Skip to main content

การอภิปรายนโยบายรัฐบาล

สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาได้เปิดอภิปรายถึงนโยบายรัฐบาลทักษิณ ๒ ซึ่งทำตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลต้องมาแถลงต่อสภาว่าจะมีนโยบายในการบริหารประเทศอย่างไร


น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า เวลาที่มีให้กับสมาชิกรัฐสภามีจำกัด และกว่าจะตกลงกันได้ก็เป็นเช้าวันพุธในวันที่จะมีการเปิดอภิปรายแล้ว


สรุปแล้ว ส.ส.พรรคไทยรักไทยขอเวลาอภิปราย ๑๐ ชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายค้านขอ ๑๐ ชั่วโมง ส่วน ส.ว.ก็ได้เวลาอภิปราย ๑๐ ชั่วโมงเช่นเดียวกัน ส่วนคณะรัฐมนตรีขอเวลาชี้แจง ๖ ชั่วโมง


เนื่องจากจำนวน ส.ว. มี ๒๐๐ ท่าน ก็เลยให้เวลาอภิปรายคนละ ๓ นาที ซึ่งขอเรียนว่า เวลา ๓ นาทีจะอภิปรายนโยบายรัฐบาลได้ยากยิ่งนัก


ความจริงแล้วผมขอเวลาอภิปรายในกรรมาธิการของวุฒิสภาว่าจะขอใช้เวลาอภิปราย ๑๕ นาที แต่เมื่อมีมติออกมาเช่นนี้ ผมก็เกรงใจเพื่อนสมาชิกวุฒิสภา เพราะได้อภิปรายทุกครั้งมาในอดีตเมื่อมีการอภิปรายรัฐบาล


สมาชิก ส.ว.หลายท่านก็ยังไม่ได้อภิปราย ครั้งนี้มี ส.ว.ใช้สิทธิทั้งสิ้น ประมาณ ๘๐ คน เรียกว่าช่างพูดกันทั้งนั้น ๓ วันที่ให้เวลาแก่รัฐสภา ก็คิดว่าเป็นมุมมองที่ดีที่รัฐบาลจะได้รู้ถึงความขอคิดเห็นจากตัวแทนประชาชน


ผมคิดว่าพวกเราต้องคอยติดตามว่ารัฐบาลจะทำได้ตามที่รับปากไว้ในสภาหรือไม่ เช่น เรื่องการแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา เรื่องครูขาดแคลน ครูทำงานอย่างหนักด้านการเขียนรายงาน ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษารับปากว่าจะแก้ไขโดยด่วน เรื่องการแก้ปัญหาของแพทย์ การแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาเหล่านี้ สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข


ผมได้อภิปราย ๖ นาที ได้พูดถึงนโยบายที่รัฐบาลต้องทำอย่างรีบด่วน เพราะเป็นปัญหาต่อเนื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ นโยบายปราบปรามการทุจริตทางราชการ ซึ่งเป็นจุดอ่อนรัฐบาลที่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง เช่น ในเรื่องของการทุจริตในโครงการลำไยอบแห้ง การใช้เงินงบประมาณชดเชยไข้หวัดนก


ประเด็นที่สองที่ผมอภิปรายคือ เรื่องของนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งรัฐบาลจะต้องตั้งองค์การกำกับดูแลค่าใช้บริการให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ประเด็นนี้สำคัญเพราะเป็นรากฐานที่จะไม่ให้ประชาชนโดนเอาเปรียบโดยรัฐวิสาหกิจที่ยังมีอำนาจผูกขาดในกิจการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา ซึ่งถ้าไม่มีการกำกับดูแล ค่าบริการใช้จะพุ่งพรวด เพราะการเข้าตลาดหลักทรัพย์หมายถึง การทำกำไรสูงสุด


ถ้าอำนาจการผูกขาดยังอยู่ ต้องกำกับดูแลราคาค่าบริการให้เต็มที่ ยกตัวอย่าง ปตท. ที่ยังผูกขาดท่อส่งก๊าซ คิดค่าผ่านท่อแบบผูกขาด ทำให้ราคาก๊าซไม่เป็นธรรม กำไรของ ปตท.หลายหมื่นล้านเป็นการได้กำไรจากค่าผ่านท่อเป็นส่วนใหญ่ ผมเลยต้องอภิปรายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดูแลกำกับให้เป็นพิเศษ


ประเด็นสุดท้ายที่อภิปรายในเวลา ๖ นาที ได้แก่ การใช้ชื่อรัฐให้พรรคพวกคนใกล้ชิดไปถือหุ้นกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการตั้งบริษัทลูกชื่อว่าบริษัท แอล เอ็ม เทรเวล เซ็นเตอร์ จำกัด โดยอ้างว่าจะให้บริการด้านลองสเตย์หรือพำนักระยะยาว


ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะให้งบประมาณด้านนี้เท่าไร และบริษัทนี้จะใช้ชื่อ ททท.ทำมาหากินอย่างไร และจะมีการใช้บริษัทนี้ผูกขาดการท่องเที่ยวหรือไม่เพียงใด จำได้ว่า งบประมาณของ ททท.เรื่องของการพำนักระยะยาว มีปีละ ๒๐ ล้านมา ๒ ปีแล้ว ซึ่งผมจะเกาะติดสถานการณ์เพื่อมารายงานต่อไปว่าเขาทำอะไรกัน แม้ว่าวุฒิสภาจะมีเวลาเหลืออีกหนึ่งปี แต่ ส.ว.ยังทำหน้าที่ได้อีกเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอภิมหาโปรเจ็กเช่นนี้


หนึ่งปีที่เหลือ ส.ว.ตรวจสอบไฟแลบแน่ เสียดายจริง ๆ ที่ให้เวลาอภิปรายน้อยเกินไป มิเช่นนั้นยังมีเรื่องที่ต้องอภิปรายในนโยบายรัฐบาลอีกเยอะ หวังว่าท่านคงได้รับทราบงานของสมาชิกรัฐสภาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เห็นการมุมมองของตัวแทนประชาชนทั่วประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงในการอภิปรายไปเยอะ การประท้วงไม่ค่อยมีเท่าไรเพราะให้เวลาแต่ละคนได้พูดไม่มากนัก


สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน และปัญหาภาคใต้ คงจะได้ฟังการอภิปรายอย่างเต็มที่


คอการเมืองพลาดไม่ได้ในสัปดาห์หน้า