Skip to main content

เมื่อชาวนา " แปลงร่าง " เป็นพ่อค้าข้าว

คอลัมน์/ชุมชน

ชาวนาในแถบพิษณุโลกและพิจิตรมักบ่นให้ผู้เขียนฟังเสมอ ว่า "เราทำนาใช้หนี้หลายสิบปีไม่หลุดซักที "


สาเหตุสำคัญเพราะกระบวนการ " แปลงร่าง " จาก " ชาวนา " ผู้ปลูกข้าวไว้เพื่อกินเอง มาสู่ " ผู้ประกอบการนา " ี่ผลิตข้าวเพื่อขาย ไม่ผ่านการ " สะสมทุน " โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทุนเงินตรา จึงต้องกู้เงิน พร้อมพบเจอดอกเบี้ยที่แสนโหด และกลโกงสารพัดจากนายทุนเงินกู้


สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย คือชาวนาต้องขายข้าวให้ตลาด ซึ่งเขาไร้อำนาจต่อรองและยังถูกเอาเปรียบจากการโกงในรูปแบบต่าง ๆ ตลาดข้าวของประเทศเป็นตลาดข้าวที่มีโครงสร้างแนวดิ่งและกึ่งผูกขาด ผ่านผู้ส่งออก หยง ( ผู้ค้าส่งข้าวในประเทศไทย ) โรงสี / ท่าข้าว พ่อค้าคนกลาง ก่อนจะมาถึงชาวนา


ซึ่งแน่นอนว่า การผ่านขั้นตอนมากมายเช่นนี้ ย่อมหมายถึงการหักค่าใช้จ่ายทางการตลาด กำไร และผลักภาระด้านราคา ( กดราคา ) มาเป็นทอด ๆ จนถึงชาวนา ที่สำคัญโรงสีจำนวนมากก็ " โกง " ชาวบ้านด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา เช่น โกงวัดเกรดข้าวให้ต่ำกว่ามาตรฐาน โกงตาชั่ง โกงเรื่องการวัดความชื้น โครงสร้างตลาดแบบนี้จึง " เอื้ออำนวย " ให้เกิดการเอาเปรียบชาวนาอย่างยิ่ง ซึ่งถือเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เราจึงได้ยินคำพูดเสมอว่าชาวนาเป็น " เบี้ยล่าง " ( ของโครงสร้างตลาดนี้ )


ชาวนา ( หรือคำใหม่คือผู้ประกอบการนา ) จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่พิษณุโลกและพิจิตรพยายามหาทางเลือกอันจะเป็นทางรอด โดยการปลูกข้าวปลอด ( ภัย ) จากสารพิษ เหตุผลหนึ่งเพื่อพยายามลดต้นทุนการผลิตอันเกิดจากการใช้สารเคมี อย่างไรก็ดี ชาวนามักบ่นเสมอว่า " พวกเราอุตสาห์ทำข้าวปลอดสารฯ แต่ ( โคตร ) เจ็บใจเลย เวลาไปขายข้าวที่โรงสี กลับเอาไปเทกองรวมกับข้าวมีสารฯ แถมได้ราคาเท่ากันอีกด้วย "


เรื่องนี้แกนนำชาวบ้านบางคนที่มีลักษณะ " หัวใจ ใจสู้ " จึงพยายามดิ้นรนที่จะเพิ่มมูลค่าข้าวเปลือก โดยการแปรรูปขายเป็นข้าวสาร ซึ่งเป็น " ตลาดทางเลือก " อีกทางหนึ่ง วิธีการคือ …


แกนนำชาวบ้านคนหนึ่ง ( ที่พบโดยมากมักเป็นผู้ใหญ่บ้าน ) (1) จัดตั้งกลุ่มชาวบ้านประมาณ 25 คน และลงหุ้นจำนวนหนึ่ง ในรูปของวิสาหกิจชุมชน เพื่อไปกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธกส .) ผู้เขียนคิดสัดส่วนระหว่างเงินลงหุ้นของชาวบ้านกับเงินกู้ ธกส . แล้วอยู่ที่ 4 : 96 ซึ่งนับได้ว่าชาวบ้านพึ่งพาเงินทุนของ ธกส . สูงมาก


(2) เมื่อได้เงินกู้ ก็ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวบ้านในกลุ่ม ( หรือนอกกลุ่ม ) โดยให้ราคาที่ดีกว่าราคาข้าวเปลือกตามท้องตลาด จากนั้น (3) ก็นำข้าวเปลือกไปสีเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสารที่โรงสีเอกชนในหมู่บ้าน ซึ่งโดยปกติโรงสีเอกชนนี้จะสีข้าวให้ฟรี แต่จะเก็บรำกับปลายข้าวเอาไว้ (4) เมื่อได้ข้าวสารแล้วก็จะขายให้ ธกส . กว่าร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งหมด ที่เหลือขายให้พ่อค้าคนกลางและชาวบ้าน


ตลาดทางเลือกแบบนี้ดูแล้วก็ดี ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะทางหนึ่งก็ส่งเสริมให้ชาวนาผลิตข้าวปลอดสารฯ ลดต้นทุนและดีต่อสุขภาพ ทางหนึ่งก็ทำให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาดีกว่าขายในตลาดปกติ ส่วนแกนนำที่ทำวิสาหกิจชุมชนแบบนี้ก็ได้ค่าตอบแทน สมประโยชน์ทุกฝ่าย


ดังนั้น เมื่อมีต้นแบบที่ประสบความสำเร็จและให้ผลประโยชน์เยี่ยงนี้แล้ว แกนนำชาวบ้านหลายคนก็เริ่มจะทำตาม แต่ … จะมีใครการันตีหรือไม่ว่า


(1) ตลาดข้าวปลอดสารฯ แบบนี้จะได้ราคาดีตลอดไป เพราะถ้ามีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะกับธุรกิจเอกชน วิสาหกิจชุมชนย่อมสู้ได้ยาก มีตัวอย่างให้เห็นถมถืด เช่น ไวน์กระชายดำที่ได้รับ OTOP ตอนหลังก็ต้องเจ๊งเพราะสู้ไวน์ของธุรกิจเอกชนไม่ได้


(2) ไม่ได้การันตีว่าเงินกำไรจะตกอยู่กับชุมชนเพราะข้อเท็จจริงคือถูกบริหารจัดการโดยคนเพียง 1-2 คน ( แม้ว่าใช้ชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็ตาม ) ไม่มีระบบตรวจสอบ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเมื่อตัวธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่กลุ่มกับไม่ระดมทุนจากสมาชิกเพิ่มหรือเปิดรับสมาชิกเพิ่มเติม


(3) ขณะนี้มีผู้นำชุมชนจำนวนมากมีความเก่งในการใช้โวหารดึงงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น SML, ธกส . รวมทั้งงบฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค ( สกว . ภาค ) เพื่อมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และพัฒนาตัวเองเป็น " พ่อค้าคนกลางผู้ใจดี " ด้วยการไปดูงานโรงสีข้างเคียง , การลงทุนซื้อข้าวปลูกให้สมาชิกปลูกข้าวพันธุ์เดียวกัน เป็นต้น ซึ่งดูไม่แฟร์ ถ้าเทียบกับธุรกิจเอกชนที่เขาลงทุนด้วยเงินของตัวเองแล้วได้รับค่าตอบแทนจากเงินของตัวเอง แต่นี่ใช้เงินภาษีประชาชนลงทุนกว่า 96 % แต่กำไรกลับตกอยู่ที่คน ๆ เดียว หรือกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียว หรือไม่มีใครตรวจสอบได้ว่าตกอยู่กับใครบ้าง


หน่วยงานที่ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งต้องคิดและทำให้มากกว่านี้หลายเท่า การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนแบบนี้เหมือนการเอาเงินไปสร้างแกนนำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ให้เป็น " พ่อค้าคนกลางผู้ใจดี " แต่ไม่การันตีว่าในอนาคตจะแปลงร่างเป็นจระเข้มาเอาเปรียบชาวบ้านหรือไม่ เพราะโครงสร้างตลาดซึ่งไม่ต่างกับโครงสร้างตลาดข้าวทั่วไปที่เอื้อให้เกิดการเอาเปรียบ รวมทั้งการทำตลาดที่ไร้กระบวนการมีส่วนร่วมและพลังชาวบ้านแบบนี้ มันเอื้อให้แกนนำกลุ่มเกิดการแปลงร่างอย่างแน่นอน


ขณะเดียวกันสมาชิกกลุ่มได้เรียนรู้ว่า ถ้าปลูกข้าวปลอดสารฯ จะเริ่มมีตลาดรับซื้อที่ให้ราคาสูง เป็นการเรียนรู้ที่ใช้เงินและผลประโยชน์เป็นปฐม ไม่ใช้ปัญญาเป็นปฐม ที่สำคัญก็ยังเรียนรู้ที่จะพึ่งพาคนอื่นอยู่ดี


แล้วอุดมการณ์ " วิสาหกิจ ชุมชน " ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน จะไปรอดได้อย่างไร ก็คงเป็นได้แค่การสร้างพ่อค้าคนกลางสายเลือดใหม่เพิ่มขึ้นอีกคนในหมู่บ้าน … ก็เท่านั้น


...............


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ มี.ค. ๒๕๔๘