Skip to main content

นโยบายด้านสุขภาพที่ไม่เป็นธรรม

คอลัมน์/ชุมชน

นโยบายเร่งสร้างให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางด้านการรักษาในแถบเอเชีย (ฮับด้านสุขภาพ) ที่นายกรัฐมนตรีแสดงออกถึงความมุ่งมั่นต่อการดำเนินการนโยบายต่างประเทศเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีโรงพยาบาลชั้นดี มีหมอฝีมือดี มีพยาบาลผู้ชำนาญการ นั้น หากมองอย่างผิวเผินก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องดี ทำให้ประเทศไทยมีรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก คนไทยมีงานทำ เศรษฐกิจจะดีขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้คนไทยมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และมีสุขภาพดียิ่งขึ้นด้วย เป็นการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลตรงไปตรงมา


แต่หากมองให้ลึกซึ้งไปกว่านั้นว่าจะมีเพียงผลบวกด้านเดียว หรือจะมีผลลบตามมาด้วยหรือไม่ เช่น เมื่อมีชาวต่างชาติมารับบริการสุขภาพในไทยมากขึ้น ก็มีความต้องการเตียงในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น จำนวนหมอ พยาบาลเพื่อดูแลรักษาเพิ่มขึ้น มีการจ้างงานพนักงานในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น มีการลงทุนสร้างโรงพยาบาลทันสมัยหรูหราเพิ่มขึ้น


คนไทยธรรมดาสามัญที่ได้รับผลดี คือกรรมกรก่อสร้างที่อพยพเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าเมืองมาก่อสร้างโรงพยาบาล มีรายได้ตั้งแต่วันละร้อยกว่าบาทถึงสองร้อยห้าสิบบาท (ช่างฝีมือ) ซึ่งเป็นค่าจ้างรายวัน ไม่มีหลักประกันว่าจะมีงานทำตลอด หรือเมื่อตกงานก็ไม่มีหลักประกันการว่างงาน ไม่มีสวัสดิการสังคมอื่น ๆ ช่วยเหลือ คือหาได้วันละเท่าไร ต้องใช้กินอยู่ทั้งหมด รวมทั้งเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องใช้เงินก้อนนี้


แต่หากว่าหมอ พยาบาล ย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลที่ดูแลชาวต่างชาติ จะเหลือหมอ พยาบาล สักกี่คนเพื่อดูแลกรรมกร คนงาน ชาวบ้านในชนบท คนที่ใช้บัตรหลักประกันสุขภาพ (สีเหลือง) ที่จ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทเมื่อไปถึงโรงพยาบาลใกล้บ้านจะมีหมอรักษาให้กี่คน ต้องรอคิวนานกันเป็นวันเหมือนเดิม คุณภาพชีวิตจะอยู่ที่ไหน


คงน่าสมเพชที่สุด ที่เมืองไทยจะมีโรงพยาบาลทันสมัยหรูหราเพื่อรับใช้คนต่างชาติ แต่คนไทยสามัญธรรมดาต้องเข้าคิวรอหมอเป็นวัน และถูกจำกัดสิทธิที่จะได้รับการรักษาในบางโรค หรือมีคนแก่ของญี่ปุ่น ยุโรป เดินทางมาใช้บริการดูแลแบบครบวงจรในบ้านเรา (ลองสเตย์) มีบ้านพักอาคารทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีหมอพยาบาลดูแล แต่คนแก่บ้านเราไม่มีโอกาสได้รับบริการที่สะดวกสบายแบบนั้น โดยเฉพาะกรณีที่ลูกหลานยากจนไม่มีเงินจุนเจือพ่อแม่ที่แก่ชรา คนแก่บางคนอาจได้รับการช่วยเหลือจากรัฐผ่านระบบสงเคราะห์เบี้ยยังชีพเดือนละ 300 บาท ที่หากนับเป็นเม็ดเงินแล้วเป็นจำนวนน้อยนิด เมื่อเทียบกับรายได้มหาศาลที่โรงพยาบาลที่ดูแลคนต่างชาติได้รับ


เม็ดเงินที่คนต่างชาติมาใช้บริการฮับสุขภาพของไทย จะตกไปอยู่ในมือผู้ถือหุ้นหลักของโรงพยาบาล ซึ่งมีไม่กี่ตระกูลที่ยิ่งใหญ่อยู่ในการถือหุ้นในภาคธุรกิจและในตลาดหุ้น ซึ่งพูดวงเงินกันเป็นร้อยล้าน พันล้าน ถึงหมื่นล้าน เม็ดเงินเหล่านี้ก็ถูกใช้ไปกับการซื้อขายสิ่งอำนวยความสะดวกแบบฟุ่มเฟือย ซื้อสินค้าอิมพอร์ต เช่น สามารถซื้อรถสปอร์ตให้ลูกขับไปเรียนหนังสือคันละสิบกว่าล้านได้สบาย ๆ พาครอบครัวบินไปพักผ่อน ชอปปิ้งต่างประเทศปีละหลายครั้งได้


รายได้ที่รัฐได้รับจากภาษีรายได้ ภาษีการทำธุรกิจโรงพยาบาล ที่เก็บเข้ากระทรวงการคลัง ก็ถูกนำมาใช้ในรูปงบประมาณบริหารประเทศ ที่จำกัดจำเขี่ยในการดูแลสุขภาพประชาชน นโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ค่าธรรมเนียม 30 บาท) ทำท่าจะไปไม่รอด ตั้งแต่ดำเนินการมาเมื่อปี 2544 มีแต่โรงพยาบาลออกมาร้องว่าโรงพยาบาลกำลังจะล้มละลาย ไม่มียา ไม่มีหมอ รักษาคนไข้ เพราะรัฐจัดสรรเงินให้ไม่เพียงพอ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่กล้าหาญพอจะปฏิรูประบบสาธารณสุขในประเทศอย่างแท้จริง เช่น การเปลี่ยนวิธีคิดการผลิตนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล ที่มุ่งคัดกรองเอาแต่คนเรียนเก่งเข้าเรียน จนสกัดลูกชาวบ้านธรรมดาไม่ให้มีโอกาส คนรวย คนเก่ง เมื่อเรียนหมอแล้วก็ไม่อยากอยู่ชนบท อยากใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไปอยู่ตามโรงพยาบาลในเมืองหมด ไม่เหลือหมอรักษาโรคทั่วไปไว้ดูแลชาวบ้าน ที่สุดก็ไปรักษาคนต่างชาติกันหมด


จะนับว่านี่เป็นนโยบายที่เป็นธรรมด้านสุขภาพได้อย่างไร หากยังมีคนที่ร่ำรวย เข้าถึงโอกาสการรักษา กับคนที่ยากจน ไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง รัฐควรจริงใจว่าจะรับใช้ประชาชนของตนเองที่เทคะแนนเลือกตั้งมาให้ หรือจะทำตัวหน้าไหว้หลังหลอก ปากหนึ่งว่าจะสร้างหลักประกันสุขภาพ แต่อีกปากก็บอกว่าไทยต้องเป็นฮับสุขภาพไปอย่างนี้


คนเราเมื่อได้รับทุกข์ก็คงจะไม่ยอมให้หลอกกันไปได้ตลอดชาตินี้หรอก ยังมีโอกาสที่รัฐจะสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพได้ หากกล้าพอที่จะดูแลรักษาคนในประเทศให้มีสุขภาพดี มีสมองดี ที่สุดคนในชาติจะช่วยสร้างมูลค่ารายได้ให้รัฐได้ หากเขาสามารถทำงาน มีฝีมือ มีรายได้หมุนเวียนในประเทศอย่างเต็มที่ เมื่อคนมีสุขภาวะดีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม จึงจะถือว่ามีความเป็นธรรมด้านสุขภาพ