Skip to main content

การเมืองและลมปาก

คอลัมน์/ชุมชน

ช่วงสามเดือนก่อนมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ เอง และเมื่อสามสัปดาห์ก่อนก็มีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในประเทศไทย เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับเราท่านที่จะศึกษาวาทะของแต่ละฝ่ายที่เข้าประหัตประหารกันเพื่อให้ได้เสียงจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง


การมองวาทะของบรรดาเหล่านักการเมืองเป็นเรื่องที่มีการวิเคราะห์และศึกษากันอยู่มากมาย ในวิชาวาทวิทยา (Speech Communication/Public Address/Rhetoric) เองก็มีแขนงย่อยออกมาเป็นวิชาต่าง ๆ ที่เรียกว่า "สื่อสารการเมือง", "การวิเคราะห์วาทะ" และ "การสื่อสารในที่สาธารณะ" อะไรในทำนองนี้ ซึ่งแต่ละวิชานั้นมีเนื้อหาพอสรุปได้กว้าง ๆ ว่าจะดูว่าองค์ประกอบของวาทะนั้นหรือเนื้อสารข้อความนั้นเป็นอย่างไร มีการนำเสนออย่างไร จะสามารถคะเนได้ว่าจะเกิดผลในใจในความรู้สึกของผู้ฟังและผู้คนอื่น ๆ แค่ไหน และจะมีผลอะไรในภาพรวมหรือในทางสังคมอย่างไร เช่น ประชานิยมต่อบุคคลนั้นจะดีขึ้นหรือเลวลง


ในบทความนี้ ผู้เขียนไม่ได้วิเคราะห์วาทะของผู้ใดเป็นพิเศษ หากแต่จะเสนอแนะแนวการวิเคราะห์วาทะหรือเนื้อสารต่าง ๆ แบบง่าย ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การที่จะสามารถวิเคราะห์วาทะหรือเนื้อสารต่าง ๆ จากนักการเมืองได้ง่ายและชัดเจนขึ้น เพราะมีกรอบที่ชัดเจนและไม่ยากจนเกินไปในการประเมินคุณภาพของ วาทะหรือเนื้อสารนั้น ๆ เอง


หลักง่าย ๆ ในการพิจารณาว่าวาทะหรือเนื้อสารนั้นดีหรือไม่นั้น ให้ดูที่องค์ประกอบใหญ่ ๆ ๓ ส่วนคือ ๑) ตัวผู้พูดหรือเจ้าของวาทะเอง ๒) เนื้อสารที่ส่งมา และ ๓) สถานการณ์และองค์ประกอบสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ความจำเป็นในการส่งสารในขณะนั้น หรือแม้กระทั่งคำว่า "กาลเทศะ" ที่เราเรียกกัน


อย่างแรกคือ ตัวผู้พูด เราต้องมองให้ลึกว่าตัวผู้พูดมีฐานะทางสังคมเช่นไร เพศใด มีคุณวุฒิ มีคุณสมบัติเช่นไร หลายครั้งที่เราลืมนึกไปว่านักการเมืองทั่วไปนั้นไม่มีจุดยืนมากนัก เพียงแต่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ตนเองและกลุ่มของตน หลายครั้งที่คนทั่วไปลืมมองไปว่านักการเมืองเหล่านี้ให้ภาพมองมุมเดียว โดยอ้างถึงความชำนาญของตนเอง ตำแหน่งงาน และแม้กระทั่งการที่อ้างว่าตนเป็นคนที่ได้รับการเลือกมาจากประชาชนอย่างถล่มทลาย การอ้างความวิเศษต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ผิด แต่คนฟังต้องฉลาดพอที่จะไม่หลงไปตามที่ได้บอกเสียทุกประเด็น และมีการตรวจสอบข้อมูลว่าที่ได้รับเลือกมานั้นมีความขาวสะอาดแท้จริงหรือไม่ อย่างไร


จำได้ว่า รัฐบาลบางประเทศมักจะอ้างถึงความสำเร็จของตนเองในการที่ได้รับเลือกเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่รัฐบาลนั้น ๆ ไม่ได้บอกสังคมเลยว่าวิถีทางที่ได้มาเป็นอย่างไร มีความโปร่งใสแค่ไหน เนื้อสารที่ส่งให้สังคมทราบมีเงื่อนงำอย่างไร จุดนี้คงไม่มีใครบอกอย่างแน่นอน


ดังนั้น ผู้ฟังหรือผู้รับสารต้องมีความใฝ่รู้มากพอที่จะเข้าใจว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เกิดการได้มาของอำนาจ หรือของการได้รับเลือกตั้งนั้น ๆ เพราะว่าการอ้างสรรพคุณและความวิเศษดังกล่าวอาจทำให้คนในสังคมทั่วไปมองข้ามสิ่งสำคัญบางอย่างไป โดยเฉพาะกระบวนการในความสำเร็จนั้นอาจมาจากความไม่ใสสะอาดก็ได้ การมองแต่ผลดีที่เกิดขึ้นในขณะนั้นอย่างเดียวทำให้ไม่เข้าใจข้อเท็จจริง และทำให้บุคคลที่ไม่สามารถมองได้ลึกหรือคิดไม่ทันนั้นคล้อยตามได้ง่ายเกินไป อีกทั้งก็ไม่คิดที่จะตั้งคำถามเพื่อให้เห็นความโปร่งใสในกระบวนการที่ถูกต้อง


มีหลายหนที่เราท่านเห็นว่า นักการเมืองเหล่านี้ก็สาดโคลนใส่กัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หากผู้ฟังนั้นได้รับการฝึกฝนมาแล้ว จะไม่หลงเมามันกับการตบตีแบบนี้ เพราะจะทำให้ลืมมองภาพรวมใหญ่ได้ การที่มองในจุดทะเลาะกันอย่างเดียว ทำให้เกิดหลงประเด็นได้ง่าย ๆ เช่นกัน


อย่างที่สองคือ เนื้อสารที่ส่งมา ส่วนมากแล้วนักการเมืองที่มีชื่อดัง เป็นที่นิยมติดตลาด มักจะมีโอกาสถูกเชิญให้กล่าวคำปราศรัยหรือสุนทรพจน์ การตัดสินคุณภาพของสุนทรพจน์อย่างง่าย ๆ นั้น เริ่มที่การดูรูปแบบโครงสร้างโดยรวม คือมีคำนำ ส่วนท้องเรื่อง และบทสรุป มีความราบรื่นไม่สับสน จากนั้นก็ดูปัจจัยเรื่องความหมายที่ส่งออกมาว่ามีการให้ข้อมูลที่สนับสนุนหรือคัดง้างกันอย่างครบถ้วนหรือไม่ มีความชัดเจนในจุดมุ่งหมายหรือไม่ ส่วนในเรื่องการให้เนื้อสารสั้น ๆ เช่นการให้สัมภาษณ์ไม่กี่นาทีหน้าทำเนียบฯ หรือหน้าที่ทำการพรรค หรือการให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องราวที่ยาวหน่อยก็อาจมารวมในจุดนี้ได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดต่อไป


ในประเด็นของโครงสร้างโดยรวมของสุนทรพจน์หรือเนื้อสารนั้น พูดง่าย ๆ แบบชาวบ้านคือมีที่มาที่ไป ไม่หลงประเด็น มีคำนำ ตัวเนื้อหาหลัก บทสรุป และใช้ภาษาที่รัดกุม พูดชัดเจนทำให้ฟังได้ครบถ้วน นอกจากนี้การพูดภาษาประจำชาติหรือภาษาท้องถิ่นธรรมดาให้มากที่สุดนั้นน่าจะเหมาะสมและดีกว่า


หากมีการใช้ภาษาต่างประเทศปะปน ผู้ส่งสารต้องมั่นใจว่าไม่ออกเสียงผิด ออกเสียงได้ชัดเจนและถูกต้องตามอักขระวิธีตามที่กำหนดในภาษาต่างประเทศนั้น ๆ ไม่ดัดจริตเกินไป และใช้คำให้ถูกความหมาย หากจำเป็นต้องมีการใช้ภาษาต่างประเทศประกอบแต่ตนเองไม่ถนัดไม่เก่ง ควรเช็คให้แน่ชัดถูกต้องโดยผู้รู้จริง


ประเด็นต่อมาคือ ความหมายของเนื้อหาต้องไม่หลอกลวง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ห้ามอ้างว่าไม่ได้ตั้งใจ เพราะการเป็นผู้นำประเทศหรือนักการเมืองระดับผู้นำแล้วนั้น มีที่ปรึกษามากมายที่จะช่วยให้ข้อมูลและข้อแนะนำต่าง ๆ การที่ปล่อยให้คลุมเครือแล้วมาแก้ที่หลัง ถือว่าเป็นการทดสอบหยั่งเสียงบางอย่าง ถือว่าไม่โปร่งใส ไม่จริงใจ


นอกจากนี้ ต้องดูว่ามีการใช้หลักในการให้ข้อถกเถียงที่ถูกต้องหรือไม่ เช่น ใช้ตัวเลขสถิติที่เป็นกลางมากที่สุดและมาจากมากกว่าหนึ่งแหล่งเพื่อยืนยันความถูกต้อง ไม่ใช้ข้อมูลที่สร้างขึ้นหรือค้นได้มาจากฝ่ายตนเองเท่านั้น ควรหาบุคคลที่สามมายืนยันได้ โดยบุคคลที่สามนั้นเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่ามีความเป็นกลาง ตัวอย่างที่ชัดคือการนำเสนอความดีความชอบนั้น แต่หลายรายมักเอาตัวเลขที่พวกฝ่ายเดียวกันกับตนทำขึ้นมาเสนอให้ประชาชน แต่ไม่สามารถปฏิเสธหักล้างข้อกล่าวหาจากบุคคลอื่น ๆ ได้อย่างขาวสะอาด นอกจากนี้หลายครั้งยังมีการเหวี่ยงประเด็นออกนอกลู่นอกทางไปเลย


ประเด็นที่สามคือเรื่องของสถานการณ์ หลายครั้งที่คนทั่วไปมักจะโดนหลอกให้เชื่อโดยนักการเมืองพยายามสร้างเนื้อสารให้ตอบสนองกับสถานการณ์นั้นๆ ทำให้ดูเป็นเรื่องน่าเชื่อถือมากกว่าปกติ ทั้ง ๆ ที่ถ้าหากสารนั้นกล่าวในสถานการณ์ทั่วไปก็ไม่ได้ถือว่ามีน้ำหนักสักเท่าใด ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในสหรัฐฯ คือการยกประเด็นชาตินิยมมาตอบสนองนโยบายเผด็จการหรืออนุรักษ์นิยมสุดโต่งต่าง ๆ หลังจากเหตุการณ์ ๙/๑๑ ทำให้ผู้คนทั่วไปไม่ทันเอะใจและคล้อยตามได้ง่าย


การที่จะเชื่อสารที่มาจากลมปากของนักการเมืองไม่ว่าพรรคใดหรือหน่วยงานใด ต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน ในด้านพุทธที่เราเอามาใส่ในบทเรียนของเด็ก ๆ ก็มีการกล่าวถึง "กาลามสูตร" แต่เรากลับไม่เคยนำมาใช้จริงสักเท่าไร


ในมุมมองของวาทวิทยา-นิเทศศาสตร์ ก็มีหลักสามข้อข้างต้นพร้อมตัวอย่างคร่าว ๆ ที่อาจพอช่วยให้เราท่านที่บริโภคข้อมูลข่าวสารได้ระวังขึ้นอีกนิดนับจากวันนี้ ก่อนที่จะเชื่อใครก็ตาม


...............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๒๒ ก.พ. ๒๕๔๘