Skip to main content

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ก.บ.ข.)

 


ในขณะนี้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ก.บ.ข.) ฉบับที่ พ.ศ... ซึ่งเสนอให้กรรมาธิการวิสามัญในวุฒิสภาได้พิจารณา


ผมขอสรุปเป็นข้อมูลให้ท่านได้รับทราบดังนี้


วัตถุประสงค์ของ ก.บ.ข. คือเพื่อให้เป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ ส่งเสริมการออมให้กับสมาชิก และจัดสวัสดิการรวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ให้กับสมาชิก


ทุกครั้งที่จ่ายเงินเดือนจะหัก ๓ เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนของสมาชิก โดยรัฐจะสมทบอีก ๓ เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน


และรัฐจะมีเงินชดเชยในอัตรา ๒ เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนให้กับสมาชิก ซึ่งจะได้รับเมื่อออกจากราชการและเลือกรับบำนาญ


ก.บ.ข.จึงได้รับว่าเป็นสวัสดิการที่ดีของข้าราชการที่เป็นสมาชิก ซึ่งได้แก่ ข้าราชการพลเรือน ตุลาการ อัยการ ทหาร ครู ตำรวจ ข้าราชการในมหาวิทยาลัย รัฐสภา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. สตง. ศาลปกครอง


ขอเรียนว่าเป็นประเด็นหนึ่งซึ่งทำให้ข้าราชการครูและข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เป็นห่วงว่า สวัสดิการนี้จะไม่ได้รับเมื่อต้องโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือต้องโอนไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพราะเขาเกรงว่าเงินสมทบ ๓ เปอร์เซ็นต์ และเงินชดเชย ๒ เปอร์เซ็นต์จะหาย เมื่อต้องย้ายโอนไปตามกฎหมายปฎิรูประบบราชการ


ซึ่งต้องย้ายโอน คน เงิน และงานไป จากเดิมเป็นข้าราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น


จึงต้องมีการเสนอขอแก้ไขกฎหมาย ก.บ.ข.ตามมาอีกฉบับ ซึ่งจะมีการเสนอเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อมีรัฐบาลหน้า ประมาณต้นเดือนมีนาคม


เพื่อให้สวัสดิการต่าง ๆ ที่ข้าราชการเคยได้รับก่อนโอน ได้รับสวัสดิการเช่นเดียวกัน เพียงแต่เงินสมทบหรือเงินชดเชยนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจัดสรรให้


ส่วนสมาชิกภาพต้องยังคงมีอยู่แม้จะต้องโอนย้ายไปอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ไปอยู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร หรืออื่น ๆ ก็ตาม


แต่ที่วุฒิสภามีการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการขณะนี้ก็คือ ก.บ.ข.เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีอำนาจในการจัดการเงินกองทุนได้มากขึ้น เช่น


ให้ ก.บ.ข.มีอำนาจในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของกองทุน และสามารถเข้าร่วมกิจการกับหน่วยงานอื่นในและนอกประเทศ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของกองทุน


ให้สมาชิกเลือกออมเงินสะสมเพิ่มได้ แต่เมื่อรวมกับของเดิมต้องไม่เกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน โดยรัฐสมทบให้ ๓ เปอร์เซ็นต์เท่าเดิม


ให้สิทธิสมาชิกเลือกรับเงินเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพได้โดย จะรับเป็นเงินก้อนเช่นเดิม ทยอยรับเงิน หรือ โอนไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนเพื่อการชราภาพอื่นได้


ขอเรียนว่า ถ้าดูตามหลักการและเหตุผลคงจะไม่ติดใจอะไรเพราะเป็นเรื่องดีแก่สมาชิกของ ก.บ.ข. แต่งานในกรรมาธิการต้องดูผลกระทบต่าง ๆ และต้องดูรายละเอียดอีกมาก


ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ ก.บ.ข.จะตั้งมาจะมีการดูแลเงินของสมาชิกอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะในปี ๒๕๔๖ ก.บ.ข. เคยนำระบบงานคอมพิวเตอร์มาใช้โดยร่วมทุนกับเอกชน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายรายปี จาก ๗๐ ล้านเพิ่มเป็น ๑๓๗ ล้าน ซึ่งกรรมาธิการกำลังตรวจสอบรายละเอียดในขั้นกรรมาธิการว่า จะมีการตรวจสอบว่าต้องมีการควบคุมอย่างไรไม่ให้เกิดการตั้งบริษัทลูก เพื่อให้มีค่าใช้จ่าย ยักย้ายถ่ายเทเงินไปยังบริษัทลูก

ในขั้นกรรมาธิการขณะนี้ได้มีการประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อรักษาเงินของข้าราชการกว่าสองแสนล้าน เพื่อให้มั่นใจว่า สมาชิกจะได้รับผลประโยชน์ และจะมีการตรวจสอบจากหลาย ๆ ฝ่ายอย่างเหมาะสมและรัดกุม เพราะเงินกองทุนจะมีขนาดใหญ่ถึงห้าแสนล้านในไม่กี่ปีข้างหน้า

ยิ่งมีความคล่องตัวในการบริหารเท่าไร ยิ่งมีเงินเกี่ยวข้องเป็นหลายแสนล้านการตรวจสอบต้องมีระบบ มีความรวดเร็วทันการและเชื่อถือได้


ถึงแม้จะปิดสภา แต่ ส.ว.ไม่ได้ปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์ ส่งความเห็น ข้อเสนอแนะมาได้ที่ ตู้ ป.ณ. ๑๕๓ ภูเก็ต หรือ www.senator@phuket.ksc.co.th ได้นะครับ หรือจะร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ มาที่วุฒิสภา โทร. ๑๗๗๗