Skip to main content

ถามยังไง…เด็กจึงไม่ตอบ???

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้ใคร่อยากเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับ "งานประจำ" ตลอดเวลาหนึ่งขวบปีที่ผ่านมา ในฐานะคนประสานงานโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ซึ่งพยายามผลักดันเรื่องเพศศึกษาให้เข้าไปในสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ จึงต้องมีการเตรียมคู่มือ หลักสูตรอบรมครูและติดตามหนุนเสริมการทำงานอย่างต่อเนื่อง


การเรียนรู้หลังห้อง เพื่อทำหน้าที่หนุนเสริมวิชาการ หรือเรียกเป็นภาษาคำเมืองว่า Coaching กับบรรดาคุณครูเพศศึกษาทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่ภาคเหนือ ใต้ ตะวันตกและกรุงเทพมหานคร มักจะมีขั้นตอนการเข้าโรงเรียนแต่ละแห่งจะครือ ๆ กัน คือ เดินทางไปถึงก่อนเวลาเพื่อคารวะเจ้าที่ เอ๊ย…ผู้อำนวยการโรงเรียน ก่อนตรงไปพบคุณครูผู้สอนที่ใจดี๊ดี…


ทักทายกับคุณครูพอหอมปากหอมคอ จนรู้ว่า วันนี้คุณครู "เลือก" หยิบกิจกรรมอะไรมาจัดกระบวนการเรียนรู้กับเด็ก ๆ เพื่อจะได้รีบเปิดอ่านหลักสูตรและทำความเข้าใจกิจกรรมบทนั้น ซึ่งในระหว่างที่คุณครูยืนหน้าห้องทำกิจกรรมกับเด็กนักเรียน คนหลังห้องกลายร่างเป็นขุนพลอยพยักทำหน้าหงึกหงัก และส่งยิ้มหวานเป็นกำลังใจให้กันตามประสาโคชเอื้ออาทร…


สิ่งที่คุณครูท่านหนึ่งสะท้อนให้ฟังเมื่อดำเนินกิจกรรมจบลง แทบจะไม่แตกต่างกับคุณครูเพศศึกษาในโรงเรียนอื่น ๆ นั่นคือ เรื่อง "ความกังวลใจ" กับวิธีการตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ เพราะว่า นักเรียนร่วมมือทำกิจกรรมอย่างเต็มที่และสนุกสนาน แต่พอกิจกรรมจบลง คุณครูไม่รู้ว่าจะตั้งคำถามยังไง ให้นักเรียนตอบ คุณครูจะทำยังไงดี?


เราจึงถามคุณครูท่านนี้ไปว่า "แล้วตอนที่คุณครูทำกิจกรรม คิดว่าลักษณะคำถามที่คุณครูใช้กับเด็กนักเรียนเป็นอย่างไรบ้างคะ…"


คุณครูนิ่งไปชั่วขณะ แล้วตอบว่า "ส่วนใหญ่จะตั้งคำถามไปเรื่อย ไม่รู้ว่าจะพาเด็กไปไหน บางทีก็ออกนอกประเด็นไปกับเด็ก และมักจะเป็นคำถามแบบปลายปิด เช่น ถามว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการถามคำถามที่จะได้รับคำตอบ หรือเหตุผลที่หลากหลายจากเด็กนักเรียน"


เราจึงตั้งคำถามให้คุณครูช่วยคิดต่อว่า "หากคุณครูจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองและเพื่อน ๆ อย่างมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมครั้งต่อไป คุณครูคิดว่าน่าจะเป็นอย่างไร?"


คุณครูขมวดคิ้วเล็กน้อยก่อนจะตอบว่า "ก่อนอื่นตัวครูเองจะต้องเตรียมความพร้อมให้ดีก่อนจัดกิจกรรมทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของแต่ละกิจกรรม การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ การศึกษาขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมเพื่อหยิบยกมาเป็นประเด็นชวนคิด ชวนคุย แล้วตั้งคำถามกับนักเรียนแต่ละคนว่า พวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกิจกรรมนั้น ซึ่งคุณครูจะได้เชื่อมโยงคำตอบของนักเรียนที่แตกต่างกันนำมาเป็นประเด็นสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมได้อย่างมีส่วนร่วม"


เมื่อได้ฟังคำตอบจากคุณครูแล้ว เราเองรีบสนับสนุนคำตอบนี้ทันทีเลยว่า "เยี่ยมจริง ๆ เลยค่ะ เพราะการตั้งคำถามเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมคิดว่าครั้งต่อ ๆ ไป ห้องเรียนของคุณครู นอกจากจะสนุกสนานแล้ว เด็ก ๆ ยังได้สาระที่เกิดจากการเรียนรู้จากตัวเอง จากความคิดเห็นของเพื่อน ๆ และการกระตุ้นให้คิดจากคุณครูอีก"


คุณครูท่านเดิมส่ายหัวเล็กน้อยพองาม ก่อนพูดว่า "คนองค์การ PATH นี่จริง ๆ เลยนะ ถามอะไรไป ไม่เคยบอกคำตอบมาเลย มีแต่ตั้งคำถามกลับคืนมาให้คิดตลอด เฮ้อ!"