Skip to main content

"รีแกน" กับการเป็นดาราสู่ประธานธิบดี และการสื่อสาร

คอลัมน์/ชุมชน

หลังจากที่มีการเลือกตั้งและการกำหนดตัวผู้นำทั้งในสหรัฐฯ และไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนอดนึกถึงอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ รีแกน คนดังไม่ได้ (เสียงเป็นสระอี หรือ เอ ก็ได้ในระบบไทย แม้ว่าหลายคนบอกว่าน่าจะใช้เป็นเรแกนมากกว่า แต่ผู้เขียนขอใช้สระอีก็แล้วกัน) เพราะก็อยู่ในตำแหน่งสองรอบ และผ่านการโดนลอบยิงสังหาร หลังจากลงตำแหน่งก็มีข่าวออกมาเป็นระยะ


รีแกนได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันเสาร์ที่ ๕ มิถุนายน ของสหรัฐอเมริกา หรือเช้าตรู่วันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน เวลาประเทศไทย หลังจากที่ป่วยเป็นโรค Alzheimer's โดยรีแกนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหลังจากที่ออกจากตำแหน่งได้ ๕ ปี (๑๙๙๓) และนับว่าเป็นเวลานานกว่าทศวรรษที่ตัวรีแกนเองและคนรอบข้างต้องอยู่อย่างทรมาน เป็นความอดทนของหลายฝ่าย ๆ กว่าจะถึงวันที่จบชีวิตของคน ๆ นี้


บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อดีตประธานาธิบดีคนนี้ เพราะไม่ได้มีความประทับใจกับนโยบายทางการเมืองการปกครองกับบุคคลนี้ อีกทั้งมีข้อกังขาในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งหลายคนคงพอจำได้ในเรื่องของ "Reaganomics" รีแกนโนมิคส์ อันเป็นที่สงสัยในเรื่องประสิทธิผลของนโยบายนี้ รู้มาว่ารีแกนโนมิคส์นี้แหละทำให้คนรวยยิ่งรวย และคนจนยิ่งจนลงในสมัยที่รีพับลิกันยุครีแกนและต่อด้วยบุชผู้พ่อครองเมืองนี้ แต่ว่าดูเหมือนคนจะลืมไปเสียหมดเมื่อตอนรีแกนตาย แถมมีละคอนฉากย่อย ๆ หนึ่งวันให้ดูบนทีวีในวันที่รีแกนจะลงหลุมด้วย


อีกมุมหนึ่งก็มีคนบอกว่า รีแกนนี้เป็นนักการสื่อสารผู้ยิ่งใหญ่ "The Great Communicator" ซึ่งตนเองก็สงสัยเป็นยิ่งนัก ดังนั้น บทความชิ้นนี้จึงขอถกในประเด็นนี้ให้มีมุมมองมากขึ้น และอาจช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงคำว่าวาทวิทยา-นิเทศศาสตร์ได้มากและชัดเจนขึ้น


ขอเริ่มที่ว่ามีคนอ้างว่า รีแกนมีลักษณะของนักการสื่อสารที่ดีตรงที่สามารถทำให้คนที่อยู่ใกล้ตัวไม่มีอารมณ์เสีย พอใจที่จะฟังคารมของเค้า และคล้อยตามได้โดยง่าย ซึ่งในการมองแบบคร่าว ๆ แค่ปลายเหตุหรือระดับพื้นผิวแล้ว ไม่มีใครจะปฏิเสธได้เลยในสมญานามที่ให้ อย่างไรก็ตาม ในเชิงวาทวิทยาแล้วนั้น เราต้องมองมากกว่าการพูดที่มีผลให้คนเชื่อและพอใจเท่านั้น


ในมุมมองของวาทวิทยา นักสื่อสารที่เน้นการพูดต้องมีคุณสมบัติคร่าว ๆ ต่อไปนี้จึงจะถือว่าดี ๑) ต้องมีความรู้จริงในสิ่งที่พูดหรือนำเสนอ ๒) ต้องมีความสามารถในการจัดเรียงข้อความให้เป็นที่น่าสนใจ หรือพูดง่ายๆว่า ทำเรื่องง่ายให้น่าสนใจกว่าเดิม หรือเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ไม่ขาดตกบกพร่อง ๓) ต้องสามารถสะกดคนฟังได้ ให้ไม่เบื่อ มีลูกเล่น มีอารมณ์ขัน มีเทคนิคการนำเสนอที่เฉพาะตัว เรียกว่าสไตล์ ๔) อันนี้สำคัญที่สุดคือ มีความจริงใจต่อผู้ฟัง ไม่มีการหมกเม็ด ไม่ตอกไข่ใส่สี ผงฟูชูรส ไม่บิดเบือน เน้นประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ฟัง ไม่ใช่เพื่อตนเองหรือพวกพ้องเท่านั้น ยอมสละได้ยอมเสียประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม (ขอเน้นว่าส่วนรวมที่ว่านี้ไม่ใช่คนพาลหรือผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือกระแสหลักที่ขาดวิจารณญาณ)


เมื่อมามองแต่ละข้อของรีแกนแล้ว ชวนให้ผู้เขียนสงสัยดังนี้


ประการแรกนั้น รีแกนไม่ได้ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจจริงหรือด้านใดจริง ๆ (แม้ว่าจะจบปริญญาตรีด้านนี้มาก็ตาม) แต่มีคณะทำงานที่อยู่เบื้องหลังช่วย ดังนั้น บางทีก็มีการพูดออกมาสิ่งที่รีแกนไม่ใช่รู้จริงนัก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจมองข้ามไปได้บ้างเพราะประธานาธิบดีหรือนักการเมืองดัง ๆ มีผู้ช่วยอยู่เบื้องหลังมาก อาจช่วยกันดูได้ อย่างไรก็ตาม รีแกนก็ดีตรงที่ไม่ค่อยอวดรู้มากนัก อีโก้ไม่จัดเหมือนนักการเมืองหลายคนในหลายประเทศที่อวดรู้ไปซะหมด ไม่ว่าจะมีปริญญาระดับติดตัวก็ตาม


ประเด็นที่สอง รีแกนมีคนเขียนสุนทรพจน์ให้เป็นประจำ อะไรที่เป็นเรื่องยากจึงมีการเปลี่ยนแปลงให้ง่ายได้โดยง่าย บทสนทนาทั่วไปของรีแกนนั้นเท่าที่รู้มาไม่มีความลึก มีแต่บันเทิง อันนี้คงไม่ว่ากันเพราะเรียนมาน้อยแต่ทำงานมานานจึงคล่องสังเวียน แต่ถือว่าไม่ถึงระดับนัก


ประเด็นที่สาม รีแกนมีความสามารถเรื่องการสร้างความบันเทิงเพราะเป็นดาราเก่า ดังกล่าวนี้เป็นที่รู้กันว่าอดีตประธานาธิบดีคนนี้อารมณ์ขันเหลือเฟือ ขอไม่เล่าตัวอย่างเพราะพื้นที่จำกัด เอาเป็นว่ามีผู้นำหลายประเทศที่ชอบและไม่ชอบอาการแบบนี้จนเป็นข่าวซุบซิบออกบ่อยในสมัยนั้น


ประเด็นที่สี่ รีแกนเป็นนักการเมืองที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะต้องพึ่งพากลไกทางการเมืองนี้เพื่อดำรงตำแหน่ง หลายครั้งเรารู้ว่ารีแกนพูดความจริงไม่หมด ให้ดูเรื่องของกรณีอิหร่าน-คอนทราในสมัยนั้นและเรื่องปลีกย่อยอื่น ๆ ที่มารู้ในช่วงคลินตัน และจนมาถึงวันนี้ที่คนหลายคนรู้กัน จุดนี้รีแกนไม่มีคะแนนมากนัก


จากมุมมองทางวาทวิทยา-นิเทศศาสตร์ เราอาจตั้งข้อสงสัยดังกล่าวและลองวิเคราะห์บุคคลที่เราได้ยินกันว่าเป็นคนพูดเก่งหรือคนดีศรีสังคมนั้นเค้าดีจริงสมกับที่เราหรือคนอื่น ๆ ว่ากันจริงหรือไม่ กรณีของรีแกนนี้เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ที่ชวนให้เราขบคิดพิจารณาต่อไป


...............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๘ มี.ค. ๒๕๔๘