Skip to main content

รัฐบาลพรรคเดียว

ผลการเลือกตั้งก็ได้ปรากฏมาแล้วว่า พรรคไทยรักไทย ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้คะแนนเสียงแบบถล่มทลาย สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย ไม่เคยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถได้คะแนนมากเช่นนี้ มองในแง่ดีก็ถือว่าเป็นการดีที่มีการเมืองที่นิ่ง มั่นคง ๔ ปีข้างหน้าจะไม่มีปัญหาเรื่องการเมืองที่ไม่มั่นคง

ในอดีตเราได้เห็นการต่อรองทางการเมือง ที่ ส.ส.มักจะมีอำนาจในการต่อรองเมื่อมีการลงมติในสภา เพราะพรรคการเมืองร่วมเป็นรัฐบาลมี ส.ส.ในมือไม่มาก ไม่เป็นเสียงเด็ดขาด


การเลือกตั้งคราวนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าการเมืองที่มี ส.ส.มากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือมากกว่า ๓๕๐ เสียง จะมีข้อครหาเรื่องไม่ฟังเสียงประชาชนหรือไม


ในสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ส.ส.๕๐๐ คน นั้น พรรคไทยรักไทยมีส.ส.กว่า ๓๘๐ เสียง การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลโดยพรรคฝ่ายค้านนั้นทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ส.ส.จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนั้น ต้องใช้คะแนนเสียงหนึ่งในสี่ของ ส.ส.คือต้องใช้ ๑๐๐ เสียง


แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนั้น ถ้าเป็นเรื่องของการทุจริตต่อหน้าที่ราชการต้องให้ ส.ส.ถึง ๑๒๕ คนในการยื่นถอดถอนก่อนถึงจะเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจได้ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า คะแนนของฝ่ายค้านมีไม่ถึง ๑๒๕ เสียง


การยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่าทุจริตต่อหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านจึงทำไม่ได้


เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าถ้าเสียงฝ่ายค้านมีน้อยกว่า ๑๒๕ เสียงจะทำไม่ได้ เพราะต้องให้ ส.ส.อย่างน้อย ๑๒๕ เสียงยื่นถอดถอนรัฐมนตรีก่อนถึงจะยื่นญัตติฯ ได้ ยังมีทางเปิดเอาไว้ให้ ถ้านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมีปัญหาโดยวุฒิสภาขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้ ส.ว.อย่างน้อย ๑๒๐ เสียงยื่นญัตติ

ก็ต้องคอยดูการทำงานว่าวุฒิสภาจะทำหน้าที่นี้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลบริหารงานแล้วมีปัญหาในสี่ปีข้างหน้า

ซึ่งที่ผ่านมาวุฒิสภาชุดนี้ได้ทำหน้าที่ได้ดีมาหลายครั้งในการอภิปรายงบประมาณประจำปี หรือการอภิปรายผลงานประจำปีของรัฐบาล หรือยื่นกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลหลายครั้ง


ผมเองก็เคยอภิปรายเรื่องของโครงการพำนักระยะยาว หรือลองสเตย์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็มีการพูดถึงว่าการเมืองไม่นิ่ง เพราะโดนผมอภิปรายในวุฒิสภา แต่คนที่ต่อว่าผมว่าทำให้การเมืองไม่นิ่งต้องลาออกจากกรรมการของบริษัทไทยจัดการลองสเตย์ไปแล้ว


ความจริงแล้วรัฐธรรมนูญออกแบบมาให้วุฒิสภาทำงานเป็นสภาตรวจสอบ และเป็นสภาถ่วงดุลย์ในยามที่ ส.ส.มีฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน ส.ว.จะมีบทบาทมาก ถ้ารัฐบาลใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เพราะสมาชิกวุฒิสภามีข้อห้ามไม่ให้สังกัดพรรคการเมือง


ที่มีปัญหาในระยะหลังก็เพราะมี ญาติของ ส.ว. ไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ก็เลยเห็นบทบาทว่า ส.ว.ไม่เป็นกลาง ทำหน้าที่เป็น ส.ว.ฝ่ายรัฐบาล หรือเป็น ส.ว.ฝ่ายค้าน ซึ่งทำให้มีภาพที่ไม่เหมาะสมในการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา


ก็ต้องดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่า รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากจะฟังเสียงประชาชนหรือไม่ และ ส.ว.จะทำหน้าที่ได้จริงหรือไม


หลายท่านกังวลใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคฝ่ายค้านกังวลใจว่ารัฐบาลเสียงข้างมากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามใจตัวเองเพราะมีเสียงมากกว่าครึ่งของรัฐสภา ผมเกรงว่ารัฐบาลจะไม่แก้รัฐธรรมนูญมากกว่า


เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผู้ทำให้รัฐบาลและพรรคการเมืองเข้มแข็ง พรรคเล็ก ๆ จะโดนพรรคใหญ่กวาด ส.ส.ไปหมด จะเห็นว่าบางครั้ง ส.ส.ต้องทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของพรรคพวกมากกว่าปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน


ส.ส.จะมีบทบาทน้อยลง เพราะไม่กล้าขัดมติพรรค บางครั้งไม่กล้าพูดความจริง เพราะถ้าขัดใจพรรคเขาก็จะไม่ส่งลงเลือกตั้งเป็นส.ส. รับประกันได้เลยว่าการที่รัฐบาลนี้จะแก้รัฐธรรมนูญคงจะไม่เห็นแน่ เพราะรัฐบาลยังเอ็นจอย หรือพอใจในระบบเลือกตั้งแบบนี้


ใครจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วทำให้ตัวเองเสียเปรียบล่ะ