Skip to main content

หวนระลึกถึงวันวานและตุลาฯ อาถรรพณ์

คอลัมน์/ชุมชน

พฤษภาคมใกล้เข้ามาขณะปั่นต้นฉบับนี้ มีหลายเรื่องที่คิดถึง เรื่องแรกคือ " พฤษภาฯ ทมิฬ" ปี ๒๕๓๕ และอีกเรื่องคือการจัดประกวดนางงามจักรวาลในไทยในปีเดียวกันนั้น ซึ่งเวลาคาบเกี่ยวกันในปีนั้น รู้มาว่าปีนี้ก็จัดอีกที่เมืองไทย (ถือเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของสังคมไทยจากเรื่องหนัก ๆ ที่รัฐแก้ไม่ได้มาสู่ความบันเทิงอย่างตื้น ๆ)

เมื่อปี ๒๕๓๕ ผู้เขียนเพิ่งอายุ ๒๗ เล็กน้อย ยังคิดได้ไม่ลึก โง่หลายเรื่องกว่าตอนนี้ แต่ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ได้ร่วมในขบวนประท้วงครั้งนั้น และเกือบเอาชีวิตไม่รอด บังเอิญแม่ผู้เป็นคู่รักคู่อาฆาตได้โทรเข้ามือถือมาสั่งให้กลับบ้าน ไม่งั้นจะยึดทั้งรถทั้งมือถือ (ซึ่งตอนนั้นแพงกว่าตอนนี้แยะ)


ผู้เขียนพื้นเดิมเป็นคนดัดจริตและขี้เกียจเดิน อีกทั้งอากาศร้อนด้วย จึงขับรถเปิดแอร์ไปร่วมกับขบวนที่เขาเดินไปยังผ่านฟ้าฯ ตอนนั้นแปลกใจเหมือนกัน ขับรถร่วมขบวนได้ด้วย ไม่มีตำรวจห้าม


พอโดนแม่สั่ง ผู้เขียนจึงได้เลี้ยวรถออกจากสี่แยกคอกวัวได้ไม่กี่นาที ได้ยินเสียงปืนลั่นถึงแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า เพราะเหตุนี้ถึงรอดตายมาได้ แต่รู้ว่าเพื่อนรุ่นน้องธรรมศาสตร์คนหนึ่งที่เป็นแอ๊คติวิสต์ที่เจอกันในที่ชุมนุมก่อนหน้านี้หายไป ไม่ได้ข่าวจากวันนั้นจนวันนี้ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นสองเดือนกว่า ผู้เขียนได้เดินทางมาเรียนต่อที่สหรัฐฯ อีกที แต่ไม่เคยลืมภาพหลาย ๆ อย่างตรงนั้น


แล้วก็อดคิดไปถึงเหตุการณ์ยักษ์สองเหตุการณ์ ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๒๕๑๙ ไม่ได้ ผู้เขียนดีใจที่เกิดทันแม้จะเด็กก็ตาม และไม่จำเป็นต้องพึ่งตำราไทยให้เข้าใจเหตุการณ์นี้มากนัก เพราะเมื่อโตขึ้นก็ได้อ่านหลักฐานต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษ ที่คนไทยทั่วไปไม่ได้อ่าน


เมื่อปลายปี ๒๕๔๗ ก็มีข่าวว่ามีการชุมนุมของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่สนามหลวง กลุ่มนี้พยายามใช้กรอบของเวลาให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่อง " ตุลาฯอาถรรพณ์" เพื่อให้เกิดเป็นความหมายที่จะโน้มนำไปสู่ " กำหนดการทางการเมือง" ให้มีผลสูงขึ้น และอาจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ตนต้องการ อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่าสนใจ และมีหลายท่านได้กล่าวเรื่องการใช้กรอบของเวลานี้ไปบ้าง หากในบทความนี้ ผู้เขียนตั้งใจที่จะเสนอข้อสังเกตทางนิเทศศาสตร์เพื่อให้เกิดคำอธิบายการกระทำดังกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น


มุมมองหนึ่งทางนิเทศศาสตร์ที่เรียกว่า "narrative paradigm" บอกว่าการสื่อสารที่น่าเชื่อถือและสามารถโน้มน้าวใจคนได้นั้นจะต้องอยู่ในรูปของเรื่องเล่าหรือนิทาน โดยเรื่องเล่านั้นต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญสองประการ


๑. Coherence มีเนื้อหาที่ไม่ซับซ้อน มีที่มาที่ไป รายละเอียดของเนื้อหารายละเอียดต่าง ๆสามารถโยงได้ต่อเนื่อง ไม่สับสน หลุดออกจากกัน มีเอกภาพ


๒. Fidelity คือเป็นเรื่องคนรับสารมีพื้นมาบ้างแล้ว สามารถที่จะต่อความได้ เช่นเวลาจะ


กล่าวถึงเรื่องการเลือกตั้ง อาจโยงเนื้อหาไปถึงนิทานอีสปในเรื่องของกบเลือกนาย หรืออาจจะวิเคราะห์ได้ว่า ละครหลังข่าวของไทยหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จนั้นมักมาจากพล็อตคล้าย ๆ กัน หรือนิยายรักของไทยจะไม่ต่างจากเรื่องของซินเดอเรลล่ามากนัก ข้อความที่มี Fidelity จึงมีพลังมากขึ้นในการสะกดคนให้ติดตามหรือเชื่อถือ


เมื่อเป็นเช่นนี้ เราท่านก็อาจจะเริ่มเข้าใจว่าทำไมประวัติศาสตร์ของไทยที่เขียนกันอย่างเป็นทางการ จึงกระพร่องกระแพร่ง ขาดโน่นเกินนี่ ไม่ได้ให้ภาพครบถ้วน ก็อาจเป็นเพราะว่าคนที่เขียนมีเจตนาที่จะใส่หรือไม่ใส่อะไร เพราะการใส่เนื้อหานั้น ๆ จะทำให้คนเข้าใจเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ง่าย (หากจะกล่าวอะไรใหม่ ๆ ที่เกี่ยวโยง เพื่อประโยชน์อันใดก็แล้วแต่) ส่วนที่ตัดออกไปก็เพราะว่าอยากให้คนลืมและไม่ให้ต่อติด ดังนั้น จึงเป็นที่รู้กันว่า คนที่เขียนประวัติศาสตร์คือคนที่เป็นผู้ชนะหรือมีอำนาจนั่นเอง


นักวิชาการไทยหลายท่านเจ็บใจนักที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ในเดือนตุลาคม ปี ๒๕๑๖ และ ๒๕๑๙ ไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือเรียนอย่างถูกต้องและละเอียดพอ ต่างกับในสหรัฐอเมริกาที่เหตุการณ์เพิร์ล ฮาเบอร์ หรือ ๙/๑๑ ของฝรั่งที่เขียนกันสนั่นหวั่นไหว ไม่ว่าใครในอเมริกาก็มิลืมเลือน


ส่วนของไทยนั้น เหตุการณ์เดือนตุลากลายเป็นแค่ตำนานหยิมหยอย ไม่ใช่เรื่องที่พึงจดจำ วีรชนไทยร่วมสมัยที่ดับดิ้นไปตรงนั้นไม่มีใครรู้และอยากจดจำ ต่างกับเรื่องวีรบุรุษ วีรสตรีโบราณก่อนหน้าที่ย้อนยุคไปไกลแต่เน้นความรักชาติแบบผู้มีอำนาจต้องการ เราสอนกันจนปรุ เรื่องหลักฐานก็หาไม่ได้ชัดเจนนัก แต่เพราะมีการตอกย้ำมาก เลยเป็นเรื่องจริงแบบไม่ต้องพิสูจน์ไปแล้ว


หากเหตุการณ์เดือนตุลายังเป็นปริศนาภาพลวง ทั้งที่ยังไม่ครบ ๕๐ ปีเลยด้วยซ้ำ พยานบุคคลและผู้เกี่ยวข้องจริง ๆ ก็ยังมีชีวิตหลายคน แต่ไม่มีการบอกกล่าวอย่างเปิดเผยจริงจัง คนไทยทุกวันนี้ที่อายุต่ำกว่า ๓๕ ปีจึงไม่รู้จัก จึงไม่เข้าใจว่าทำไมตุลาจึงอาถรรพณ์


ตอนผู้เขียนอายุ ๙ ขวบได้พบเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ได้เห็นเฮลิคอปเตอร์บินผ่านบ้านผู้เขียนที่เฉลิมกรุง ส่วน ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ได้รู้เห็นการกล่าวหากันและการฆ่านิสิตนักศึกษา ประชาชนที่ร่วมเหตุการณ์ และที่เหลือต้องหนีเข้าป่า ผลที่ตามมาคือตอนผู้เขียนเข้าเรียนธรรมศาสตร์ช่วงปี ๒๕๒๕ พบรุ่นพี่หลายคนที่เคยหนีเข้าป่าได้กลับออกมาและเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์ และที่เจ็บปวดที่สุดคือพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ ที่ผู้เขียนเกือบตายไปกับวีรชนท่านอื่น ๆ ด้วย ทุกวันนี้ประชาธิปไตยโดนขยี้ไม่เหลือซาก โดยกระแสทุนนิยม อำนาจนิยม ที่แปรรูปออกไป ทำให้รู้สึกเสียดายและเสียใจเป็นที่สุด


ตุลาไม่อาถรรพณ์เหมือนอย่างที่หลายคนคิด ไม่ใช่เพราะอะไร แต่เป็นเพราะเรื่องราวขาดการสืบทอด เกิดการขาดตอน ทุกอย่างไม่มีร่องรอยเก่า ตัวอย่างเช่นธรรมศาสตร์ก็ไม่เหมือนเดิม ลานโพธิ์ไม่มีการพูดสด ไม่มีการประท้วงขึ้นค่ารถเมล์แบบแต่ก่อน คนที่เรียกว่าวีรชนแต่ไม่ได้ตายช่วงนั้นก็เปลี่ยนไป หลายคนก็กลายเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้


การมองย้อนอดีตแล้วมามองปัจจุบัน ทำให้เราได้สติและเข้าใจในความเป็นไปของโลกเพียงแต่นึกอยู่ในใจว่าสักวันหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปจะเท่าทันเกมการเมือง และไม่ตกเป็นเหยื่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงจะมาถึง แต่เมื่อไรคงไม่มีใครรู้


...............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๒๘ เม.ย. ๒๕๔๘