Skip to main content

มา "ตรวจจิ๋ม" กันเถอะ, จบ

คอลัมน์/ชุมชน

1


ในตอนแรก ดิฉันตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องราวของการไปตรวจจิ๋มของดิฉันให้จบบริบูรณ์ภายในสองตอน ปรากฏว่า ดิฉันมีอาการอดทนรนทนไม่ได้ต้องมีตอนที่สาม สาเหตุคือ ดิฉันได้ไปตรวจครั้งที่สอง เพราะอยากได้การวินิจฉัยของหมอจากโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง และผลของการตรวจแตกต่างราวกับว่า "ฟ้ากับเหว" สิ่งที่สำคัญ "ซีสต์" ของดิฉันหายไปค่ะ


ดิฉันไม่ได้อยากเปรียบเทียบ แต่มันเห็นความ "ต่าง" มากเหลือกัน ทั้งที่สองแห่งเป็นโรงพยาบาลของ "รัฐบาล" เหมือนกัน อ้อ อีกอย่างค่ะ มีพี่คนหนึ่งบอกกับดิฉันว่า "จิ๋มของดิฉัน ทำประโยชน์ให้กับสาธารณะด้วย" แถมเพื่อนบางคนแนะนำให้ดิฉันเขียน "บันทึกของจิ๋ม" อีกด้วย มีหรือคะที่ดิฉันจะไม่กระหยิ่มยิ้มย่อง รีบเขียนมาตอนที่สามทันทีค่ะ


2


ดิฉันกลัดกลุ้มอยู่เป็นนานทั้งเรื่อง "ราคา" ของการผ่าตัดซีสต์ที่ต้องใช้เงินประมาณสองสามหมื่นบาท ในฐานะของนักศึกษาที่กินบุญเก่าแบบดิฉัน (หมายถึงการใช้เงินออมของตนเองนะค่ะ) ทำให้ต้องคิดมากเรื่องค่าใช้จ่ายมาก อีกสิ่งหนึ่งที่กังวลคือเรื่องขนาดของซีสต์ที่ใหญ่เท่ากับไข่ไก่ พร้อมกับกังวลเรื่องความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นจากการผ่าตัด ยังไม่พอค่ะแผลผ่าตัดเป็นที่หน้าท้องจะยาวแค่ไหน (ถึงกับไปขอเปิดดูของเพื่อนที่เคยผ่าตัดแบบนี้มาด้วย ขอบอก) ถือว่าเป็นช่วงที่ฟุ้งซ่านอย่างมากของดิฉัน


ระหว่างนี้เริ่มจากถามเพื่อนที่เป็นพยาบาล เพื่อนดิฉันคนนี้ก็แนะนำว่าให้ไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่งแถวสีลม พร้อมกับนัดแนะว่าดิฉันควรไปตรวจเมื่อไหร่ อ้อ ก่อนไปโรงพยาบาลควรตรวจสอบเวลาของการตรวจภายในด้วยนะคะว่าเขามีคลินิกการตรวจภายในวันไหน เราจะได้ไม่เสียเวลา โรงพยาบาลที่ดิฉันไปมีตารางการตรวจวันศุกร์ ก่อนไปโรงพยาบาลใหม่ ดิฉันไปที่โรงพยาบาลเดิม เพื่อประวัติคนไข้ เผื่อว่าข้อมูลที่หมอเคยตรวจจะเป็นประโยชน์บ้าง ซึ่งก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร ไปยื่นขอที่ห้องเวชระเบียน เจ้าหน้าที่จะถ่ายเอกสารให้ แถมไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ด้วยค่ะ


เช้าวันศุกร์ ดิฉันตรงไปที่ชั้น 7 ของโรงพยาบาล สายตาของดิฉันเจอกับผู้หญิงประมาณด้วยสายตา จำนวนประมาณร้อยกว่าคน หลากหลายวัยนั่งรออยู่แล้ว โอโฮ จำนวนมากจริง ๆ ตอนนั้นดิฉันถือว่ามาสายแล้วนะคะ ดิฉันไปถึงเวลา 8.30 น. คนไข้ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปเข้าคิวรอตรวจ เพราะโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้นชื่อว่ามีคนใช้บริการเยอะมาก ดิฉันคิดว่าคงได้ตรวจเป็นคิวท้าย ๆ แน่นอน


ระหว่างการรอตรวจ ดิฉันฆ่าเวลาด้วยการอื่นป้ายที่โรงพยาบาลปิดไว้ให้ความรู้กับคนไข้ ดิฉันอ่านเรื่องมะเร็งปากมดลูกเหมือนกับที่ดิฉันได้อ่านที่โรงพยาบาลแห่งแรกที่ได้ไปตรวจ ความรู้ที่ได้ก็ต่างกันค่ะ ที่นี่บอกว่าผู้หญิงที่ควรมาตรวจหามะเร็งคือ อายุตั้งแต่ 24 ปีขึ้นไป นั่นหมายถึงว่า เกณฑ์อายุน้อยลง
ว่ากันว่าการตรวจมะเร็งช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้อย่างหนึ่งแล้วค่ะ แล้วโรงพยาบาลนี้ไม่ได้ใช้คำว่า "สำส่อนทางเพศ" นะคะ เขาใช้คำว่า "มีคู่นอนหลายคน" ซึ่งให้ความรู้สึกบวกกับคนอ่านและอยากอ่านบรรทัดต่อไป พร้อมตั้งคำถามกับตัวเองได้ว่าเข้าเกณฑ์ต่อไปอีกหรือไม่ ดิฉันเห็นว่าข้อมูลของโรคเดียวกัน แต่การให้ข้อมูลที่แตกต่างกัน แถมบางที่ "เจือทัศนคติ" ต่อเรื่องต่างมาด้วย ขึ้นอยู่กับ "การเลือกให้ข้อมูล" ของแต่ละแห่งแต่ละคนค่ะ เฮ้อ


ประมาณเก้าโมง ดิฉันก็ถูกเรียกให้ไปนั่งรอตรวจข้างใน ภายในห้องแบ่งห้องตรวจเป็นสองฝั่ง ขนาดห้องพอเหมาะเรียงกันฝั่งละประมาณสิบกว่าห้อง ตรงกลางเป็นที่นั่งรอสำหรับคนไข้นั่งรอสองฝั่งเหมือนกัน หน้าห้องมีป้ายชื่อหมอด้วยนะคะ สีของห้องสว่างสบายตา ดิฉันเห็นว่าภายในห้องตรวจย่อยแต่ละห้องย่อยนั้น จะมีโต๊ะสำหรับหมอกับคนไข้นั่งซักเพื่อซักประวัติ โดยหมอจะเป็นผู้ซักประวัติคนไข้เองด้วย (เพราะประตูห้องไม่ได้ปิด) พอตรวจเสร็จหมอก็บอกผลกับคนไข้อีกครั้ง คนไข้เข้าไปในห้องหมอครั้งเดียวออกมาก็เป็นอันเสร็จสรรพ กลับบ้านได้ (อ้อ หากมีรายการจ่าย อย่าลืมจ่ายเงินก่อนกลับบ้านนะคะ) ระหว่างการนั่งรอดิฉันก็สังเกตไปเรื่อย ๆ แต่ก็รอคอยการตรวจนานเหมือนกันนะ ส่วนแอร์นั้นก็เย็นมาก ผู้หญิงที่นั่งข้างดิฉันรำพึงว่า หนาวจนตัวเขียวหมดแล้ว ดิฉันสังเกตเห็นว่า มีผู้หญิงที่วัยประมาณยี่สิบกว่า ๆ ถึงสามสิบต้น ๆ คละกันไปจนถึงวัยที่สูงขึ้น พวกเราล้วนคอยอย่างใจจดจ่อท่ามกลางเวลาที่ผ่านไปเรื่อย ๆ


สักครู่มีคุณป้าอายุ 70 ท่าทางแข็งแรงและอารมณ์ดี แกจะเป็นมิตร พูดคุยกับคนข้าง ๆ รวมทั้งตัวดิฉันด้วย คุณป้าบอกว่า ในชีวิตนี้ไม่เคยตรวจภายในเลย หมอแนะนำให้มาตรวจ แกบอกหมอว่า "ไม่ต้องตรวจหรอกหมอ ป้าแก่แล้ว" แต่หมอกลับบอกแกว่า "70 นี่นะ ยังไม่แก่หรอกป้า ไปตรวจเถอะ อย่างน้อยก็จะได้ช่วยป้องกันได้" ดิฉันได้ทีถามป้าว่า "ป้าอายไหมที่มาตรวจ" ป้าบอกว่า "ไม่อายหรอก อายทำไม ป้าเนี่ยเคยถามหมอว่า เห็น "ของ" (คุณป้าหมายถึง จิ๋มน่ะ) เยอะหมอจำได้บ้างไหม หมอบอกป้าว่า หมอจำไม่ได้หรอกว่าใครเป็นใคร เพราะวันหนึ่ง ๆ คนไข้เยอะ ไม่รู้ของใครเป็นของใคร"


ดิฉันถูกเรียกเข้าไปตรวจตอนเกือบห้าโมงเช้า หมอถามว่า เป็นอะไรมาวันนี้ ดิฉันตอบว่า "เป็นซีสต์ค่ะ" หมอก็ถามต่อว่า "รู้ได้อย่างไรว่าเป็นซีสต์" ดิฉันก็ตอบทันทีว่า "ไปโรงพยาบาลมาแล้วที่หนึ่ง และก็ทำอัลตราซาวน์มาแล้วค่ะ อยากได้ความคิดเห็นที่สองของหมอ"


คุณหมอก็ไม่ได้พูดอะไรต่อก้มเขียนประวัติดิฉันลงการ์ดคนไข้ พร้อมกับพลิกดูประวัติที่ดิฉันแนบมา หมอบอกว่าจะตรวจอัลตราซาวน์อีกครั้ง พร้อมกับบอกให้ดิฉันไปยื่นใบตรวจอัลตราซาวน์กับพยาบาลหน้าห้อง ดิฉันเดินออกมา พร้อมกับงง ๆ ว่า อ้าวเสร็จแล้วเหรอ ประมาณสองนาทีเนี่ยนะ ดิฉันส่งใบต่าง ๆ ในมือให้กับพยาบาล เธอบอกว่า วันนี้คิวอัลตราซาวน์เต็มแล้วค่ะ ต้องมาใหม่อีกครั้งวันศุกร์หน้า"


จากนั้น หัวหน้าพยาบาล (ที่รู้ว่าเธอเป็นหัวหน้า เพราะหลายคนเรียกเธอหัวหน้า)เ ดินมาหาดิฉันพร้อมกับบอกว่า "อ้าว ตรวจวันนี้ไม่ทันเหรอ คิวเต็มแล้วเหรอ" พยาบาลบอกว่า เต็มแล้วค่ะพี่ หัวหน้าก็หันมาพูดกับดิฉันว่า "พอมาถึงคราวหน้า ก็เสียบใบนัดหน้าห้อง อ้อ คราวหน้าใส่กระโปรงมานะคะ" แต่ก็แปลกใจว่าทำไมไม่มีการเรียกเก็บเงินจากดิฉันเลย ว่าแล้วดิฉันก็รีบโกยไปธุระอีกที่หนึ่งทันที


3


สัปดาห์ต่อมา วันศุกร์ เก้าโมงเช้า ดิฉันก็รีบไปตามนัด พอถึงชั้น 7 คนน้อยมาก บางตาไปเยอะเลย ดิฉันได้แต่เดาว่า คงเป็นช่วงสิ้นเดือน เลยไม่ค่อยมีคน ดิฉันยื่นใบนัด เจ้าหน้าที่บอกให้ไปจ่ายเงินค่าตรวจก่อนการเรียกเข้าไปนั่งรอ ค่าตรวจอัลตราซาวน์ราคา 400 บาทค่ะ เนื่องจากคนน้อย ดิฉันเลยไม่ต้อรอนาน พยาบาลก็เรียกดิฉันเข้าไปในห้องตรวจอัลตร้าซาวน์ เป็นห้องขนาดใหญ่ เข้าขั้น "กว้างขวาง" เลยหละค่ะ ดิฉันถูกเรียกเข้าไปพร้อมกับผู้หญิงอีกสองคน เพื่อให้เตรียมตัวเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าถุง วันนี้ดิฉันนุ่งกระโปรงมา พี่พยาบาลบอกว่า คุณใส่กระโปรงมา ถอดเฉพาะกางเกงชั้นในก็พอ


ดิฉันเข้าไปหลังฉากกั้นสีฟ้า สายตาก็เหลือบเห็นตะกร้าสีชมพูใส่ผ้าถุงสีชมพู พร้อมกับเขียนว่า "ผ้าถุงสะอาดทุกผืน หยิบจากข้างบนก่อน" อีกป้ายเขียนว่า "คราวหน้า ใส่ผ้าถุงหรือกระโปรงมาด้วย" อีกมุมหนึ่งมีอีกป้ายเขียนไว้ว่า "ถังสำหรับใส่ผ้าถุงใช้แล้ว" แจ่มมากค่ะ ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการพยายามสื่อสารกับคนไข้ที่ให้ใส่ผ้าถุงหรือกระโปรงมาเอง การซักผ้าของโรงพยาบาลจะได้ลดลง ประหยัดน้ำ รักษาสภาพแวดล้อมด้วย


สิ่งที่ดิฉันคาดไม่ถึงคือ หมอที่จะตรวจอัลตราซาวน์ให้ดิฉันนั้นเป็นคนเดียวกับที่ดิฉันตรวจเมื่อศุกร์ที่แล้ว เฮ้อ ต้องไปเข้าห้องน้ำอีกแล้ค่ะ ที่จริงไม่ได้ปวดฉี่หรอกค่ะ แต่ว่าตื่นเต้น (หมอหล่อด้วยแหละ ตัวเอง) พอดิฉันเข้าไปในห้องตรวจอัลตราซาวน์ ดิฉันเห็นขาหยั่ง ก็แปลกใจ ไม่เหมือนขาหยั่งที่เคยเห็น ที่เหมือนกับการล๊อคร่างกายตั้งแต่ท่อนล่างของเราไว้ ทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวเอง สร้างความหวาดหวั่นให้กับเราอีกนัก


ส่วนอันนี้ เหมือนกับเรานอนชันเข่า มีที่วางเท้า ทำให้เข่าเรางอ ขาเราจะแยกออกเล็กน้อย ดิฉันรู้สึกดีกับที่ตรวจแบบนี้มาก เรียกได้ว่า "ปิ๊ง" กับขาหยั่งอันนี้มาก อยากตั้งชื่อให้มันใหม่ ตอนนี้คำว่าขาหยั่ง ทำให้ผู้หญิงหลายคนเข็ดขยาด เมื่อนึกถึงอาการเป็นตะคริว เนื่องจาก "ถ่างขา" รอหมอนานมาก ดิฉันอดรนทนไม่ได้จึงถามว่า ขาหยั่งแบบนี้ดีกว่าหรือเปล่าค่ะ หมอบอกว่า "ขึ้นอยู่กับประโยชน์การใช้งานมากกว่าครับ"


อ้อ ก่อนที่ดิฉันจะก้าวขึ้นเตียงตรวจ คุณพยาบาลเอากระดาษสีขาว (เหมือนกระดาษห่อข้าวมันไก่ค่ะ) มารองช่วงก้นดิฉัน เมื่อใช้เสร็จก็ทิ้งเลย ทำให้ดิฉันนึกถึงโรงพยาบาลแรกที่ผ้ารองก้นใช้ผืนเดียวตลอดทั้งวันเลยอ่ะ


ระหว่างที่พยาบาลจัดท่าทางดิฉัน หมอก็เตรียมตัว ใส่ถุงมือ เตรียมเครื่องซาวน์ที่เป็นแท่งยาว ๆ ขนาดนิ้วหัวแม่มือ จากนั้นคุณหมอก็ใส่ถุงยางอนามัย พร้อมกับหยอดสารหล่อลื่น เพื่อให้เจ้าเครื่องซาวน์สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างไม่ติดขัด (ซึ่งดิฉันชอบขั้นตอนนี้มาก ชอบดูค่ะ) แต่ว่า ขวดใส่สารหล่อลื่นของคุณหมอคล้ายกับขวดซอสพริกสีส้ม ๆ ที่ใช้บีบตามร้านอาหาร ทำให้นึกถึงข้าวไข่เจียวทันทีเลย แต่ว่าไม่เป็นไรค่ะ ถือว่าถูกสุขอนามัย ดิฉันเห็นคุณหมอจ้องแต่จอมอนิเตอร์ตลอด แต่มืออีกข้างของหมอก็จับเจ้าเครื่องนี้เคลื่อนไปทุกมุมในช่องคลอดดิฉัน อีกมือหนึ่งก็วางบนแป้นของคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก ก็เห็นการปริ้นต์ผลออกมา จากนั้นก็ทำอย่างเดิมอีก


ดิฉันคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นการตรวจดูรังไข่หรือปีกมดลูกซ้ายขวาของดิฉัน หมอก็ถามดิฉันว่า "ประจำเดือนยังมาปกติไหม" ดิฉันก็ตอบว่า ปกติค่ะ จากนั้นหมอก็บอกดิฉันว่า "หมอไม่เห็นมี ซีสต์อะไรเลย หมอไม่สามารถหาโรคอะไรให้คุณได้" แหม ดิฉันคิดในใจว่า หมอขา มันไม่เจอก็ไม่ต้องหาโรคอะไรมาให้ดิฉันหรอก ที่มาหาหมอเนี่ย เพราะไม่อยากมีโรคอะไรทั้งนั้น ดิฉันนึกนิยมชมชอบการรวมบริการของโรงพยาบาลนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ดิฉันหรือคนไม่ต้องวิ่งไปตามตึกต่าง ๆ หรือแผนกต่าง ๆ ให้วุ่นวายเปล่า ๆ ขอบอกว่าทั้งหมดนี้เสร็จในเวลาสิบโมงค่ะ ขอบอก


4


ดิฉันอยากตะโกน อยากกรี๊ดดัง ๆ ให้ลั่นโรงพยาบาล (ไม่ได้ทำหรอกนะคะ) ดิฉันได้แต่ขนลุกทั่วตัวซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เพราะว่าหมอที่โรงพยาบาลเดิมบอกว่ามีซีสต์ต้องผ่าตัดออก แต่ที่โรงพยาบาลนี้หาไม่เจอ ดิฉันถามหมอต่อว่า "หมอคะ มันเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มากเลย มันเป็นไปได้อย่างไงค่ะ" หมอบอกว่า "มันไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์อะไรหรอกคุณ ซีสต์พวกนี้มันเป็นคล้ายสิวน่ะ มันเกิดขึ้นได้มันก็หายไปได้ "


ขนลุกเป็นครั้งที่สอง เมื่อนึกถึงว่า หากตัวเองตัดสินใจผ่าตัดไปตั้งแต่ครั้งแรก ป่านนี้ดิฉันก็เพิ่งออกจากโรงพยาบาลได้ไม่กี่วัน เพิ่งผ่านพ้นความเจ็บปวด ร่างกายเพิ่งจะฟื้นตัว คงได้ลูบคลำ "แผลเป็น" บริเวณหน้าท้องตัวเอง และแผลเป็นนี้ต้องอยู่บนร่างกายของดิฉันจนวันตาย แถมต้องเสียเงินค่าผ่าตัดไปประมาณสองถึงสามหมื่นบาท (บอกแล้วค่ะ มันเป็นเงินจำนวนมากทีเดียวสำหรับนักศึกษากินบุญเก่าแบบดิฉัน) ยังไม่ต้องนึกถึงความกลัดกลุ้มร่วมสองเดือนของดิฉัน ความห่วงใยของญาติ พี่น้อง เพื่อน พร้อมกับการหลั่งน้ำตากับแฟนหนุ่มระบายความกลุ้มใจ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของแพทย์ที่ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวของหมอ


ดิฉันไม่ได้โกรธแค้นหมอ ไม่ได้ติดใจกับการตรวจอัลตราซาวน์ของโรงพยาบาลแรกที่ตรวจดิฉันนะคะจริงเพียงแต่อยากตั้งคำถามเรื่อง "การเลือกให้ข้อมูล" ของหมอ และข้อมูลของหมอก็มีอำนาจมากต่อชีวิตของคนไข้ ดิฉันเคยได้ยินเรื่องการให้คำปรึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่คัดสรรแล้ว ผ่านกรอบ ผ่านแว่นสายตาของผู้ให้บริการหรือผู้เชี่ยวชายที่คิดว่า "ดี" แต่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องผลกระทบหรือ "ดี" ในมุมของผู้รับบริการหรือคนไข้เลย


เพื่อนหลายคนบอกว่า "โชคดีจัง" แต่ดิฉันไม่อยากนึกว่าเป็นความ "โชคดี" ของดิฉัน เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องโชคลางอะไรทั้งนั้น เพียงแต่ดิฉันเชื่อว่า ร่างกายของเราเป็นของเรา เราเป็นผู้มีอำนาจในร่างกายของตนเอง รวมทั้งการที่มีโอกาสในการแสวงหาบริการ ข้อมูล หรือแหล่งบริการที่มากกว่าหนึ่งแห่ง แต่เมื่อนึกถึงคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสแบบดิฉัน ต้องมีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ดิฉันได้บทเรียนอย่างคุ้มค่ากับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง


หากมีใครคนใดคนหนึ่งจะมาทำอะไรกับร่างกายของเรา พึงนึกเสมอนะคะว่า "ร่างกายของเรา เป็นของเราค่ะ"


...........


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ ก.พ. ๒๕๔๘