Skip to main content

เรื่องของพฤติกรรมการอ่าน (หนังสือ) และการรับรู้ข่าวสาร

คอลัมน์/ชุมชน

1


จุดประสงค์ของผู้เขียนสำหรับบทความนี้คือ ต้องการที่จะกล่าวถึงมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อลักษณะการอ่านหนังสือของคนไทยโดยทั่วไป และผลกระทบของพฤติกรรมดังกล่าวในระดับของคนอ่านเองและระดับสังคมทั่วไป ทั้งในบริบทไทยและที่ไม่ใช่ไทย


ในมุมมองของวาทวิทยา-นิเทศศาสตร์นั้น เป็นที่รู้กันว่าการอ่านนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการประดิษฐ์คิดค้นระบบการเขียน ซึ่งนำมาคู่กับระบบการสื่อสารที่เน้นด้านพูดจาที่มีมาแต่โบราณ ส่วนการผลิตหนังสืออย่างเป็นล่ำเป็นสันเกิดมาภายหลังที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว จากนั้นจึงค่อย ๆ มาเป็นยุคที่มีสื่อกระจายเสียงและภาพที่เป็นอิเล็กทรอนิคส์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุกระจายเสียง และต่อมากลายเป็นโทรทัศน์ที่กระจายทั้งภาพและเสียง แล้วเกิดเป็นพวกวิดีโอต่าง ๆ รวมถึงแม้กระทั่งอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันที่มีทั้งภาพและเสียงบนจอคอมพิวเตอร์ หากแต่น่าเสียดาย การอ่านหนังสือนั้นก็ยังคงอยู่แต่น้อยลงจนน่าตกใจ เพราะคนรุ่นใหม่นิยมอ่านบนเน็ตแทนอีกด้วย (เหมือนที่เราท่านกำลังอ่านกันบนเว็บแห่งนี้) ทำให้ตลาดหนังสือหดหายไปพอควร ถ้าเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ควรจะเป็น


ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอแยกประเภทของบรรดานักอ่านชาวไทยในลักษณะตามประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้มา และการเกิดและเติบโตมาในธุรกิจสิ่งพิมพ์


ในกลุ่มแรก ผู้เขียนพบว่าคนไทยโดยทั่วไปแล้วชอบอ่านหนังสือที่เน้นความเบาสบาย หลายหนที่ต้องแปลกใจกับคนไทยพอใจที่สุดที่อ่านเรื่องแบบไม่มีสาระ เพราะอ้างว่าอยากอ่านอะไรที่ไม่ต้องคิด เคยถามกลุ่มนี้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ได้รับคำตอบว่า ชีวิตวันนี้ก็หนักอยู่แล้ว ไม่ต้องการอะไรที่หนักอีก ตัวอย่างหนังสือที่กลุ่มพวกนี้อ่านคือพวก "ความรักกับน้ำหวาน" "รักไม่รัก" อะไรแบบนี้ อันนี้อาจรวมถึงพวกการ์ตูนและหนังสือบันเทิงอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องแต่ง แบบที่ฝรั่งเรียกว่า Fiction ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่ง "ขายหัวเราะ" แบบของไทย ที่น่าเสียดายคือ หลายคนแยกไม่ออกระหว่างเรื่องแต่งกับความจริง


กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่ชอบอ่านเรื่อง "แปล" จากงานของฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นพวกนิยายหรือฮาวทู คือกลุ่มนี้จะนิยมของนอกแต่ไม่ชอบอ่านต้นฉบับซึ่งส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษ (คล้ายอยากนอก แต่นอกไม่จริง) แล้วก็มานั่งบอกว่าเรื่องนั้นดีไม่ดี มีนักเขียนไทยหลายคนที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษก็อ่านนิยายแปล แล้วจับพล็อตมาเขียนนิยายไทยของตนเอง ปรับโน่นแต่งนี่ให้เป็นไทยๆ เพื่อให้คนไทยกันเองอ่านอีกที ส่วนพวกอ่าน "ฮาวทู" ฉบับแปลก็เพียงแค่อยากรู้ว่าแนวโน้มในเมืองนอกเป็นอย่างไร ซึ่งพวกนี้เองก็เป็นตลาดของหนังสืออีกจุดหนึ่งในเมืองไทยเช่นเดียวกับเมืองนอกที่ใคร ๆ หลายคนก็อ่านกัน นักอ่าน "ฮาวทู" จึงเป็นอีกกลุ่มที่ใหญ่มาก ไม่ว่าในเมืองไทยหรือต่างประเทศ


2


กลุ่มที่สามคือ กลุ่มอ่านงานที่คนดังเขียน พวกนี้เมื่อเห็นดาราหรือคนดังคนไหนที่ตนชื่นชอบเขียนหนังสือ ก็จะไปหาอ่านหมด ทั้ง ๆ ที่ก็รู้ว่าเรื่องพวกนี้นั้น คนดังหลาย ๆ คนก็ไม่ได้เขียนเอง ให้คนอื่นเขียนให้ (ghostwriter) หรือบางคนก็แต่งเองซะแบบตนเองดีเลิศไปเสียหมด อันนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีใครจะบอกมุมมืดของตนเองนัก หลายคนมักอ่านเพราะอยากรู้ว่าทำไมคนพวกนี้จึงดังหรือประสบความสำเร็จในชีวิต แต่แท้จริงแล้วเรื่องจริงมักไม่ค่อยมีปรากฏบนหนังสือพวกนี้เท่าไรนัก ด้วยเหตุผลอย่างที่บอกข้างต้น


กลุ่มที่สี่คือ คนที่อ่านหนังสือที่มีบางส่วนของแบบที่สองและสามรวมกัน คือหนังสือที่มีการให้คำแนะนำต่าง ๆ จากคนดังหรือผู้มีประสบการณ์และ/หรือคุณวุฒิ ซึ่งไอเดียบางส่วนก็หยิบยืมมาจากตำราฝรั่งหรือหนังสือฝรั่งบ้าง (มีผู้เขียนหลายคนตรงนี้ก็ลอกออกมาเป็นกระบิ ๆ ทำนอง "ตัดแปะ"ไม่ให้เครดิตต่อเจ้าของไอเดียต้นตำรับ) ส่วนดีคืออ่านแล้วได้อะไรมากหน่อย แต่ถ้าแนะนำผิด ๆ ก็หลงทางไปเลย อันนี้อาจรวมถึงพวกตำรากับข้าว ตำราปลูกต้นไม้หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ก็ได้


กลุ่มที่ห้าคือ กลุ่มคนที่อ่านหนังสือ "ธรรมะ" ถ้าถือคริสต์ก็จะมีพวกที่เกี่ยวกับไบเบิ้ลและพระเจ้า ซึ่งแตกต่างออกไปตามแต่ความเชื่อและศาสนานั้น ๆ กลุ่มนี้อาจรวมไปถึงการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพลังลึกลับต่าง ๆ อีกด้วย ถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจอีกเช่นกันเพราะมีมูลค่าตลาดสูงพอควร อีกทั้งยังมีพลังทางการเมืองที่แอบแฝงอยู่ด้วยเหมือนกัน


กลุ่มที่หกคือ กลุ่มที่อ่านพวกตำราต่าง ๆ ที่เป็นวิชาการจริง ๆ หรือกึ่งวิชาการ ซึ่งก็มีอยู่ไม่มาก นอกจากที่เรียนหรือสอนกันอยู่ตามสถาบันการศึกษา ดังนั้น กลุ่มผู้อ่านตรงนี้จะว่าแคบก็แคบ กว้างก็กว้าง แต่ถ้าผูกขาดได้ก็จะรวยไม่รู้เรื่องเหมือนสมัยก่อนที่มี "ไทยวัฒนาพานิช" เป็นตัวผู้นำ หรือกลุ่ม "ครุสภา"


ผู้อ่านกลุ่มที่เจ็ด เป็นผู้อ่านที่น่ารัก น่าหยิก เพราะมักไม่อ่านอะไรนักถ้าไม่โดนบังคับ อ่านแค่หนังสือพิมพ์ก็จะเป็นจะตาย เกลียดการซื้อหรือหยิบจับหนังสือเป็นที่สุด อ้างว่าแพงและไม่มีเวลาบ้าง แต่หลายคนกลับสนุกในการท่องเว็บ หรือเล่นวิดีโอเกม


การแบ่งผู้อ่านไทยออกเป็นเจ็ดประเภทที่ผ่านมานั้นเป็นการแบ่งประเภทของการอ่าน "หนังสือ" (โดยไม่เจาะรวมพวกวารสารนิตยสาร) ในสายตาของผู้เขียนเอง อาจขาดตกไปบ้างก็ไม่น่าจะถือเป็นการน่าเกลียดจนเกินไปนัก อย่างน้อยก็ทำให้เกิดไอเดียว่าคนไทยเรานั้นอ่านอะไรกันบ้าง


3


ไม่ว่าจะเป็นผู้อ่านกลุ่มใด หรืออาจคาบเกี่ยวหลายกลุ่มก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนไทยทั่วไปมักมองข้าม ไม่ได้ใส่ใจ คือการอ่านแบบวิเคราะห์และการอ่านแบบวิพากษ์


ในระบบการเรียนรู้โดยผ่านการอ่านนั้น ในทางวิชาการแล้ว เราแบ่งการอ่านตามจุดประสงค์และหน้าที่อย่างคร่าว ๆ ดังนี้ 1. การอ่านเพื่อความเข้าใจ 2.การอ่านแบบวิเคราะห์และ 3. การอ่านแบบวิพากษ์ พื้นฐานแบบแรกนั้นเราเรียกว่าอ่านแล้วจับใจความได้รู้ว่า อะไรเกิดที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ทำไม


แบบที่สองนั้นอ่านแล้วสามารถระบุลงไปได้ชัดลึกลงไปได้ว่า ลักษณะการเขียนแบบนี้แบบนั้นต้องการสื่ออะไรกับเรา ในเชิงอารมณ์ เนื้อหา ผู้เขียนเป็นคนอย่างไร เหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะอะไร มีความซับซ้อนแค่ไหน มีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร แต่ไม่ได้ถึงขั้นประเมินว่าดีเลวอย่างไร


ในแบบสุดท้ายหรือแบบวิพากษ์ ผู้อ่านนั้นสามารถประเมินได้ว่างานเขียนนั้นมีอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข เพิ่มเติม หรือตัดออก แล้วยังสามารถชี้นำคนอ่านอื่น ๆ อีกได้ว่าควรจะอ่านอย่างไร การอ่านแบบที่สองและสามนี้ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องสอนในระดับมัธยมศึกษาและโดยเฉพาะอุดมศึกษาในเชิงวิชาการแล้วจะมีกรอบในการวิเคราะห์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียนกันได้ไม่มีหยุด แม้จบปริญญาเอกกันแล้วก็ตาม


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้ระบุว่าคนที่จะทำการอ่านในสองประเภทหลังนั้นต้องเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเสมอไป ผู้อ่านทุกคนอ่านได้ฝึกได้ แต่จะใช้เวลามากน้อยนั้นต่างกันไป


ส่วนในระดับที่ไม่เกี่ยวกับวิชาการนั้น เชื่อว่าผู้อ่านของไทยหลายคนยังมีปัญหาในการอ่านอยู่พอสมควร แม้กระทั่งแค่อ่านจับใจความของหนังสือทั่วไป ไม่ว่าคนนั้นจะเรียนหนังสือมาสูงหรือไม่ก็ตาม


ที่ผู้เขียนได้โยงประเด็นมาถึงจุดนี้ก็เพื่อที่จะให้ผู้อ่านระลึกย้อนไปว่า การอ่านทุกครั้งอย่าอ่านเพียงแค่ให้ผ่านหูผ่านตาเท่านั้น เวลาของท่านที่เสียไปและพลังงานที่ต้องใช้ในการอ่านต้องก่อให้เกิดประโยชน์ การอ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่อ่านสิ่งพิมพ์ แต่หากควรนำพาให้ผู้อ่านเกิดความรู้ความเข้าใจในข้อมูลที่ตนได้อ่าน


4


สมัยก่อนได้ยินผู้รู้หลายคนบอกว่า แม้ตนยากจน หาหนังสืออ่านไม่ได้เพราะไม่มีปัญญาซื้อ ก็สามารถหาความรู้ได้จากถุงกล้วยแขกบ้าง กระดาษห่อของบ้าง แล้วก็อ่านมันทุกอย่างที่ขวางหน้า สมัยนี้สังคมมีข้อมูลข่าวสารให้เราอ่านมาก บริโภคมากกว่าเดิม แต่เรากลับไม่บริโภคหรือบริโภคไม่เป็น


อาหารสมองคือ ข้อมูลความรู้ที่ได้มาจากการอ่านและการพูดจา แต่การอ่านจะช่วยได้มากกว่าการพูดจาเพราะเราสามารถหยิบมาอ่านเมื่อใด ที่ใด ก็ได้เป็นส่วนมาก อ่านซ้ำ ๆ ก็ได้ โดยเฉพาะหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่พกพาได้ แต่หลายคนเองก็อีกที่ไม่อยากอ่านเอาเลย


จำได้ว่ามีนักศึกษาไทยบอกว่า "อาจารย์สรุป ๆ ให้ดีกว่ามั้ยครับ จะได้เร็ว ๆ ดี ผม/หนูอ่านเองช้า แล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจด้วย" จุดนี้นักศึกษาลืมไปว่าการอ่านนั้นเกี่ยวกับการตีความด้วย การอ่านหนังสือเล่มเดียวกันไม่ได้หมายความว่าจะต้องคิดเหมือนกัน ความต่างนี่แหละที่จะทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าต่อไป


ดังนั้น ผู้เขียนจึงมองว่าหากนักอ่านไทยระลึกได้ว่า การอ่านนั้นมีกระบวนการและผลกระทบต่อระบบความคิด การเรียนรู้ของตนเองอย่างไรแล้ว ก็อาจนำไปสู่การบริโภคข้อมูลข่าวสาร อาหารสมองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รู้จักเลือกที่จะรับข้อมูลและทิ้งข้อมูล ไตร่ตรองหาเหตุผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากนั้นก็จะสามารถแสดงออกถึงความคิดของตนเองที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้หลายขั้นตอนที่ผ่านมา


ถ้าทุกคนทำได้ และสามารถถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมีคุณภาพ สังคมก็จะพัฒนาขึ้น ยกระดับขึ้น ซึ่งเป็นสังคมที่พึงปรารถนา เพราะทุกคนสามารถที่จะเท่าทันในกลเกม และไม่มีใครหลอกใครได้ โดยผ่านลมปากหรืองานเขียนที่ให้แต่ความหวัง แต่ไร้ซึ่งฐานของความจริงแท้ของคน ๆ หนึ่งหรือกลุ่ม ๆ หนึ่ง


...............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๑๕ ก.พ. ๒๕๔๘