Skip to main content

แสงจันทร์ : เสรีภาพแห่งรัก

คอลัมน์/ชุมชน

กลุ่ม "แสงจันทร์" (moonlight) ตั้งขึ้นโดยคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ผู้เชื่อมั่นว่า "ความรักคือ สิ่งสวยงามและทุกคน ทุกเพศมีเสรีภาพที่จะรัก" เมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เรียนรู้เรื่องราวบางอย่างจาก "ตัวตน" คนเหล่านี้


ประมาณสิบโมงเช้า เราทั้ง ๑๒ ชีวิต (ครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม แต่เป็นเพื่อนอาจารย์ในสถาบันฯ) นั่งรถกระบะ ๒ คัน มุ่งหน้าออกจากตัวเมืองลำปางไปทาง อ.แม่ทะ เพื่อหาสถานที่กินข้าวป่า ซึ่งทีแรกตั้งใจว่าจะไปปูเสื่อล้อมวงกินข้าวในสวนเพื่อน แต่บังเอิญ "แพริมน้ำจาง" ข้างสวนในวันนี้ไม่มีชาวบ้านมาตกปลา แพเล็ก ๆหลังนี้จึง "เสร็จโจร"...


หลังจากส่งเพื่อนไปทำเรื่องขออนุญาตการใช้สถานที่ (ตะโกนบอกกับคนแถวนั้น) ทุกคนต่างกุลีกุจอขนสัมภาระลงแพ แล้วแบ่งหน้าที่กันทำตามถนัด เริ่มจากการเก็บกวาดทำความสะอาดแพ ล้างผัก ปอกมะม่วงทำน้ำปลาหวาน ยืนผัดอยู่หน้าเตาและมีคนหนึ่งทำสารพัดส้มตำ ทั้งตำไทย และตำปลาร้าใส่เป็นตัว ๆ ตามคำสั่งชัดเจนว่า "เอารสชาติแบบเผ็ดตายไม่เอาเรื่อง"..ซ๊วบ


อาหารคาวและหวานทั้งหมด ใช้เวลาเตรียมไม่ถึง ๒๐ นาที ทั้งผัดซีอิ้ว ราดหน้า ส้มตำ ยำหมูยอ ทอดลูกชิ้น แหนมเนืองและมะม่วงน้ำปลาหวาน แต่ก่อนที่ทุกคนจะลงมือลิ้มรสอาหารตรงหน้า เสียงจากบางคนดังขึ้นว่า "มีไผไหว้เจ้าตี้ยัง?" …


เอาล่ะสิ...อาจารย์แต่ละท่านมองหน้ากันเลิ่กลัก (พอเป็นพิธี) และแล้ววิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตผู้ซึ่งเคยมีประสบการณ์เอา "ผ้าซิ่นแม่" ผูกโคนต้นมะยมเพื่อให้ลูกมะยมดกมาแล้ว ลุกขึ้นปั้นข้าวเหนียว และตักอาหารใส่ภาชนะเล็กๆ เดินไปไหว้เจ้าที่อย่างมั่นใจ...(พร้อมความโล่งใจของใครอีกหลายคน อิอิ)


เมื่ออาหารได้ทยอยลงไปในกระเพาะแต่ละคนแล้ว จึงเริ่มเห็นความสวยงามของบรรยากาศริมน้ำ ที่มีดอกบัวเล็กๆ สีขาวบานสะพรั่งเต็มแม่น้ำ และลมพัดเอื่อยๆ ตลอดเวลา อาจารย์คนหนึ่งถามฉันว่า "คุณเป็นผู้หญิงตัดผมสั้นเกรียนนี่... "เป็นทอม" หรือเปล่า" อ้าว..เอ๊ะ..หรือจะเป็นอภินิหารปลาร้า จึงทำให้อาจารย์ท่านนี้กล้าถาม ทั้งที่พึ่งเจอะเราเป็นครั้งแรก


ขณะที่ฉันกำลังคิดใคร่ครวญว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไรดี... สมาชิกกลุ่มแสงจันทร์ ๓ คนที่เป็นนักฝึกอบรมเพศศึกษาโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจภาคเหนือ (ดูท่าว่าจะร้อนวิชา) ชิงพูดขึ้นว่า "เรามาเล่นเกม "เส้นสมมุติ" ด้วยกันไหม สนุกนะ" ว่าแล้วรีบเดินไปหาไม้ไผ่ข้างแพมาทำเป็นเส้น แล้วอธิบายว่าถ้าปลายสุดด้านหนึ่งมีคำว่าผู้หญิง และอีกปลายสุดของด้านหนึ่งมีคำว่าผู้ชาย ให้แต่ละคนเลือกไปยืนในบนเส้นในจุดที่คิดว่า "เป็นตัวของเราเอง" พร้อมอธิบายเหตุผลว่าเพราะอะไรเราจึงยืนตรงจุดนั้น...


จากนั้น อาจารย์กว่าครึ่งที่ร่วมเล่นเกม ต่างทยอยไปยืนบนเส้นสมมุติและอธิบายความเป็นผู้หญิงผู้ชายของตัวเอง ส่วนอาจารย์ที่รี ๆ รอ ๆ ไม่เข้ามาร่วมเล่นเกมด้วย แต่พยายามที่จะมีส่วนร่วมโดยตลอด เช่น บอกว่า "เธอต้องยืนตรงนั้นสิ" หรือไม่ก็คัดค้านว่า "เธอไม่ควรอยู่ตรงนั้น ต้องอยู่ตรงนี้ ฉันรู้จักเธอดี" อ้าว...เอ๊ะ???


ต่อเมื่อทุกคนได้ฟังเหตุผลของเพื่อน ๆ ที่อธิบายว่า เพราะอะไรจึงตัดสินใจยืนตรงจุดนั้น ซึ่งน่าสนใจว่าแต่ละคนได้ให้เหตุผลความเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายของตนเอง ในเรื่องสรีระ เรื่องการแสดงออกที่สังคมกำหนดว่า ถ้าเป็นผู้ชายต้องผมสั้น เข้มแข็ง เป็นผู้นำ และถ้าเป็นผู้หญิงต้องตรงกันข้ามกับผู้ชายคือผมยาว อ่อนแอและเป็นผู้ตาม เป็นต้น


อาจารย์บางคนกล้าพูดเปิดใจเรื่อง "รสนิยม" ทางเพศของตัวเอง เช่น การรักเพศเดียวกัน หรือบางคนที่สามารถรักได้ทั้งสองเพศ ซึ่งแต่ละคนต่างเล่าถึงประสบการณ์ความสับสนในตนเอง และการถูกสังคมทำให้ "เจ็บ" ที่ไม่อาจเปิดเผยตัวตนได้เพียงเพราะหน้าที่ของผู้บริหาร หรือการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งหากมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากความคาดหวังของสังคม คนนั้นจะถูกทำให้กลายเป็น "สิ่งแปลกแยก" ในพื้นที่สาธารณะด้วยวลี "เธอน่ะ...หญิงก็ไม่ใช่ ชายก็ไม่เชิง"


ผู้บริหารท่านหนึ่งซึ่งไม่ได้ร่วมเล่นเกมเส้นสมมติ แต่นั่งฟังมาตลอดพูดขึ้นเป็นคนสุดท้ายก่อนที่จะช่วยกันเก็บสัมภาระกลับบ้านว่า "วันนี้ ถ้าผมไม่ได้มากินข้าวด้วยจะเสียดายมาก เพราะการได้ฟังคนอื่นพูดทำให้ผมรู้จักและเข้าใจตัวตนของผมและคนอื่นมากขึ้น และเข้าใจด้วยว่า กลุ่มแสงจันทร์มีความเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคน ทุกเพศ ผมอยากให้เราช่วยกันขยายความเข้าใจเรื่องนี้ให้อาจารย์และนักศึกษาคนอื่นๆ ได้เข้าใจเหมือนที่ผมได้เข้าใจในวันนี้ เราทุกคนจะได้ทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข"


ดวงตะวันริมแม่น้ำจางกำลังจะลับหายไป แต่ทำให้ฉันทันได้เห็นรอยยิ้มและรอยรื้นในน้ำตาแห่งความตื้นตันใจของใครบางคน ทำให้ฉันเชื่อมั่นว่า


การสร้าง "พื้นที่" แห่งการยอมรับในความแตกต่างระหว่างมนุษย์นั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากพลังของกลุ่มคนเล็ก ๆ ดังเช่นคนกลุ่มนี้ที่เรียกตัวเองว่า...แสงจันทร์...