Skip to main content

น้ำมันแพง แล้งเหลือหลาย ทำอย่างไรดี

คอลัมน์/ชุมชน

ช่วงนี้หลายอย่างอยู่ในภาวะร้อนแรง ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ที่ร้อน ชนิดที่เรียกได้ว่า " ตับแตก" จิตใจของคนโดยทั่วไปในภาวะน้ำมันแพง ร้อนอกร้อนใจเหลือแสน โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป ที่ปัจจุบันเริ่มจะหาเช้ากินไม่ค่อยจะถึงค่ำสักเท่าไหร่ เพราะข้าวของต่าง ๆ แพงเหลือเกิน แค่มีกินตลอดวันก็ลำบากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างที่คน " มีอันจะกิน" ในสังคมใฝ่ฝันถึง


รับรู้สถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างนี้แล้ว ก็ให้ครุ่นคิดว่า นับจากนี้ไป เราจะอยู่กันยากขึ้น ทรัพยากรก็น้อยลง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องแย่งชิงกันมากขึ้น หรือจะเข้าสู่ยุคเสื่อมสลายของโลก ที่เขาว่ากันจริง ๆ เสียแล้ว


แต่ไม่ว่าจะเข้าสู่ยุคไหน เราก็คงต้องใช้ชีวิตอยู่ตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ต่อไป


ภาวะเช่นนี้ ทางออกที่ดีที่สุด " ปราชญ์ชาวบ้าน" ( ผู้ที่เจอภาวะวิกฤติแล้วหาทางออกได้) ทางด้านการเกษตร หลายสำนักพูดตรงกัน คือ การหันกลับมาพึ่งตนเอง ลดค่าใช้จ่าย ดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ออมดิน ออมน้ำ ออมต้นไม้


เพียงการปลูกผัก เพื่อลดการซื้ออาหารที่กินในแต่ละวัน ครอบครัวขนาดกลาง อยู่บ้านนอกก็ประหยัดเงินไปได้อย่างน้อยวันละประมาณ 100 บาท ถ้าคิดเป็นเดือนก็ปาเข้าไปเดือนละ 3,000 บาทเข้าไปแล้ว แถมการปลูกผักกินเองยังได้กินผักปลอดสารพิษ ไม่ต้องเสียค่าหมอค่ายาอีก อันนี้คิดเป็นเงินคงไม่ได้ เพราะมันคือ " การรักษาชีวิต"


อะไรที่รู้ว่ามันฟุ่มเฟือย ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ก็ตัด ๆ ไปบ้าง หลายคนเกิดคำถาม แล้วจะรู้ได้ไงว่า " ฟุ่มเฟือย" ? การจดทุกอย่างเมื่อจ่ายออกไป และเมื่อรับเข้ามา มีการสรุปยอดในแต่ละเดือน แต่ละปี เป็นตัวบอกอย่างหนึ่ง ที่หลายครอบครัวตาสว่างมาแล้ว และก็หาทางออกได้


พ่อเลี่ยม บุตรจันทา แห่งบ้านนาอีสาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เล่าให้ฟังว่า เมื่อทำบัญชีรับจ่าย ก็ได้รู้ว่า ที่จ่ายไปปีละหลายหมื่น คือ ค่าเหล้า เล่นหวย แล้วก็รถพุ่มพวงที่เข้ามาขายกับข้าวในหมู่บ้าน จึงชักชวนแม่บ้านมาสร้างอาหารในครอบครัวด้วยการปลูกผัก เลี้ยงปลา ไว้กิน แล้วตัวพ่อเลี่ยมก็ให้สัญญากับแม่บ้านว่าถ้าทำ จะเลิกเล่นหวยและกินเหล้า หลังจากนั้นครอบครัวบุตรจันทาก็ดีขึ้น หนี้สินลดลง แถมชักชวนให้คนในหมู่บ้านมาทำอยู่ทำกินมากขึ้น


นอกจากการทำอยู่ทำกินแล้ว การวางแผนสำหรับอนาคตเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเกษตรกรที่ (เข้าใจกันว่า) ไม่มีบำนาญ และต้องแก่เฒ่าลง แต่เกษตรกรก็สามารถมีบำนาญได้ ถ้ารู้จักวางแผน! ไม้ยืนต้น เป็นบำนาญสำหรับเกษตรกรทางหนึ่งที่น่าสนใจและมีคุณค่าอย่างยิ่ง


พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ให้ข้อมูลว่า การปลูกไม้ยางนา 1 ต้น ใช้เวลา 1 นาที ยางนา 20 ปีขึ้นไป สามารถผลิตน้ำมันยางที่ทดแทนดีเซลได้ 1 ต้น ต่อ 1 ลิตร ต่อ 1 วัน


ลองคิดดูว่า ถ้าเราปลูกยางสัก 1,000 ต้น อีก 20 ปี จะเกิดอะไรขึ้นกับเรา?


ไม่เฉพาะแค่ยางนา ประดู่ ตะเคียนทอง สัก ไม้ไผ่ ฉำฉา ตะโกก้านเหลือง และอีกมากมาย ล้วนมีมูลค่ามากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป และไม่มีวันที่ราคาจะตกลง ของมีน้อย ความต้องการสูง ราคาก็จะแพงเป็นธรรมดาของการซื้อขาย ตอนนี้ลูกของเราอายุ 5 ปี ปลูกต้นไม้ไว้ให้เขา 1,000 ต้น พอเขาอายุ 15 ปี ต้นไม้นั้นก็ทยอยส่งเขาเรียน พอเขาคิดจะสร้างบ้าน ก็ไม่ต้องเก็บเงินสร้างมากมาย เพราะไม้ที่มีอยู่ก็เพียงพอ พอเขาแก่ตัวทำอะไรไม่ไหว ไม้นั้นก็ตัดขายเลี้ยงชีวิต


มีเรื่องเล่าของชายชราคนหนึ่งว่า " มีชายคนหนึ่งกินเหล้าเมายาเป็นที่รู้กันในหมู่บ้าน ลุงคนนี้แกคิดอุตริปลูกไผ่ในที่นาทั้งหมด ชาวบ้านหลายคนก็หาว่าแกบ้า เวลาผ่านไป แกก็หากินไปวัน ๆ มีเงินก็กินเหล้า ครั้งเมื่อไผ่โตขึ้น ลุงคนนี้ก็แก่ลงทำอะไรไม่ค่อยไหว แกมีไม้ไผ่เล็ก ๆ ไว้ 1 อัน พอใครมาซื้อ (คนซื้อต้องตัดไม้ไผ่เอง) แกจะคอยใช้ไม้ไผ่เล็ก ๆ นี้วัด แล้วก็คิดราคา ป่าไผ่ของลุง ไม่ได้มีเฉพาะป่าไผ่เท่านั้น ลูกยางที่ปลิวจากที่อื่นมา เมื่อเจอป่าไผ่ มันก็ร่วงลง แล้วก็โตขึ้นเรื่อย ๆ ครั้งแกตายลง ก็ยังมีเงินเหลือให้เมียได้ใช้สองหมื่นบาท แถมลูกของแกมารับช่วงที่ดินนั้นต่อ ก็ได้ขายต้นยางนากินต่อมา "


อย่างนี้เขาเรียกว่า บำนาญชีวิตหรือเปล่านะ ?



ชีวิตที่ดำเนินไปมีขึ้นและมีลงเป็นธรรมชาติของทุกชีวิต ไม่มีชีวิตใดที่ขึ้นตลอด หรือตกต่ำตลอด การวางแผนสำหรับอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นรากฐานไม่ให้ชีวิตขึ้นหรือลงเร็วเกินไป


เกษตรกรเป็นอาชีพที่ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ บางทีการคิดเฉพาะหน้าบนฐานการพึ่งตนเอง และการวางแผนระยะยาว ด้วยการออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ ณ วันนี้ อาจเป็นทางออกสำหรับชีวิตที่น่าอิจฉาสำหรับอนาคตก็ได้ ใครจะรู้ ไม่ยากเกินไปที่เกษตรกรจะลองคิดและทำได้ เพียงการลงมือทำ เพราะ ต้นไม้โตเร็วคือไม้ที่ปลูกเร็ว ต้นไม้โตช้าคือไม้ที่ปลูกช้า ต้นไม้ไม่โตคือต้นไม้ที่ไม่ได้ปลูก (นิยามประเภทของต้นไม้ของพ่อคำเดื่อง ภาษี)


บางทีเกษตรกรอาจพบสวรรค์ โดยไม่ต้องรอภายหลังความตายก็ได้


...........


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ มี.ค. ๒๕๔๘