Skip to main content

เงินเดือนของ ส.ว. และ ส.ส.

สัปดาห์นี้เรื่องในสภาไม่มีเรื่องใดที่ได้รับคำติเตียนเท่ากับการขึ้นเงินเดือนของ ส.ว. และ ส.ส.


การขึ้นเงินเดือนของประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาฯ ประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิฯ ส.ส. และ ส.ว. ทำโดยคณะรัฐมนตรีได้ออกพระราชกฤษฎีกาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เลยโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างทั่วถึงว่าไม่สมควร คือเงินเดือนจากเดือนละ ๗๗,๐๐๐ บาท ขึ้นเป็น ๑๐๔,๓๓๐ บาท คิดเป็น ๓๕ เปอร์เซ็นต์จากเดิม


ที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็เพราะได้มีข่าวเรื่องสภาผู้แทนราษฎรล่มอยู่บ่อย ๆ ส่วนในวุฒิสภาก็มีปัญหาเรื่องการทะเลาะวิวาทกัน เสมือนหนึ่งว่า ส.ส.และ ส.ว.ไม่ได้ทำอะไรที่เกิดประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ดีแต่คอยจะขึ้นเงินเดือนให้กับตัวเอง


อันที่จริงการพิจารณาขึ้นเงินเดือนเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าฝ่ายบริหารเปรียบเทียบว่าหน่วยงานต่าง ๆ มีฐานเงินเดือนที่แตกต่างกันก็จะมีการพิจารณาตามลำดับไป จะเห็นว่ามีการพิจารณาในเรื่องเงินเดือนของ อัยการ ของครู ของข้าราชการ หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาแล้ว


แต่ที่โดนต่อว่ามากที่สุดเพราะการทำงานของ ส.ว.และส.ส.ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ ที่มองว่าการขึ้นเงินเดือนเดือนละ ๒๗,๐๐๐ บาทมากเกินความจำเป็น ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานอื่นเขาขึ้นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์


ความจริงแล้วคนที่มาสมัครเป็น ส.ว.หรือ ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงเงินเดือนตัวเอง และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าขณะที่สมัครเงินเดือนจะได้เท่าไร ขออย่างเดียว ขอให้พี่น้องประชาชนได้เลือกตัวเองมาเป็นตัวแทนในสภา


ผมเรียนท่านว่าหลายท่านเป็นทนายความ เป็นหมอ ต้องมาทำงานเต็มเวลา ต้องทิ้งหน้าที่ที่เคยทำ ถ้าไม่มีรายได้จากเงินเดือนคงจะต้องแย่


แต่ละสัปดาห์มีกฎหมายมานับสิบฉบับ ถ้าจะให้การกลั่นกรองกฎหมายมีประสิทธิภาพก็ต้องเอาใจใส่ ต้องอ่านเพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเพื่อให้ประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด เพราะถ้ากฎหมายออกมามีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนมากก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อน เช่น พ.ร.บ.โรงแรม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฯลฯ


ผมได้เห็นการตั้งกระทู้ให้นายกรัฐมนตรีตอบในรัฐสภาซึ่งได้รับการแก้ไขให้ประชาชนไปได้หลายประเด็น ได้เห็นการตั้งญัตติเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ขอเรียนให้ท่านทราบว่านักการเมืองนั้นทำงานในด้านนิติบัญญัติ ทำงานด้วยการพูด ไม่ใช่ทำงานด้วยการกระทำ

เพราะฉะนั้นนักการเมืองคนไหนไม่พูด ไม่แสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อชาติประชาชน จะไม่ค่อยมีบทบาททางการเมือง ไม่เหมือนกับฝ่ายบริหาร ซึ่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ จะสามารถทำงานออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรมกว่า ส.ส.หรือ ส.ว.


จึงถือว่าเป็นเรื่องปกติที่คนจะต้องวิจารณ์อย่างมากที่เห็นเงินเดือนของ ส.ว.หรือ ส.ส.ขึ้น จะเห็นว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่ต้องตอบว่าทำไม่ต้องขึ้นเงินเดือนให้ ส.ส.หรือ ส.ว.


เหตุผลที่ได้รับจากการแถลงข่าวของโฆษกรัฐบาลก็คือ เพราะ ส.ส.และส.ว.เป็นฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล และตรวจสอบองค์กรอิสระต่าง ๆ ซึ่งเงินเดือนของหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านั้นมีเงินเดือนมากเป็นแสน และเมื่อเปรียบเทียบเงินเดือนของ ส.ส.หรือ ส.ว.เรา กับสภานิติบัญญัติในต่างประเทศของไทยเป็นอันดับหลังสุด เงินเดือนของ ส.ส.เขมรยังมากกว่าของไทย


ผมคงไม่ออกความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะคำวิจารณ์ของประชาชนเป็นกระจกอย่างดี สะท้อนอย่างดีว่า ส.ว. และ ส.ส.ต้องทำงานมากขึ้นกว่าเดิม


ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน เพราะฉะนั้น รัฐสภาต้องทำหน้าที่ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ผมก็จะทำหน้าที่เล่าให้ท่านฟังว่าแต่ละสัปดาห์เราทำอะไรบ้างในสภา


เช่น ช่วงปิดสมัยประชุม เรากำลังพิจารณากฎหมายในวาระที่หนึ่งหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯลฯ


ในกรรมาธิการสามัญเช่นกรรมาธิการการเศรษฐกิจฯ ก็กำลังดำเนินการตรวจสอบนโยบายลำไยอบแห้ง ตรวจสอบการจำนำข้าว


ในกรรมาธิการรัฐวิสาหกิจก็ตรวจสอบการรถไฟ เพื่อให้มีความพร้อมในการทำโครงการรถไฟเส้นทางใหม่ ๆ เช่นจากสนามบินสุวรรณภูมิ


และอีกหลายกรรมาธิการต้องทำงานถึงแม้ว่าฝ่ายบริหารจะหมดวาระลงในไม่กี่เดือนข้างหน้า


เมื่อมีรัฐบาลใหม่เดือนมีนาคน จะต้องมีการแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินในรัฐสภา และสภาก็จะเปิดประชุมในเดือนมีนาคม เราก็จะได้เห็นการทำหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว.ในการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง


ถึงตอนนั้นเราก็จะประเมินผลงานของ ส.ว.หรือ ส.ส.ว่าทำงานคุ้มกับเงินเดือนหรือไม่ หลังจากที่ได้รับการขึ้นเงินเดือน