Skip to main content

ประกันสังคม ไม่ใช่เฉพาะสำหรับลูกจ้างเท่านั้น

คอลัมน์/ชุมชน

กองทุนประกันสังคม ที่มาจากการจ่ายเงินสมทบของสามฝ่ายคือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล โดยมีกฎหมายรับรองการดำเนินงาน คือ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 บัดนี้ผ่านไปแล้ว 15 ปี มีการปรับปรุงกฎหมายไป 2-3 ครั้ง แต่ยังยืนอยู่บนเจตนารมณ์เดิมคือ เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้กับลูกจ้างและบุคคลอื่น


ทั้งนี้ ผู้นำแรงงานหลายท่านได้ยืนยันเหมือนกันว่า กว่าจะได้กฎหมายฉบับนี้มาต้องใช้ความอดทน อดกลั้นกันมากกว่า 20 ปีก่อนที่รัฐจะยอมดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างสวัสดิการเป็นหลักประกันให้กับคนไทย แม้ว่าที่สุดแล้วเป็นได้แค่หลักประกันสำหรับลูกจ้าง ที่มีนายจ้าง มีองค์กรสังกัดเท่านั้น ยังไม่อาจเป็นหลักประกันสำหรับคนทุกคนในสังคมได้


ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมได้ดำเนินการให้หลักประกันสำหรับลูกจ้างได้เพียงไม่เกิน 8 ล้านคน ทั้งที่มีคนในภาคแรงงานมากกว่า 20 ล้านคน


ทำไมเป็นเช่นนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องเม็ดเงินที่มีในกองทุนว่าจะล้มละลายได้หากให้โอกาสทุกคนได้รับประโยชน์ รวมถึงการค่อย ๆ ดำเนินการให้ผลประโยชน์ต่อลูกจ้างผู้จ่ายเงินสมทบแบบค่อยเป็นค่อยไป คือเริ่มให้เฉพาะเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลมาก่อน ส่วนเรื่องว่างงาน ชราภาพ เพิ่งมาดำเนินการได้ไม่กี่ปีในช่วงหลังนี้ จึงเน้นย้ำให้คนที่เข้าสู่การประกันสังคมเป็นเพียงลูกจ้างที่มีนายจ้างมีรายได้ประจำ แรงงานนอกระบบ แรงงานตามฤดูกาล ซึ่งส่วนใหญ่คือเกษตรกร จึงไม่สามารถเข้าอยู่ในระบบนี้ได้ รวมทั้งการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนโดยการหักจากเงินเดือน ยิ่งทำให้คนที่มีรายได้ไม่ประจำไม่อาจเข้าสู่ระบบประกันสังคมนี้ได้เช่นกัน


ระบบนี้จึงเป็นระบบประกันสังคมที่เอื้อต่อเฉพาะลูกจ้างเท่านั้น ตัวลูกจ้างคนเดียวด้วย ไม่สามารถคุ้มครองสามี ภรรยา ลูก ๆ และพ่อแม่ในครอบครัวได้ ดังนั้น ระบบประกันสังคมนี้ยังไม่บรรลุเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสม เปรียบเทียบกับสวัสดิการรักษาพยาบาลที่รัฐจัดให้ในลักษณะการประกันถ้วนหน้า คือทุกคนที่ไม่มีสวัสดิการจากที่ทำงานหรือกองทุนอื่นต้องได้รับการประกันการรักษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียม


ปัจจุบัน รัฐบาลดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับคน 47 ล้านคนโดยประชาชนร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมรักษาครั้งละ 30 บาทที่เหลือเป็นงบประมาณแผ่นดินที่ใช้จ่ายในการจ้างหมอ จ้างพยาบาล บริหารโรงพยาบาล ซื้อยา ซื้อวัสดุอุปกรณ์ ฯลฯ


ประชาชนไทยยังต้องการสวัสดิการเพื่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีมนุษย์ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ประชาชนไทยยังขาดสวัสดิการด้านรายได้ การศึกษา ที่อยู่อาศัย ทุพพลภาพ ชราภาพ ฯลฯ ในขณะที่สังคมไทยดำรงอยู่ด้วยความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจ คนจนยังจนยิ่งขึ้น มีมากขึ้น ขณะที่คนรวยยิ่งรวยมากขี้น ยิ่งมีโอกาสมากขี้นในการทำธุรกิจ ในการคอรัปชั่นที่ไม่อาจจับมือใครดมได้ง่าย ๆ ซึ่งคนจน คนไร้โอกาส ยิ่งต้องการได้รับการคุ้มครองดูแลจากรัฐให้มากขึ้นด้วย เพื่อเฉลี่ยรายได้ของคนรวยกับคนจนในระบบสวัสดิการทางสังคม


ผู้มีโอกาสมากควรร่วมจ่ายช่วยเหลือคนที่ขาดโอกาส ทั้งนี้ เพราะรายได้ทุกบาททุกสตางค์มาจากการใช้ทรัพยากรของทุกคนในชาติในการแสวงหารายได้และกำไรสูงสุด ตัวอย่างเช่น ตอนนี้พี่น้องสมัชชาคนจน จากเขื่อนปากมูลมารวมตัวกันอยู่หน้ารัฐสภาเพื่อขอให้ดำเนินการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เปิดเขื่อนปากมูล ตามที่เคยมีข้อตกลงกันไว้ว่าจะต้องเปิดน้ำปีละ 4-6 เดือน แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ผิดสัญญาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า นี่เป็นการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างผู้ทำธุรกิจใช้ไฟฟ้า กับชาวบ้านอาชีพประมงหาปลาขายกินไปวันวัน


ดังนั้น การสร้างระบบประกันสังคมเพื่อให้ทุกคนมีความมั่นคงในชีวิต มีการประกันรายได้ขั้นต่ำ เจ็บป่วยได้รับการรักษา ทุพพลภาพได้รับการดูแล มีบ้านอยู่อาศัย มีที่ดินทำกิน ยามชรามีที่อยู่ที่กิน ไม่ต้องขอทาน หรือรอลูกหลานเลี้ยงดูอย่างเดียว จึงเป็นทิศทางที่หลายฝ่ายกำลังพยายามผลักดันให้เกิด ทั้งแรงงานรับจ้างนอกระบบ แรงงานแบบรับงานไปทำที่บ้าน แรงงานที่มีอาชีพอิสระไม่มีนายจ้าง โดยรัฐบาลเองก็เร่งให้กองทุนประกันสังคม ขยายการคุ้มครองไปยังบุคคลอื่น ๆนอกเหนือจากลูกจ้างในระบบ


สำนักงานประกันสังคม ได้เตรียมการขยายความคุ้มครองและมีการแก้กฎหมายให้รองรับ แต่เป็นการดำเนินการที่ไม่มีการมีส่วนร่วมจากภาคของลูกจ้างและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ การให้สวัสดิการสังคมนี้เป็นระบบร่วมกันจ่ายสมทบ เดิมลูกจ้างกับนายจ้างจ่ายสมทบเท่ากันเข้ากองทุน รัฐก็จ่ายแต่ถือโอกาสจ่ายน้อยกว่าอีกสองฝ่าย เป็นระบบประกันสังคมที่ทุกคนร่วมจ่าย ร่วมกำหนดทิศทางการบริหารกองทุน


ดังนั้น หากจะมีการขยายไปยังกลุ่มคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ต้องมีการพิจารณาว่าคนเหล่านั้นจะต้องร่วมจ่ายสมทบเป็นประจำเป็นเงินเท่าไร ต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน หรือทุกปี หรือทุกอาทิตย์ ต้องจ่ายในราคาเดียวกับที่ลูกจ้างในระบบจ่ายหรือไม่ หากมีรายได้ไม่แน่นอนจะทำอย่างไร หากไม่มีนายจ้างร่วมจ่ายจะทำอย่างไร


เหล่านี้ล้วนเป็นรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ และที่สำคัญประชาชนต้องเข้าใจ ต้องได้รับการศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างดี ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อการขยายประกันสังคม หากคนไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด ก็ไม่อาจมีส่วนร่วมที่แท้จริงได้


ประกันสังคมไม่ใช่ของลูกจ้างเท่านั้น แต่สำหรับทุกคน การจะขยายต้องมีความรอบคอบ และรัฐต้องเข้ามารับผิดชอบเต็ม ๆ เหมือนที่ทำกับระบบประกันสุขภาพ ไม่อย่างนั้นลูกจ้างนอกระบบ ประชาชนทั่วไปลำบากแน่ แม้แต่รายได้ยังไม่แน่นอน จะเอาเงินออมที่ไหนมาสมทบเพื่อสร้างหลักประกันสังคมให้ตนเอง ทั้งลูกจ้างในระบบปัจจุบันเอง ก็ต้องออกมาให้ข้อมูลและร่วมดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจ ซึ่ง คนที่จะได้รับผลจากการขยายประกันสังคม ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนก็คือคนในครอบครัวของเราเองนั่นแหละ