Skip to main content

วัน เวลา และวัย กับการเปลี่ยนแปลง

คอลัมน์/ชุมชน

นับแต่ปลายปี 2547 ผู้เขียนเป็นไข้หวัดใหญ่รอบแรก และเมื่อปลายเดือนมกราคมไข้หวัดใหญ่รอบสองก็มาเยือน จวบจนวันนี้อาการของผู้เขียนก็ยังไม่หายสนิท ยังไอโขลก ๆ เวลาสอนหนังสือหรือต้องพูดยาว ๆ หรือตอนคุยโทรศัพท์กับชาวบ้าน เป็นที่น่ารำคาญต่อตนเองและผู้อื่นเป็นที่ยิ่ง ทำให้นึกถึงว่าเมื่อราวยี่สิบปีที่แล้วที่อาการแบบนี้เกิดไม่นานก็หาย จึงระลึกได้ว่าตนเองนั้นแก่แล้วจริง ๆ


สำหรับวัยสี่สิบ ในสายตาฝรั่งนั้นถือว่าวัยนี้เป็นการเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม ฝรั่งและไทยหลายคนกำลังอยู่ในช่วงที่เรียกว่า midlife crisis หรือช่วงวิกฤติวัยกลางคน ซึ่งเป็นช่วงที่คนในวัยนี้กำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชีวิตที่เหลือจะไปไหนต่อไป ถ้าใครได้เคยดูหนังอเมริกันAmerican Beauty จะเห็นภาพของชายในวัยนี้ได้อย่างดีจากตัวเอกของเรื่อง


จุดประสงค์ของบทความนี้ คือการตั้งข้อสังเกตเรื่องของวัยกับการสื่อสาร หลาย ๆ คนได้มองข้ามไปและไม่ทันได้สังเกต และอาจทำให้การสื่อสารของตนเองกับผู้อื่นมีปัญหาได้ไม่ว่าในระดับระหว่างบุคคลหรือระดับมวลชนก็ตาม


ในด้านวาทวิทยา-นิเทศศาสตร์นั้น การเป็นนักพูดและสื่อสารที่ดี Isocrates บอกว่าอาจมาจากสาเหตุสามประการ ดังนี้ ๑. มีพรสวรรค์ติดตัวมา (Talent) ๒. เกิดจากการศึกษา (Study) มีการเรียนรู้ตามหลักวิชา หรือ ๓. เกิดจากการฝึกฝนบ่อย ๆ (training) ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรเป็นทฤษฎี เพียงเน้นความถี่ของการกระทำเท่านั้น ก็จะเป็นความชำนาญ จากหลักสามข้อนั้นมีการระบุเพิ่มเติมอีกว่า ข้อแรกสำคัญที่สุด แต่หากไม่ได้บอกว่าข้อสองและสามไม่สำคัญ ผู้เขียนจึงขอเพิ่มเติมว่าข้อที่สี่น่าจะเป็นเรื่องของวัยและประสบการณ์ด้วย


หลายหนที่ผู้เขียนเองประสบกับปัญหาในการสื่อสารกับคนอื่น ๆ ไม่ว่าไทยหรือฝรั่ง แม้ว่าจะนึกเข้าข้างตนเองอยู่ในใจว่า น่าจะมีพรสวรรค์ติดตัวมาอยู่บ้าง ผ่านการเรียนรู้ภาคทฤษฎีมาก็ไม่น้อยในด้านนี้ และมีการฝึกฝนเป็นประจำทั้งยังต้องถ่ายทอดฝึกฝนเคล็ดวิชาแก่คนอื่น ๆ อีกด้วย กระนั้นแล้ว ก็ยังมีพลาดหลายหน ยอมรับว่าต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดและพยายามพัฒนาให้มีการคิดที่แยบยลขึ้นหลังจากที่เริ่มมีวัยมากขึ้น


นอกจากนี้ การเดินทางไปเมืองไทยในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมในปี 2547 ที่ผ่านมา รวมทั้งที่ได้ติดตามข่าวเมืองไทยผ่านสื่อต่าง ๆ ได้ช่วยให้ผู้เขียนได้เล็งเห็นถึงสาระสำคัญของคำว่า "วัยและประสบการณ์" ในการสื่อสารมากขึ้น นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนพูดและสื่อสารได้เก่งขึ้น แต่หมายถึงได้เห็นถึงลักษณะการพูดของคนวัยต่าง ๆ ในเมืองไทยได้ชัดเจนขึ้น


ที่เห็นได้ชัดคือ ในชีวิตประจำวันเด็กไทยหลายคนกล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น แต่ไม่ลึกอย่างที่ควรเป็น ขาดการมองที่พินิจพิเคราะห์ และหลงผิดคิดว่าอันนี้แหละดีแล้ว แถมสื่อมวลชนก็สนับสนุนเหลือเกิน คงลืมไปว่าปริมาณกับคุณภาพต้องไปด้วยกัน


หลายคนอาจบอกว่าเด็ก ๆ ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว ผู้เขียนคิดว่านั่นเป็นข้อแก้ตัวของผู้ใหญ่ที่ไม่มีวิสัยทัศน์ การฝึกเด็กนั้นไม่ใช่ให้สักแต่พูดออกมา แต่ต้องให้เห็นผลที่อาจตามมาด้วย การพูดเพราะเห็นว่าแค่ทำให้ผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งเห็นว่าดีพอแล้ว อาจไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด


เด็กไทยเหล่านี้น่าสงสารตรงที่ได้ผู้ใหญ่ในกระแสที่มองภาพไม่ออก และพยายามยัดเยียดทัศนคติและค่านิยมหลายหลากที่ไม่ถูกต้องในการพัฒนาจนเด็กสับสน และไม่สามารถสร้างตัวตนขึ้นมาได้ หลายหนที่ผู้เขียนเห็นเด็กไทยวัดคุณค่าของตนเองและคนอื่น ๆ โดยมองที่ว่าตนหรือคนนั้นมีอะไร ได้เงินเดือนเท่าไร แต่มองข้ามลักษณะอื่น ๆ ไป เช่น การมีความคิดที่ลุ่มลึกหรือการมีคุณธรรม จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง


ได้คุยกับผู้อาวุโสหลายท่านว่าเจอเหตุการณ์แบบนี้ จึงได้การย้ำมาว่าที่จริงแล้วลักษณะเช่นนี้มีมาแต่ไหนแต่ไร แต่ระยะหลัง ๆ นี้มันชัดขึ้น แล้วก็แรงขึ้น คงต้องดูต่อไปว่าหากไม่เปลี่ยนกระบวนคิดให้เด็กรุ่นนี้แล้ว สังคมไทยคงได้พบอะไรต่อไปในช่วงเจนเนเรชั่นต่อไป


อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเด็กไทยทุกคนเป็นอย่างที่กล่าว หากแต่เป็นภาพโดยรวมเท่านั้น และผู้ใหญ่เองเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเป็นเช่นนี้ ไม่ใช่ตัวเด็ก


ส่วนผู้ใหญ่ในเมืองไทยนั้นมีหลายหลากที่ได้พบ แต่ที่พบมากคือกลุ่มผู้นำทางการเมืองต่าง ๆ มาพูดเข้าข้างตนเอง เช่น ผลงานนั้น ๆ เป็นผลงานของตนเอง ทั้งที่ลืมบอกไปว่าเงินที่ได้มาไม่ใช่ผลงานตนเอง แต่เป็นองค์กรต่างประเทศหรือองค์กรอื่น ๆ ถ่ายผ่านมาให้


บ้างมาพูดทวงบุญคุณประชาชนโดยไม่ได้บอกข้อมูลทั้งหมด บ้างมาพูดให้ความหวังว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ว่าเมืองไทยสังคมไทยนี้มีอนาคต แต่ไม่ได้ข้อมูลที่เป็นอยู่จริงและต้องแก้ไข รวมทั้งไม่ให้มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างแท้จริง และถ้าใครไปค้นหรือเสนออะไรไม่ถูกใจบุคคลเหล่านี้ ก็จะมีการราวีตอบโต้อย่างที่มองเห็นและมองไม่เห็น จนผู้ด้อยกว่าต้องหลุบหายไป (หรืออาจถูกอุ้มไป)


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่ายังคงมีผู้ใหญ่ที่เปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์และความปรารถนาดีต่อผู้น้อยและด้อยกว่า ผู้ใหญ่เหล่านี้ยังคงมีอิทธิพลต่อความเจริญของสังคมไทย การเป็นผู้ใหญ่ที่พูดเป็น พูดดี และพูดให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงของส่วนรวม โดยปราศจากผลประโยชน์อื่นเคลือบแฝงเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรจะส่งเสริมให้ชัดเจนขึ้นและมากขึ้น


อันนี้เองคงต้องถามผู้ใหญ่อีกหลายท่านด้วยว่า ท่านพร้อมแล้วหรือยังที่จะโปร่งใสจริง


...............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๑๕ มี.ค. ๒๕๔๘