยให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม และให้ความเป็นกันเองที่จะกล้ากลับมาพบหมอได้อย่างสบายใจ เพื่อประเทศเราจะได้ไม่สูญเสียชีวิตอีกมากมายให้กับโรคระบาดที่ป้องกันและรักษาได้ เช่นไข้เลือดออกอีก