Skip to main content

รัฐบาล ถังแตก ไปฮุบเงินประกันสังคม

คอลัมน์/ชุมชน

ข่าวใหญ่เมื่อกลางอาทิตย์ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คือ รัฐบาลประกาศให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดำเนินการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารงานอยู่นั้น มารับทำหน้าที่บริหารงานหลักประกันของอีกสองระบบคือ ประกันสังคม และข้าราชการ


พลันที่ประกาศออกมานั้นก่อให้เกิดความสับสนและวิตกกังวลว่า รัฐบาลกำลังถังแตก ไม่มีเงินบริหารระบบหลักประกัน (บัตร 30 บาท) ต้องมาไล่ฮุบเงินอื่น ๆ เข้าไปแทน โดยเฉพาะเงินของลูกจ้าง นายจ้าง ในกองทุนประกันสังคม ซึ่งก็สมควรวิตกเช่นนั้น เพราะไม่ได้มีสัญญาณใด ๆ มาก่อน ว่ารัฐบาลจะสนใจพัฒนาการรวมระบบบริหารหลักประกันสุขภาพของทั้งประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมการบริหารของประกันสังคมก็มีกฎหมาย มีกองทุน มีสำนักงานของตนเองบริหารอยู่แล้ว ทำมานานเกือบ ๆ 15 ปีแล้วด้วย ที่สำคัญเงินในกองทุนประกันสังคมมากกว่าครึ่งมาจากการจ่ายสมทบของลูกจ้างและนายจ้าง ที่ถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือน จึงน่าคิดว่าเกิดอะไรขึ้น


คำถามว่า ขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตร 30 บาท) มีเงินไม่เพียงพอใช่หรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องค้นหาความจริง ระบบหลักประกันสุขภาพเริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบภายใต้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 – ประกาศใช้ พ.ย.2545) นั่นคือในปีงบประมาณ 2546 โดยมีวิธีคำนวณค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัวประชากร


นักวิชาการ รวมถึงอนุกรรมการการเงินการคลัง ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้คำนวณค่าใช้จ่ายที่เป็นจริงและเพียงพอต่อการสร้างหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานอยู่ที่ 1,500 – 17,00 บาท/คน/ปี แต่รัฐบาลกลับจ่ายเงินให้จริงต่ำกว่ามากโดยในปีงบประมาณ 45-46 ให้ได้ 1,202.40 บาท/คน/ปี ปีงบประมาณ 47 ให้ได้ 1,308.50 บาท/คน/ปี ปีงบประมาณ 48 ให้ได้ 1,396.30 บาท/คน/ปี


โดยระหว่างนี้กำลังพิจารณางบประมาณปี 49 คาดว่าจะได้รับเกือบ ๆ 1,600 บาท/คน/ปี ซึ่งยังต่ำกว่าที่อนุกรรมการการเงินการคลังคำนวณไว้ จำนวนเงินขนาดนี้ส่งผลกระทบต่อการกำหนดสิทธิประโยชน์ในการรักษาของประชาชน นั่นคือมี 2 โรคใหญ่ ๆ ที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง คือ การล้างไต กับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี ทำให้ประชาชนจำนวนเป็นแสนคนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ได้ใช้บัตร 30 บาท นี่คือผลเสียอย่างมากที่รัฐให้เงินไม่เพียงพอตามความเป็นจริง


อย่างไรก็ตาม ผ่านมา 4 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นคือการครอบคลุมจำนวนคนผู้ทุกข์ยากเกือบหมด สามารถให้การรักษาราคาสูงเช่น มะเร็ง หัวใจ สมอง ได้ในจำนวนมากขึ้น แต่ก็มีผลกระทบกับการบริหารจัดการในโรงพยาบาลบางแห่งที่จำนวนเงินที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐานได้ รวมถึงการต้องสร้างความเป็นธรรมด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านไต กับยาต้านไวรัสเอชไอวี นี่จึงยังเป็นประเด็นด้านการเงินที่รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงการควบคุมจัดการการบริหารเงินในโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพด้วย


ถามว่า รัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาเพิ่ม ภายใต้หลักการของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลต้องจัดหางบประมาณมาจากงบประมาณแผ่นดินมาเป็นค่าใช้จ่ายอย่างเพียงพอ หากดูทิศทางการจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ถือว่ามีทิศทางดีพอสมควร เพียงแต่ยังไม่มากพอ สิ่งที่ต้องทำคือ รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวตามการคำนวณที่เป็นจริง นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่ได้


การสั่งการของรัฐบาลที่ให้รวมระบบบริหารจัดการหลักประกันสุขภาพทุกระบบไปไว้ที่เดียวกัน ในที่นี้คือให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้บริหารเพียงแห่งเดียว แล้วให้ระบบประกันสังคม ระบบราชการ ประกันภัยจากรถ มาใช้บริการการบริหารของ สปสช. เพียงที่เดียว


โดยให้ประกันสังคม เปลี่ยนจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของลูกจ้างโดยตรงที่โรงพยาบาลในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัว มาเป็นการจ่ายผ่าน สปสช. ให้ สปสช.เจรจากับโรงพยาบาล เช่นเดียวกับข้าราชการ เดิมจ่ายเองเบิกทีหลัง หรือหากนอนโรงพยาบาลก็ไม่ต้องจ่าย ทางโรงพยาบาลไปเรียกเก็บจากกรมบัญชีกลางเองภายหลัง เปลี่ยนมาเป็นการจ่ายผ่าน สปสช.


สรุปก็คือ การให้เงินมาอยู่ที่กองทุนหลักประกันสุขภาพ แล้วให้ สปสช. ไปเจรจากับโรงพยาบาล ให้ดูแลรักษาคนทั้ง 3 ประเภทคือ ลูกจ้าง ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป และประชาชนผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อจะได้มีระบบเดียวกัน ประหยัดทรัพยากร และเพิ่มอำนาจต่อรองกับโรงพยาบาล ถ้าเป็นเพียงแค่นี้ สปสช. ก็ไม่ได้เงินเพิ่ม เพียงแต่ช่วยบริหารให้ อาจได้รับค่าบริหารจัดการบ้าง ทั้งนี้ ประกันสังคม กับกรมบัญชีกลาง อาจเลือกไม่จ่ายเงินผ่าน สปสช. ก็ได้ โดยเมื่อ สปสช. เจรจาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ทางประกันสังคมกับกรมบัญชีกลาง ก็โอนเงินตรงให้โรงพยาบาลไปเลยก็ได้ อย่างนี้จะถือว่ามีเงินเพิ่มให้กองทุนหลักประกันสุขภาพหรือไม่ อย่างนี้ถือว่าไม่ และรัฐจะฮุบเงินก็ลำบาก


แต่สิ่งที่เกิดขึ้นน่าเป็นห่วงจริง เนื่องจากอยู่ ๆ รัฐบาลก็ประกาศตูม โดยไม่มีการรับฟังความเห็นของเจ้าของกองทุนคือลูกจ้าง นายจ้าง ว่ามีความเห็น มีความต้องการอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล ทำให้ต้องระวังกันพอสมควรว่า รัฐบาลจะมุบมิบกับกรรมการประกันสังคมทำอะไรนอกเหนือไปจากนี้หรือไม่ นั่นคือนำเงินก้อนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องการรักษาพยาบาลไปใช้ ไปจัดการกันเองด้วยหรือไม่ รัฐบาลถังแตกแล้ว และกำลังจะเอาเงินของคนอื่นมาใช้จ่าย โดยเฉพาะกับโครงการขนาดใหญ่ ถึงใหญ่ยักษ์ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าใต้ดิน การจัดการระบบน้ำทั้งประเทศด้วยระบบท่อ เป็นต้น


ประชาชนทุกคนต้องออกมาตั้งคำถามว่า รัฐเอาเงินภาษีของพวกเราไปให้คนของตนคอรัปชั่นแบบเห็น ๆ แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะสามารถคุมเสียงในสภาฯ ได้เบ็ดเสร็จ หรือไม่ และกำลังหาเงินอื่นโดยเฉพาะจากกองทุนประกันสังคมมาใช้ด้วยใช่ไหม


นี่คือสิ่งต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลถังแตกเพราะใช้เงินไร้ประสิทธิภาพ และกำลังโยนภาระให้ประชาชน