Skip to main content

ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ (1)

คอลัมน์/ชุมชน

สุขภาพหมายถึงภาวะเป็นสุขทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ ที่มนุษย์พึงได้รับอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข มีสุขภาวะที่เหมาะสม สังคมเอื้ออาทร ลดความรุนแรง สิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้เสมอทั้งเรื่องการป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และการฟื้นฟูสุขภาพหลังการเจ็บป่วย หรือเมื่อทุพพลภาพ เมื่อมนุษย์ทุกคนได้รับบริการ มีบรรยากาศสุขภาวะที่ดี ไม่มีคนใดคนหนึ่งถูกแบ่งแยกกีดกันออกไปจากระบบสุขภาพ เมื่อนั้นจึงจะเรียกได้ว่าเกิดความเป็นธรรมด้านสุขภาพขึ้น


แต่ในสภาพปัจจุบัน คนที่ไม่มีเอกสารแสดงสถานะบุคคลว่าเป็นคนไทย เช่น กลุ่มชาวเขาบางส่วน กลุ่มคนไทยที่ถูกกันออกไปเมื่อมีการแบ่งแยกประเทศ คนไร้บ้าน เหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลรักษาเพราะถูกมองว่าไม่ใช่คนไทยเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน ทั้งที่เกิดและเติบโตในเมืองไทย นี่คือความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพที่ดำรงคงอยู่


ขณะเดียวกัน แม้เป็นคนไทย มีบัตรประชาชน แต่เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่อาจได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ ไม่มียาที่เหมาะสมกับสาเหตุการเกิดโรค อันเนื่องจากราคายาที่สูง รัฐบาลไม่อาจจัดสรรให้ได้ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลไม่อาจควบคุมราคายาได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากยากลายเป็นสินค้าเหมือนสินค้าทั่ว ๆ ไป ที่บริษัทผู้ผลิตมีสิทธิเต็มที่ในการกำหนดราคา ภายใต้ระบบสิทธิบัตร


เมื่อทุกรัฐยอมรับให้ยาเป็นสินค้า เหมือนสินค้าทั่ว ๆ ไปย่อมอยู่ภายใต้กฎกติกาการค้าเสรี ใครมีกำลังเงินซื้อได้ซื้อไป ใครจนก็ไม่มีสิทธิได้ใช้สินค้านั้น ๆ หากเป็นรถเบนซ์ คนจนไม่มีสิทธิก็ไม่เป็นไร แต่หากเป็นยารักษาโรค คนจนไม่มีสิทธิก็คือต้องเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน ที่สุดอาจถึงแก่ชีวิต นี่คือความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพ อีกประการหนึ่ง


สภาวการณ์มีสุขภาพดีของประชากร เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จในการบริหารประเทศ ตราบใดที่ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยเอดส์ ยังไม่ได้รับการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ มียาที่ดีมีผลข้างเคียงน้อยใช้ในการรักษา เมื่อนั้นแสดงว่ารัฐยังไม่ได้สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้เกิดขึ้น


การสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพต้องมาจากการมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนทุกคน รวมถึงการดำเนินนโยบายด้านอื่น ๆ ที่ไม่สมควรส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยมุ่งมั่นให้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด มีการเปิดตลาดการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มขึ้น การเจรจาเปิดเสรีการค้าแบบทวิภาคีเพิ่มขึ้นกับหลายประเทศ โดยไทยต้องเอาคุณภาพชีวิตของประชาชนไปแลกมา


โดยเฉพาะการเจรจากับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองบริษัทยา การปกป้องราคายา ผ่านระบบสิทธิบัตรยาที่ยาวนาน รวมทั้งการปิดกั้นช่องทางที่จะให้ประเทศไทยใช้กฎระเบียบบางอย่างในการผ่าทางตันกรณีเกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพขึ้นในประเทศ นั่นคือ เมื่อยาราคาแพง ไม่อาจบรรจุไว้ในแผนการรักษาของระบบหลักประกันสุขภาพได้ หรือก่อให้เกิดการเลี่ยงการดูแลรักษาของโรงพยาบาลต่าง ๆ


รัฐบาลไทยมีสิทธิที่จะจัดหายาชื่อสามัญที่มีคุณภาพทัดเทียมยาของบริษัทต้นแบบที่จดสิทธิบัตร มาใช้ในประเทศได้ โดยไม่ผิดกติกาว่าด้วยการละเมิดสิทธิบัตร แต่ภายใต้ข้อเสนอของรัฐบาลอเมริกันในการเจรจาเขตการค้าเสรีได้ระบุชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ ซึ่งรัฐบาลไทยก็ยังเดินหน้าไปเจรจากับเขาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีความกล้าหาญพอที่จะผ่าทางตันในการจัดหายาราคาประหยัดมาไว้เพื่อรักษาประชาชน


รัฐกำลังเป็นสาเหตุหลักของการสร้างความไม่เป็นธรรมในระบบสุขภาพ อย่าลืมว่าวันใดวันหนึ่ง คนรวยก็มีสิทธิป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เงินรักษาสูงมาก แม้จะสามารถซื้อยารักษาเอง ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน แต่หากเรื้อรังเนิ่นนาน คนรวยก็อาจล้มละลายจากการรักษาโรคได้ ดังนั้น เราควรมาช่วยกันสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับการกำหนดราคายาที่เหมาะสม การจัดสรรงบประมาณที่พอเพียง การดำเนินนโยบายที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในชาติ เรื่องความเป็นธรรมนี้มีรายละเอียดอีกมากที่จะค่อย ๆ ทำความเข้าใจและเรียนรู้ไปด้วยกันต่อไป


สำหรับขณะนี้ ต้องจับตาดูว่ารัฐบาลไทยมอบหมายให้ผู้แทนไทยไปเจรจาเอฟทีเอรอบ 4 กับสหรัฐฯ อย่างไร ยอมให้เขาใช้ระบบสิทธิบัตรยาที่จำกัดมาบังคับเราหรือไม่


คอยดูผลการเจรจาระหว่างวันที่ 11-15 กรกฎาคม นี้ก็แล้วกัน