Skip to main content

การจัดการ " ขยะ" บทพิสูจน์ความสามารถองค์กรปกครองท้องถิ่น

คอลัมน์/ชุมชน

เรื่อง ขยะพเนจรของเมืองไปแอบทิ้งในเขตชนบท การกำจัดขยะในชนบทใช้การเผาไหม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดหมอกควันและมลพิษในอากาศ การต่อท่อน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ เหล่านี้เป็นแนวทางการจัดการขยะส่วนใหญ่ของผู้รับผิดชอบคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้ง อบต. เทศบาล


ชนิดของขยะในเมืองกับชนบทก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะขยะที่เป็นพลาสติก ตั้งแต่หลอดดูด ถุงกอบแกบ วัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ขวดน้ำดื่ม ที่นับวันยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ กล่องโฟมต่าง ๆ ตลอดจนขยะที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งโทรศัพท์ โทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่วิธีการจัดการขยะเหล่านี้ยังเป็นแบบเดิม ๆ ดังกล่าวมาข้างต้น


สิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งเลือกทางออกในการกำจัดขยะที่มีจำนวนมากขึ้นคือ การสร้างเตาเผาขยะ ที่ต้องลงทุนก่อสร้างสูง การใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากที่ราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ การดูแลรักษา การทดแทนเมื่อชำรุดเสียหาย เหล่านี้คือต้นทุนสำหรับการเผาขยะ ทั้งนี้ ยังมีผลกระทบด้านมลพิษที่เกิดขึ้นแน่ ๆ จากการเผาขยะคือสารไดออกซิน ที่เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยการเผาขยะต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส จึงจะทำให้เกิดสารไดออกซินในปริมาณที่น้อย


อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทยมีการเผาไหม้อื่น ๆ จำนวนมาก เช่น เผาศพ ไฟไหม้ป่า การเผาเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูก รวมถึงแหล่งกำเนิดไดออกซินจำนวนมากกว่าอีกคือ โรงงานฟอกย้อม โรงงานที่ผลิตโดยมีสารคลอรีนประกอบ การใช้สารพิษกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) ที่ไหลซึมลงดิน ลงแม่น้ำ สะสมในสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ที่สุดแล้วมาสะสมในร่างกายมนุษย์ มีผลก่อให้เกิดมะเร็งซึ่งเป็นโรคมีค่าใช้จ่ายสูง และทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ในบ้านเรา


ชาวบ้านในชุมชนคือองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการสร้างขยะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บริหารจัดการและกำจัดขยะให้มีคุณภาพมากที่สุด ซึ่งเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพ ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ความตระหนักต่อการลดปริมาณขยะ การลดขยะเป็นพิษ ขยะที่ย่อยสลายยากของชาวบ้าน


ต่อให้มีการสร้างเตาเผาขยะจำนวนมากเท่าใด แต่หากไม่อาจลดปริมาณขยะได้ก็ย่อมถือว่าเป็นการจัดการที่ขาดประสิทธิภาพและสิ้นเปลืองสูงมาก ดังนั้น การรณรงค์สร้างความเข้าใจต่อประชาชนผู้ผลิตขยะในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ต้องเกิดขึ้น การรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องการแยกขยะ การลดปริมาณขยะ ควรเป็นกิจกรรมอับดับแรก ๆ ของผู้บริหารท้องถิ่น ที่ต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากพอ ๆ กับที่อนุมัติสร้างเตาเผาขยะ หรือซื้อพื้นที่ฝังกลบขยะ


นี่คือแนวทางการจัดการขยะที่ยั่งยืน และอยู่บนฐานของการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนอกจากการประชาสัมพันธ์แล้ว การบริหารจัดการเรื่องการเก็บขนขยะขององค์กรท้องถิ่นก็ต้องลงทุนสูงขึ้น ทั้งการแยกแยะรถเก็บขนขยะ การจัดวางถังเก็บขยะแบบแยกประเภทชัดเจน ไม่ใช่ให้ประชาชนแยกขยะแล้ว แต่ตอนเก็บกลับเทรวมกันเหมือนเดิม ซึ่งถือเป็นความไร้ความรับผิดชอบขององค์กรท้องถิ่นโดยสิ้นเชิง


การมีวิสัยทัศน์ในเรื่องการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป รวมทั้งวิสัยทัศน์ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ตั้งแต่การรับรู้ร่วมกัน การวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน การตัดสินใจการวางแผนการแก้ปัญหาร่วมกัน และติดตามประเมินผลและพัฒนาร่วมกัน


สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นในการบริหารงานท้องถิ่น ซึ่งยังคงมีลักษณะเป็นเจ้านาย ที่เมื่อได้รับอำนาจบริหารไปแล้ว ก็ใช้เองโดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง รวมถึงใช้เงินงบประมาณกันเองอย่างเมามัน หาทางสร้างเตาเผาขยะ เปิดประมูลให้เอกชนมาเก็บขนขยะ โดยไม่รับผิดชอบว่าเอกชนเหล่านั้นจะไปใช้สถานที่ใดในการกลบฝัง หรือการติดตามควบคุมคุณภาพการกลบฝัง เท่ากับว่าเป็นการจัดการแบบกวาดให้พ้นหน้าบ้านตนเอง แต่จะไปเรี่ยราดบ้านคนอื่นอย่างไร ไม่สนใจ จึงไม่แปลกที่เทศบาลเมืองต่าง ๆ มักจะได้รับการประท้วงร้องเรียนจากชาวบ้านต่างอำเภอที่ได้รับความเดือดร้อนจากบ่อทิ้งขยะที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และทำลายสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ


นี่ยังไม่นับรวมการจัดการมลพิษต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้สารเคมีของชาวบ้านในการกำจัดหญ้า การควบคุมโรงงานในพื้นที่ที่สร้างสารไดออกซิน เหล่านี้เป็นบทพิสูจน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเมื่อได้รับการถ่ายโอนงบประมาณมาสู่ท้องถิ่นในจำนวนมากขึ้นตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการกระจายอำนาจ


การจัดการปัญหาของท้องถิ่นใด ต้องให้คนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น จะทำให้ยั่งยืนและมีคุณภาพได้ตลอดไป