Skip to main content

เขตการค้าเสรี (เอฟ ที เอ)

สัปดาห์นี้วุฒิสภาได้มีการสัมนาในเรื่องเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ (FTA) ซึ่งคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การพานิชย์และอุตสาหกรรมวุฒิสภาได้ร่วมกับกรรมาธิการการต่างประเทศ กรรมาธิการการเกษตร กรรมาธิการการคลังการธนาคารและสถาบันการเงินวุฒิสภาจัดให้มีการพูดคุยกันกับผู้ที่มีส่วนได้เสีย เช่น ตัวแทนจากภาคเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม และหอการค้า


ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพานิชย์ โดยมีผู้อภิปรายดังนี้
นายปานปรีย์ พหิธานุกร หัวหน้าคณะเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย นายสมพล เกียรติไพบูลย์ หัวหน้าคณะเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สาธารณะรัฐประชาชนจีน นายนิต พิบูลย์สงคราม หัวหน้าคณะเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา นางสาวชุติมา บุญยประภัศร ผู้แทนหัวหน้าคณะเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ นายพินิจ กอศรีพร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


วัตถุประสงค์คือ ต้องการสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน และทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นหลังจากที่ฝ่ายบริหาร คือรัฐบาลได้เซ็นสัญญาเปิดเขคการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีความคืบหน้า ดังนี้


ไทย-ออสเตรเลีย การเจรจาสิ้นสุดลงแล้วและมีการลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗ จะมีผลบังคับใช้ ๑ มกราคม ๒๕๔๘


อาเซียน-จีน มีการลดภาษีสินค้ากลุ่มแรกแล้ว (พิกัด ๐๑-๐๘) ได้แก่สิ่งมีชีวิต เนื้อสัตว์ ปลาและอาหารทะเล นมและผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ ผักและผลไม้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗ และลดลงเหลือ ๐ เปอร์เซ็นต์ ภายในปี ๒๕๔๙ สินค้าที่เหลือจะเริ่มลดลงปี ๒๕๔๘


ไทย-อินเดีย มีการลดภาษีสินค้ากลุ่มแรกจำนวน ๘๒ รายการตั้งแต่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗ และลดลงเหลือ ๐ % ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๘ สำหรับสินค้าที่เหลืออยุ่ระหว่างการเจรจา


ไทย-บาห์เรน ลงนามกรอบความตกลงแล้ว อยุ่ระหว่างการเจรจาสินค้า บริการ และการลงทุน


ไทย- เปรู ลงนามกรอบความตกลงแล้ว อยุ่ระหว่างการเจรจาและมีเป้าหมายจะให้แล้วเสร็จในปี ๒๕๔๗ นี้


ไทย- นิวซีแลนด์ การเจรจามีความคืบหน้ามากในหลายเรื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาแลกเปลี่ยนรายการสินค้า


ไทย- ญี่ปุ่น อยุ่ระหว่างการเจรจาแลกเปลี่ยนสินค้าและรูปแบบการลดภาษีระหว่างกัน


ไทย-สหรัฐ มีการประชุมไปแล้ว ๒ ครั้ง ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสอบถามความเห็นในประเด็นต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเจรจาระหว่างกันต่อไป


BIMSTEC (บังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกาไทย ภูฎาณ และเนปาล) อยุ่ระหว่างพิจารณาขอบเขตและแผนการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญค่อการเจรจาสินค้าก่อน


ถ้าถามว่าเขตการค้าเสรี คืออะไร คำตอบคือ การที่สองประเทศทำข้อตกลงที่จะขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันโดยลดหรือยกเลิกอุปสรรดทางการค้า ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีให้เหลือน้อยที่สุด
ในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างหันมาใช้เอฟทีเอในการทำการค้ากัน เนื่องจากทำให้ขยายตลาดมากขึ้น


ถ้าไทยไม่ทำเอฟ ที เอ กับประเทศต่าง ๆ เราก็จะสูญเสียตลาดในการส่งออก และจะไม่สามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรู้กติกาของเอฟทีเอให้เข้าใจ และใช้กฎ กติกา มารยาท ของเอฟทีเอให้เข้าใจ


เราได้รับบทเรียนของเอฟทีเอไทย-จีนว่า ขณะนี้สินค้าจากจีนเข้ามาไทยเป็นจำนวนมาก เพราะเราเปิดประตูให้สินค้าเข้ามาโดยสะดวก ในขณะที่จีน มีการให้กฎเกณฑอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี มากีดกันสินค้าจากไทย เช่นเรื่องของสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม ทำให้ผลไม้จากไทย เช่นส้ม มังคุด ไม่สามารถส่งไปขายในหลายมณฑลของประเทศจีนได้


เพราะฉะนั้น การเปิดเอฟ ที เอ จึงต้องใช้ความร่วมมือกันและควมเข้าใจกันทุกฝ่าย ถ้าไม่มีความเข้าใจในกติกา เราก็จะเสียเปรียบเสมอ


เราจึงต้องอาศัยข้อมูลจากผู้ส่งออก จาก เกษตรกร จากราชการและจากหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อจะได้ช่วยกัน ร่วมมือกัน เพราะกติกาเอฟทีเอเป็นกติกาใหม่ ถ้าเราไม่รู้จักใช้ เราก็จะเสียเปรียบต่างชาติเสมอ
หน้าที่ตรวจสอบ แนะนำ ให้ข้อมูล และสร้างความเข้าใจเป็นหน้าที่หนึ่งของวุฒิสภา ทุกฝ่ายต้องช่วยกันให้ภาครัฐได้ทราบถึงปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และต้องเตรียมการในการรับผลกระทบที่จะมีขึ้น ถ้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย


ต้องเตรียมทำให้วิกฤติให้เป็นโอกาส ในการทำการค้า ในการสู้กับตลาดโลก เราคงจะต้องร่วมมือกันอย่างหนักในการช่วยกันทำให้การค้าระหว่างประเทศ ให้เกษตรกร ให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน


เพราะขณะนี้เราต้องไปเล่นในกติกาที่เราไม่ถนัด เราจึงต้องซ้อม ต้องขยัน ต้องปรับตัว โดยภาครัฐต้องเข้าใจใช้เวลา ใช้ข้อยกเว้น ใช้ข้อมูล ใช้ความเข้าใจ ความร่วมมือกันมาเป็นตัวช่วยให้มากที่สุด