Skip to main content

ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ (4)

คอลัมน์/ชุมชน

รัฐจ่ายเงินรักษาสุขภาพให้คนไม่เท่ากัน


 


ในการรักษาผู้เจ็บป่วยคนไทย รัฐควักเงินจากคลังจ่ายให้คนอยู่ 2 ประเภทคือประชาชนทั่วไปกับข้าราชการ


สำหรับประชาชนทั่วไป รัฐจ่ายในรูปแบบการสร้างหลักประกันสุขภาพ (บัตร 30 บาท) โดยให้ค่าใช้จ่ายเป็นแบบเหมาจ่ายรายหัวให้ประชากรราว ๆ 47 ล้านคน สำหรับข้าราชการนั้น รัฐตามจ่ายให้โรงพยาบาลตามบิลค่ารักษาที่เรียกเก็บมาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ และจากการเบิกของข้าราชการเอง รัฐไม่ได้มีการคำนวณค่าใช้จ่ายไว้ล่วงหน้าหรือตั้งวงเงินไว้ คือเบิกมาเท่าไรจ่ายไปตามนั้น


สองส่วนนี้มีความต่างกัน คือในระบบหลักประกันสุขภาพสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ รู้ว่าต้องใช้งบเท่าไร กำหนดได้ว่าจะรักษาโรคอะไรบ้าง เมื่อเป็นการกำหนดค่าใช้จ่ายล่วงหน้าแบบเหมาจ่ายทำให้เกิดผลที่ตามมา คือรัฐต้องมาพิจารณาว่าจะจ่ายรักษาโรคอะไรบ้าง เป็นที่มาให้รัฐยกเว้นไม่จ่ายค่ารักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องรักษาด้วยการล้างไตอาทิตย์ละหนึ่งถึงสองครั้ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัส


การคำนวณค่าใช้จ่ายเช่นนี้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ป่วยบางคน ขณะเดียวกันการจ่ายตามบิลเรียกเก็บให้กับข้าราชการและครอบครัวราว ๆ 7 ล้านคน ก็เป็นการใช้งบประมาณแบบไม่จำกัด ไม่มีการควบคุม เราจึงมักได้ยินว่าข้าราชการไปเบิกยาจากโรงพยาบาลได้เต็มที่ หมอก็พร้อมเซ็นจ่าย เนื่องจากสามารถเรียกเก็บเงินจากรัฐได้เต็มที่ วิธีการจ่ายเงินที่ต่างกันของรัฐ สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชนสองกลุ่มนี้ทั้งเรื่องความครอบคลุมโรคที่รักษา กับคุณภาพที่ได้รับ


ประชาชนสองกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากรัฐแตกต่างกันหรือไม่ ข้าราชการคือลูกจ้างของรัฐทำหน้าที่ปฏิบัติงานให้กับรัฐตามแผนตามนโยบายและตามภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายของหน่วยงาน กระทรวง กรม กองต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการบริการให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เงินเดือน สวัสดิการต่าง ๆ ล้วนมาจากภาษีของประชาชนทุกคน


รัฐไม่สมควรสร้างระบบการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแก่ข้าราชการในรูปแบบที่แตกต่างจากของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทุกคนที่ใช้งบประมาณแผ่นดินในการรักษาพยาบาลควรได้รับการรักษาโรคเดียวกัน ด้วยมาตรฐานวิชาชีพเดียวกัน หากรัฐต้องการเสริมกำลังใจให้ข้าราชการ ก็อาจเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับการได้รับบริการพิเศษเพิ่มขึ้นได้บ้าง เช่น การจ่ายค่าห้องพิเศษให้ในอัตราที่กำหนดส่วนเกินต้องจ่ายเอง ซึ่งบริการห้องพิเศษไม่เกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาโรค


นอกจากคนสองกลุ่มดังกล่าวมาข้างต้น รัฐยังใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินไปสมทบกับกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนของลูกจ้างที่ทำงานมีสังกัดองค์กรและนายจ้างที่ร่วมจ่ายเงินเข้าไปในกองทุนฯ เป็นระบบร่วมจ่ายจากสามฝ่ายคือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐ เพื่อจัดสวัสดิการทางสังคมให้กับลูกจ้าง หลัก ๆ คือค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยหยุดงานจากการป่วย ค่าสงเคราะห์บุตร ค่าสงเคราะห์ทำศพ ค่าเบี้ยชราภาพ ค่าชดเชยว่างงาน เป็นต้น


ซึ่งกรณีนี้ลูกจ้างต้องร่วมจ่ายเงินเข้ากองทุนโดยถูกหักจากเงินเดือนเป็นสัดส่วนตามอัตราเงินเดือนที่ได้รับ เงินเดือนมากก็จ่ายมาก เงินเดือนน้อยก็จ่ายน้อย หากเทียบกับระบบรักษาพยาบาลของข้าราชการและประชาชนสองกลุ่มแรก กลุ่มลูกจ้างจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากต้องจ่ายเงินสมทบมากกว่าอีกสองกลุ่ม แต่ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลไม่ต่างกันมากนัก คือได้รับการรักษาทุกโรคเหมือนข้าราชการ ส่วนการรักษาฟันได้น้อยกว่าระบบหลักประกันสุขภาพ (30 บาท) นั่นคือได้เป็นเงินค่ารักษาฟันปีละ 400 บาท ขณะที่ประกันสุขภาพสามารถไปถอน อุด ขูดหินปูนได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมครั้งละ 30 บาท


ระบบการจ่ายเงินของรัฐในการรักษาสุขภาพสำหรับคนสามกลุ่มดังกล่าวมาข้างต้น มีความแตกต่างกัน ทั้งที่เป็นการนำเงินมาจากคลังเดียวกันคืองบประมาณแผ่นดิน แต่มีระบบการจ่ายเงินไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบสุขภาพ เกิดปัญหาด้านคุณภาพการรักษา ขึ้นอยู่กับว่าใครอยู่ในระบบไหน ถ้าเป็นข้าราชการก็ต้องถือว่าดีที่สุด รองลงมาคือประกันสังคม สุดท้ายคือระบบหลักประกันสุขภาพ


ดังนั้น หากรัฐมีความมุ่งมั่นทำตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญคือการจัดการรักษาพยาบาลให้ประชาชนทุกคนอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน รัฐต้องทบทวนกฎกติกาการจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินสำหรับประชาชนทั้งสามกลุ่มใหม่ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรม และสร้างคุณภาพให้ดีที่สุดสำหรับการรักษาประชาชน