Skip to main content

กีฬาโอลิมปิก(สิงหาคม ๒๕๔๗) และวาทกรรมทางสังคม

คอลัมน์/ชุมชน

บทความนี้เหมือน "out of context" ที่อยู่ดี ๆ ก็โผล่ขึ้นมาหลังจากมหกรรมกีฬาดังกล่าวยุติลงไปเป็นปี แต่ขออนุญาตกล่าวถึงเสียหน่อย เพราะตอนนั้น "เว็บประชาไท" ก็ยังไม่เกิด


ในบทความนี้ ผู้เขียนขอเสนอมุมมองหนึ่งทางนิเทศศาสตร์ที่มีต่อมหกรรมกีฬาครั้งนี้ อาจทำให้คนหลายคนได้มองเห็นประเด็นที่ต่างออกไป ชอบไม่ชอบคงไม่ว่ากัน เอาเป็นว่าอาจได้มุมมองต่างออกมาจากที่เคยรู้สึกหรือมีมาแต่เดิม


ผู้เขียนได้ดูกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับมหกรรมนี้ เพราะมีถ่ายทอดและสรุปเหตุการณ์ทางทีวีในสหรัฐฯ เห็นความพยายามของหลายฝ่ายที่จะให้ได้ชัยชนะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลลึก ๆ ใดก็ตาม การแข่งขันแต่ละอย่างมีประเด็นที่น่าสนใจ และน่าวิเคราะห์


มหกรรมกีฬานี้มีที่มาตั้งแต่โบราณ จวบจนมาสมัยใหม่ โดยที่เราเริ่มนับตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา กีฬานี้มีเป็นครั้งแรกในปี ๑๘๙๖ ในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซเป็นที่เดียวกับที่มีในปีนี้ กีฬาโอลิมปิกได้รับผลกระทบจากการเมืองมาตลอด แม้หลายคนจะพยายามดึงไม่ให้กีฬากลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง


ในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง กีฬาดังกล่าวไม่สามารถมีได้ และในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็มีการขัดแย้งต่าง ๆ เช่นไม่ยอมให้กลุ่มคนบางกลุ่มเข้าร่วม หรือบางประเทศก็ประท้วงไม่ยอมเข้าร่วม หากประเทศเจ้าภาพเป็นปรปักษ์กับตน


ช่วงที่เห็นได้ชัดเมื่อไม่เกิน ๒๕ ปีที่ผ่านมาคือ
๑. ในปี ๑๙๘๐ ที่มอสโคว์นั้น สหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ได้บอยคอตไม่เข้าร่วมด้วย เนื่องจากอดีตสหภาพโซเวียตได้เข้าไปรุกรานอัฟกานิสถาน
๒. จากนั้นช่วงที่มีในลอสแองเจลิส สหรัฐฯ ในปี ๑๙๘๔ ก็มีการบอยคอตไม่ยอมเข้าร่วมจากอดีตสหภาพโซเวียตเพื่อตอบแทนสหรัฐฯที่บอยคอตในปี ๑๙๘๐ และ
๓. ในปี ๑๙๘๘ ที่เกาหลีใต้ ก็มีการบอยคอตไม่เข้าร่วมจากคิวบา นิคารากัว เอธิโอเปีย และเกาหลีเหนือ


ในปีที่ผ่านมา ๒๐๐๔ ก็มีปัญหาที่ตัวแทนบางประเทศไม่ยอมแข่งกับตัวแทนจากบางประเทศ เพราะคตินิยมของตนเองไม่ตรงกัน และสาเหตุอื่นอะไรต่อมิอะไร หากลืมมองไปว่านี่คือกีฬาที่ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อทางการเมือง จุดนี้จึงกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อและน่ารำคาญขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้


ที่น่าเบื่ออีกประการหนึ่งคือ เวลาที่สำนักข่าวต่าง ๆ รายงานข่าวจำนวนการได้เหรียญทองและเหรียญอื่น ๆ ซึ่งก็แน่นอนว่าได้แบ่งตามประเทศที่ส่งมา แต่ผู้รายงานข่าวเองก็มักจะเน้นกันเหลือเกินว่า ชาติของตนได้มากน้อยเท่าไร อันนี้เป็นสากล ยิ่งประเทศเล็ก ๆ ยิ่งลุ้นมากเมื่อมีโอกาสลุ้นเหรียญใดสักเหรียญ ดูเป็นเรื่องที่น่าสนุก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการกระทำที่เกินความจำเป็น จุดมุ่งหมายของกีฬาและการแข่งขันคือการดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมา สอนให้เรียนรู้ในการฝึกตนเอง เรียนรู้ที่จะแพ้ชนะ และเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างปกติสุข มีภราดรภาพ


นอกจากนี้ หลายประเทศพยายามอัดฉีดด้วยเงินสินจ้างรางวัลเพื่อให้นักกีฬาของตนทำเหรียญให้ได้มาก ๆ หลายประเทศมีการปูนบำเหน็จหลังจากการได้เหรียญ และยกย่องให้เป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรีกันไปเลย ดูจากภายนอกเหมือนการให้กำลังใจ แต่ไม่ถูกต้อง มันเกินกรอบของคำว่าการแข่งกีฬา


การแพ้ชนะของกีฬาเป็นเรื่องของหลายปัจจัย การแพ้ชนะไม่ใช่ของถาวรจีรัง ไม่ใช่การวัดคุณค่าของคน แต่เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่จะสร้างคนให้เข้าใจชีวิตว่ามีหลายด้าน ไม่ว่าแพ้หรือชนะ ชีวิตยังคงดำรงอยู่ ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เกือบทั้งโลกมองกันเพี้ยนไปหมด กลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับกีฬามักจะยิ่งหลุดกรอบออกบ่อย ๆ เมื่อกล่าวถึงการแข่งขันแต่ละครั้งหรือชนิด


ในสหรัฐฯ หรือที่อื่น ๆ มักจะเห็นว่านักกีฬาคนใดที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกมักจะมีโอกาสกลายเป็นคนดังและสามารถสร้างเงินได้มากมาย ที่เห็นชัด ๆ ก็คือจะกลายมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ของสินค้าต่าง ๆ หลายคนกลายเป็นดารา จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับการผ่านเวทีประกวดนางงาม และนางงามได้เป็นคนดังต่อมานั่นเอง หากแต่ว่านักกีฬาหลายคนมักหน้าตาขี้เหร่ หาหน้าหล่อหรือสวยจริงได้ยาก (แต่หุ่นและทรวดทรงมักจะดี ๆ กัน) จึงหาค่อนข้างยากที่จะกลายเป็นคนดังที่อาศัยหน้าตา


จุดจบของคนดังที่มาจากวงการกีฬาก็มักจะจบลงในด้านบวกบ้างลบบ้าง เหมือนคนในวงการบันเทิงส่วนมากทั่วไปที่มักจะหลงกับ "เงา" ที่สังคมมายานั้น ๆ หลอกให้ ถ้ารู้เท่าทันก็ดีไป ถ้าไม่ทัน ก็จบแบบบัวแล้งน้ำ


ดังนั้น กีฬาโอลิมปิกหรือกีฬาใด ๆ ก็ตามนั้นดูแล้วสนุกได้ ดูแล้วทำให้เราชื่นชมกับความพยายามของนักกีฬาเหล่านี้ โดยต้องระลึกไว้เสมอว่าว่านี่คือกีฬา ไม่ใช่เรื่องของเงินทอง ชื่อเสียง และเกียรติภูมิของแต่ละประเทศ การมานั่งแบ่งแยกพวกเขาพวกเรานั้นน่าจะเป็นผลลบมากกว่าบวก


และที่น่าเสียดายคือมักเห็นความดีใจเกินเหตุของผู้ชนะ และความสลดเสียใจของผู้แพ้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ควรให้เห็นและปรากฏมากจนเกินไปนัก ทำให้เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับอย่างไม่กังขา ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วนั้น การแพ้หรือการชนะ ล้วนเป็นสิ่งสมมติทั้งนั้น


ในบริบทของสังคมคนไทย คนไทยที่เป็นคนดู ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลกก็ตาม อาจต้องตั้งคำถามต่อตนเองอีกครั้งว่า ดูกีฬาไปเพื่ออะไร ดูเพื่อพนัน เพื่อสนุก หรือเพื่อรู้สึกว่านั่นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศักดิ์ศรีของประเทศ


จำได้ว่าคนไทยหลายคนที่รู้จักนั้น มีอาการ "ติด" รายการกีฬาที่ตนชอบ ขนาดต้องอดตาหลับขับตานอนมาดูกีฬานัดสำคัญ ๆ แล้วก็ไปทำงานอย่างที่เรียกว่า "ลากขาตาลอย" บ้างถึงยอมขาดงานกันเลย นับว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ถือว่าไม่ถูกต้อง


มีคนสนิทคนหนึ่งคลั่งเทนนิส ขนาดไม่มีเงินจะกินจะใช้ ก็ยังต้องซื้อไม้เทนนิสอันละหกพันบาทมาใช้ หลายคนเล่นกอล์ฟก็ต้องสรรหาไม้กอล์ฟราคาแพงมาใช้ เพราะคิดว่าเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยในการเล่น ซึ่งอาจจะจริง แต่ไม่จำเป็นต้องฟุ่มเฟือย หากเล่นเพื่อสนุก ไม่ใช่เอาเป็นเอาตาย


กีฬานั้นจึงกลายเป็นสิ่งมนุษย์เองใช้ไม่ถูก แต่ไม่เคยมีคนกล้าที่จะเข้ามากล่าวถึงเท่าไร เพราะในสังคมทั่วไปให้คุณค่ากับกีฬามากไป จนลืมมองว่า "วาทกรรมกีฬา" เองได้ถูกทำให้เกิดความหมายต่าง ๆ จนผิดเพี้ยนและเป็นโทษต่อคนในสังคมเอง เช่น หลายคนที่เป็นพ่อแม่ พอเห็นลูกเล่นกีฬาก็ภูมิใจ หากลูกหลายคนเล่นกีฬามากจนไม่เป็นอันร่ำเรียน อันนี้ก็เป็นโทษมากกว่าคุณ


ท้ายสุดนี้ กีฬาโอลิมปิกน่าจะเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นวาทกรรมสังคมอย่างหนึ่ง ที่สื่อให้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ ความเป็นชาตินิยม และค่านิยมอีกหลายหลากในสังคมทั่วไปและสังคมไทย เพียงแต่ว่าหลายคนอาจมองข้าม และไม่คิดตั้งคำถามกลับ


กีฬายังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปัจเจกบุคคล และสังคมมหภาค เพียงแต่ว่าใครจะเอาเรื่องนี้มาคิดมาใช้ และสอนตนเองแค่ไหน หลายครั้งผู้คนทั่วไปจึงเกิดการมองข้ามเรื่องใกล้ตัวชนิดติดปลายจมูกแค่นี้


...............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๒๓ มี.ค. ๒๕๔๘