Skip to main content

ความรักและการเมือง

คอลัมน์/ชุมชน

แม้เลยเทศกาลแห่งความรักแบบสากลจะผ่านพ้นไปในเดือนกุมภาพันธ์ แต่คงไม่ถือว่าช้าเกินไปที่จะมาถกเรื่องแบบนี้หลังสงกรานต์แบบไทยๆ


เรื่องของความรักที่เป็นหัวเรื่องไม่ได้หมายความว่าบทความนี้จะหลุดกรอบของคอลัมน์นี้ หรือเป็นเรื่องหวานแหวว แต่กำลังจะบอกว่าทำไมจึงมีคำว่าการเมืองมาเกี่ยวข้อง และนิเทศศาสตร์มีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจได้มากขึ้น


เป็นที่รู้กันว่า เมื่อเร็วๆนี้และเรื่อยมาจนขณะนี้หญิงชายที่เป็นบุคคลรักเพศเดียวกันในสหรัฐฯได้มีความพยายามที่จะให้มีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างคนกลุ่มนี้และกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย และสุดท้ายก็มีการไม่ยอมรับการจดทะเบียนดังกล่าว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนตั้งถามว่าเกิดอะไรขึ้น


ก่อนอื่นต้องมามองดูว่าการจดทะเบียนสมรสนี้ เกี่ยวอย่างไรกับความสัมพันธ์สนิทแน่นที่มีความรักเป็นพื้นฐาน บุคคลรักเพศเดียวกันเหล่านี้อ้างว่าความรักของพวกเขาไม่ได้แตกต่างจากความรักของบุคคลรักต่างเพศแต่อย่างใด ในฐานะที่เป็นคนเหมือนกัน การจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเป็น "สิทธิ" ที่พึงได้รับในฐานะบุคคลคนหนึ่งหรือคู่หนึ่ง ส่วนอีกกลุ่มที่คัดค้านนั้นอ้างว่าการจดทะเบียนนั้นเป็นคนละเรื่องกัน และสงวนไว้เฉพาะคนที่เป็นรักต่างเพศเท่านั้นเนื่องจากคำว่า "แต่งงาน" ไม่สามารถใช้ได้กับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน


ในทางนิเทศศาสตร์นั้น มีสาขาย่อยที่เรียกว่า การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication) ศึกษาความสัมพันธ์ของมนุษย์ ทุกระดับจากครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน หรือคนแปลกหน้า ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเพศเดียวกันหรือต่างเพศเราไม่แบ่งแยก และพยายามเข้าใจกระบวนการที่มันเกิดขึ้น ดำเนินอยู่ แปรรูปหรือแม้แตกดับไปก็ตาม


พร้อมกันนี้นิเทศศาสตร์มองว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์ เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นได้และมีความหมายที่น่าสนใจ ทั้งยังไม่ได้มองเพียงแค่ความสัมพันธ์ในวันนี้ หากมองย้อนไปถึงว่าในอดีตมนุษย์มีความสัมพันธ์อย่างไร ความรักที่เรียกๆกันมีที่มาและความหมายในแต่ละยุคอย่างไร ประวัติศาสตร์ของความรักนั้นมีผลในการเข้าใจและวางกรอบแนวความคิดในเรื่องนี้อย่างไร
มีเว็บไซท์หนึ่งเป็นภาษาอังกฤษที่ให้ความรู้แบบย่อๆในเรื่องของคำว่าความรักในโลกตะวันตกได้ดี อ่านไม่ยากจนเกินไปนัก http://www.neo-tech.com/pleasures/history.html ซึ่งถ้าผู้อ่านจะไปอ่านเพิ่มเติมก็ไม่ถือว่าเป็นการที่หนักหนาอะไร อันนี้แล้วแต่จะชอบ เป็นเรื่องส่วนบุคคล


จากการศึกษาทั่วไปเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ ทำให้เชื่อกันว่านิยามและรูปแบบของความสัมพันธ์มนุษย์มีความต่างกันตามยุคสมัย รายละเอียดในแต่ละยุคเป็นอย่างไร บทความในเว็บที่อ้างข้างบนนั้นจะให้ความกระจ่างได้มาก ผู้เขียนขออนุญาตไม่นำมาขยาย ณ ที่นี้นั้นเพราะต้องการจะชี้ให้เห็นความไม่เข้าใจของคนในสังคมปัจจุบันที่มีต่อเรื่องนี้เท่านั้น


ฝ่ายที่ค้านหัวชนฝาไม่เห็นด้วยกับการที่ให้การยอมรับทางสังคมและกฎหมาย เป็นกลุ่มที่ต่อต้านกลุ่มรักเพศเดียวกันไม่ว่าจะในเรื่องอะไร(ขาประจำ) โดยอ้างว่าเป็นเรื่องขัดต่อความเชื่อทางศาสนาบ้าง ผิดขนบ ประเพณีบ้าง ในสมัยก่อนก็อ้างว่าเป็นความป่วยชนิดหนึ่งไปเลย แต่ก็ถูกล้มล้างไปเมื่อกว่าสามสิบปีก่อนว่าไม่ใช่แล้ว ไม่ได้ป่วย (ซึ่งเมืองไทยเพิ่งนำไปใช้อ้างอิงจุดนี้จริงๆไม่นานมานี้) ปัจจุบันเป็นเรื่องที่รู้กันว่ากลุ่มที่ต่อต้านรักเพศเดียวกันนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกเดียวกับที่เคร่งศาสนาและกลุ่มอนุรักษ์นิยมตกขอบหรือขวาจัด


ส่วนกลุ่มที่ยอมรับและสนับสนุนให้มีการยอมรับทางสังคมและกฎหมายของความสัมพันธ์ของกลุ่มรักเพศเดียวกันนี้ส่วนมากก็คือกลุ่มรักเพศเดียวกันเองและคนที่ไม่ใช่แต่เป็นกลุ่มเสรีนิยมที่เห็นว่ากลุ่มที่ต่างเหล่านี้มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายได้เหมือนกับคนที่รักต่างเพศ


ข้อถกเถียงที่ฝ่ายต่อต้านใช้หลักๆคือว่าคำว่า "แต่งงาน" ตามกฎหมายปัจจุบันและพจนานุกรมทั่วไปกำหนดว่าเป็นเรื่องของเพศหญิงและชายเท่านั้น ไม่ใช่ "ชายกับชาย"หรือ "หญิงกับหญิง" และศาลสูงในแต่ละรัฐก็เอาประเด็นนี้มาเป็นข้อยกเลิกกฎหมายย่อยอื่นๆ ในรัฐนั้นๆ ทำให้ต้องมีการทบทวนตีความต่อไปว่าจะเป็นการขัดกับสิทธิมนุษยชนพื้นฐานรึไม่ ซึ่งกลุ่มต่อต้านก็ตีปีกพึ่บๆ ดีใจกันไปแล้วกับชัยชนะขณะนี้


แต่กลุ่มที่สนับสนุนก็ยังไม่ลดละ ยังคงดำเนินการต่อไปเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง ให้"สิทธิ"ต่อคนรักเพศเดียวกันที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมในความสัมพันธ์ของพวกเขาดังกล่าว โดยมองประเด็นความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการแนวความคิดของความสัมพันธ์ของมนุษย์จากอดีตจนปัจจุบัน และในเรื่องนิยามของความสัมพันธ์ของกลุ่มที่รักเพศเดียวกันและกลุ่มที่รักต่างเพศ


ทั้งนี้ได้สรุปว่า คนที่คัดค้านความรักของบุคคลรักเพศเดียวกันนั้นมีความเข้าใจที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อตามกระแสหลัก และกระแสหลักนี้มีพื้นฐานทางศาสนา เมื่อมาใช้ในทางโลกย์และบุคคลชายขอบจึงเกิดปัญหาได้ อีกทั้งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เพราะเป็นการยอมรับอีกว่าในสังคมนี้มีคนกลุ่มหนึ่ง(รักต่างเพศ) มีสิทธิมากกว่ากลุ่มอื่นๆ(เช่น รักเพศเดียวกัน)และสามารถไม่ให้สิทธินั้นแก่คนต่างกลุ่มนี้


ผู้เขียนเชื่อว่ากรณีนี้คงต้องต่อสู้กันต่อไป หลายคนให้ข้อสังเกตว่าการที่ไม่ให้สิทธิในการแต่งงานแบบนี้มีนัยมาจากเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากจะมีกลุ่มนายทุนได้รับความเดือดร้อนจากการจ่ายสวัสดิการต่อคู่ชีวิตของลูกจ้างที่เป็นบุคคลรักเพศเดียวกัน เป็นเรื่องที่กลุ่มนายทุนนี้ยอมรับไม่ได้เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแบบมหาศาลเช่นนี้ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เสริมพลังของกลุ่มคัดค้านการแต่งงานของบุคคลรักเพศเดียวกัน


เมื่อมองประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง จะเห็นถึงการขยายขอบเขตไปถึงการที่มีกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆเข้ามาร่วมด้วย และแต่ละกลุ่มเองต่างก็มีจุดประสงค์ของตนเอง แต่ที่น่าเสียดายคือคนทั่วไปในกระแสหลักสังคมอเมริกันดูเหมือนขาดความพินิจและไม่เข้าใจในเรื่องของสังคมอย่างที่ควรเป็น อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของหน่วยอื่นๆในสังคมที่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างแท้จริง จึงกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มอื่นๆได้โดยไม่รู้ตัว


เรื่องของความรักตรงนี้จึงกลายเป็นเรื่องของการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้เลยทีเดียว


...............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๑๖ เม.ย. ๒๕๔๘