Skip to main content

ข่าวไฮโซ เรื่องของผู้ที่ไม่ไฮโซมักอยากรู้

คอลัมน์/ชุมชน

ปลายปี ๒๕๔๗ มีข่าวไฮโซเกี่ยวกับสตรีผู้ร่ำรวยกับอาจารย์หนุ่มผู้เคยทำรายการวิเคราะห์ข่าวทางทีวี ได้แยกทางกันเดินหลังจากที่แต่งงานกันมากว่า ๖ ปี ตอนแต่งงานก็เป็นข่าวอึกทึก พอเลิกกันก็อึกทึกอีก


เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีข่าว ดร.หนุ่มรุ่นกลางเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีหรือบางทีเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี กับสาวไฮโซรุ่นกลางทายาทตระกูลดังทางการธนาคารและการเงิน ได้แยกทางกัน คู่นี้ก็ตกเป็นข่าวกันมาตลอดจากก่อนแต่งจนหลังแต่ง แล้วมาจนแยกทางกัน


ในใจผู้เขียนก็นึกสงสารบรรดาไฮโซเหล่านี้ ที่เรื่องส่วนตัวกลายเป็นเรื่องสาธารณะ แต่ก็ถามตนเองว่าไฮโซเองส่วนหนึ่งเองก็คงอยากเป็นข่าวเช่นกัน คนที่ไม่ไฮโซมักสงสัยเสมอว่าคนที่โดนเรียกว่าไฮโซมีชีวิตอย่างไร


คำว่าไฮโซไซตี้มาจากคำภาษาอังกฤษ High society แปลเป็นไทยว่าสังคมชั้นสูง ที่มีความหมายต่อว่าคนที่อยู่ในสังคมนี้จะมีฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ และพื้นฐานการศึกษาสูงกว่าคนทั่วไปอื่น ๆ ในสังคม ในเมืองไทยเองเรียกทับศัพท์กันว่า " ไฮโซ" หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ มักชอบลงเรื่องราวและภาพของคนเหล่านี้ เพราะขายได้ (แต่หาไม่ได้ที่ " ประชาไท" แห่งนี้)


ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการจะอธิบายให้เห็นถึง ลักษณะของข่าวไฮโซและผลกระทบของข่าวดังกล่าวในสังคม ตามกรอบกว้าง ๆ ทางนิเทศศาสตร


ประเด็นแรกคือ ทำไมเรื่องของคนกลุ่มนี้จึงเป็นข่าวและขายได้ ( News worthiness )


ชาวไฮโซทั่วไปจะมีพื้นฐานที่ได้เปรียบกว่าคนอื่น ๆ ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของโอกาสในสังคม คนหลายคนที่ไม่มีโอกาสจึงอยากสร้างโอกาสแบบที่คนกลุ่มนี้มี จึงพยายามเลียนแบบวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ เพื่อว่าวันหนึ่งจะหลุดเข้าไปพัวพันกับคนที่เรียกว่าไฮโซกลุ่มนี้ และจะได้เป็นหนึ่งในกลุ่มบ้าง จากนั้นโอกาสอื่น ๆ ก็จะตามเข้ามา


ที่น่าพิสมัยมากกว่านี้ก็คือ ชีวิตของคนกลุ่มนี้ ไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไปนัก เพราะมักเชื่อกันว่ามีความสะดวกสบายมากกว่า มีหลายคนใช้คำว่าชีวิตแบบเทพนิยายหรือเหมือนฝัน ใช้ของแพง ๆ ใช้เวลาไปกับงานสังคมหรูหรา มากกว่าเป็น " แจ๋ว" ที่บ้าน อีกทั้งถ้าอยู่บ้านก็มี " นางแจ๋วกับนายสน" คอยรองมือรองเท้า ปรนนิบัติ หลายครั้งจึงเรียกว่า " เท้าไม่ติดดิน" คนที่เท้าติดดินหลายคนจึงอยากหลุดมาลอยเหนือดินบ้าง


เมื่อเป็นเช่นนี้ ในสังคมทุนนิยมสุดโต่ง ทั้งอำนาจนิยมตามมา ไฉนเลยผู้คนจึงไม่อยากสร้างฝันบ้าง อีกทั้งการตอกย้ำความสะดวกสบายเชิงวัตถุนี้ ยิ่งทำให้คนที่ต้องสร้างตัวสร้างตนด้วยสองขาสองแขนตนเอง ยิ่งต้องทำงานมากขึ้นเพื่อไต่อันดับในสังคม เพราะมีฝันแบบที่คนที่มักใหญ่ใฝ่สูงมักโดนเสี้ยมสอนสอนกันมา เรียกกันว่า " ฝันให้ไกล ไปให้ถึง" หรือ " ทำอย่างไร ให้ไปถึงดวงดาว" ซึ่งหลายคนบังเอิญสะดุ้งตื่นก่อนฝันเสร็จ หรือหลายคนตะกายดาวไม่ได้เพราะหมดแรง แต่ไปเกาะฝุ่นดาวหางแทน จึงไม่ได้เป็นไฮโซกับเขาในที่สุด


การที่ตอกย้ำว่าชีวิต (เริ่ด) แบบนี้ การกินอยู่ (หรู) แบบนี้คือสิ่งพึงปรารถนา คือต้นแบบที่ควรเอาเยี่ยงอย่าง ทำให้ใครต่อใครก็อยากรู้ว่า เค้าทำกันอย่างไร จะได้ทำบ้าง หารู้ไม่ว่า ตนกำลังโดนล้างสมองให้มองชีวิตไม่เกินไปกว่าคำว่าความสำเร็จแบบสำเร็จรูปของสังคมไฮโซกลุ่มนั้น และไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า ความสำเร็จทำไมต้องให้คนอื่นตัดสิน หรือให้ค่านิยมคนที่เรียกว่าไฮโซกลุ่มนี้ตัดสิน


ประเด็นที่สอง ทำไมไม่ค่อยเห็นการขยับตัวของนักหนังสือพิมพ์ หรือชาววารสารศาสตร์ ชาวนิเทศศาสตร์ มากนัก


คำตอบก็คือชาววิชาชีพ วิชาการเหล่านี้หลายคน ก็ยังติดในวาทกรรมทุนนิยมในสาขาวิชาเอง ท่านผู้อ่านลองหันไปมองที่แผงหนังสือเมืองไทยหรือจากเมืองไทย จะเห็น หนังสือเหล่านี้ สิ่งพิมพ์เหล่านี้ หรือรายการวิทยุ โทรทัศน์จาก/ที่เมืองไทยก็ตอบสนองค่านิยม คตินิยมที่มาจากรากฐานทุนนิยมสุดโต่ง และอำนาจนิยมสุดโต่งทั้งสิ้น


หากมองให้ดีก็ต้องบอกว่า หลายคนต้องทำเพื่อการอยู่รอดในสังคม แต่หลายคนอ้างมากไปบ่อยไป จนเหมือนกับเป็นข้อแก้ตัวมากกว่าความจำเป็นแท้จริง ดังนั้นแล้วนิตยสารหลายเล่มที่ขนาดหนาเท่าตึก ที่หนักมากทุบหัวคนสลบ หรือที่ใช้แทนหมอนหนุนหัวได้ จึงขายดีดังแจกฟรี แถมมีคนอ่านมากมายเขียนไปสรรเสริญ ทั้งเก็บหนังสือเหล่านี้ดุจทองหรือสมบัติล้ำค่า


หลายคนได้ดิบดีเพราะการตอบสนองคุณค่าทางสังคมที่หยิบยื่นให้โดยกลุ่มคนที่เรียกว่า " ไฮโซ" นี้ ตนเองหรือหนังสือตนเองจึงได้เป็นที่ฮิตติดปากและขายดี จากที่เป็นชายหนุ่มหาเช้ากินค่ำ เขียนบทความไปเรื่อย ๆ หรือหญิงสาวธรรมดาที่เขียนเรื่องสั้น เขียนนิยายไปวัน ๆ ก็อาจกลายเป็นบรรณาธิการหรือนักเขียนคอลัมน์หรือนิยายที่โด่งดัง หรือแม้กระทั่งกลายเป็นคนมีอภิสิทธิ์อื่น ๆ ในสังคม เพราะได้ช่วยจรรโลงค่านิยมของชนชั้น " ไฮโซ" เหล่านี้ ส่วนคนอ่านก็โดนมอมเมาไป


ประเด็นที่สาม จะมีทางแก้หรือไม่


ตอบได้ว่ามี แต่ยาก เหมือนปัญหาไก่เกิดก่อนไข่ หรือ ไข่เกิดก่อนไก่ ตราบใดที่คนอ่านไม่มีวิจารณญาณ และคนทำหนังสือ หรือสื่อต่าง ๆ ยังไม่ก้าวออกนอกกรอบ ก็คงทำไม่ได้ ส่วนการออกนอกกรอบก็เป็นเรื่องเสี่ยงตายในโลกปัจจุบัน นายทุนเท่านั้นที่มีทรัพยากร มีทุนดำเนินการ คนที่เป็นนายทุนแม้จะเรียนนิเทศฯ หรือวารสารฯ มาก็หมดอุดมการณ์ไปแล้ว เพราะทุกอย่างอยู่ที่ผลประโยชน์ และเหตุผลของการอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่อุดมการณ์หรือจริยบรรณ


ดังนั้น เรื่องของ " ไฮโซ" ก็จะกลายเป็นสิ่งอมตะ หรือ " อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล" อยู่คู่โลกการสื่อสารมวลชนแบบนี้ตลอดไป เช่นเดียวกับเรื่องแต่งนวนิยาย หรือบทความที่ออกมาขายดีในตลาดเกือบทั้งร้อยก็จะตอบสนองความต้องการทุนนิยมสุดโต่งไปเรื่อย ๆ (แม้ว่าจะบอกว่างานดังกล่าวต้องการสวนกระแสก็ตาม)


ทุกวันนี้ เวลาเพื่อนคนไทยถามผู้เขียนว่าจะโชว์อะไรในความเป็นไทย ผู้เขียนบอกว่า " วัตถุนิยมและทุนนิยมสุดโต่ง แบบไทยเวอร์ชั่น" เพื่อนคนไทยมักจะงอนไปเลย ส่วนฝรั่งที่บังเอิญได้ยินอาจหัวเราะด้วยความสะใจหรืออาจสมเพช ด้วยตลกเสียดสีดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้ายต่อสื่อมวลชนไทยหรือสังคมไทยโดยรวม เพราะแม้สังคมไทยจะคลั่งไปตามทุนนิยมสุดโต่งแบบฝรั่งอเมริกันบ้างก็ตาม ต้นตำหรับความสุดโต่งยังมีอยู่และก้าวไปไกลกว่ามาก มิเช่นนั้นแมกกาซีนไฮโซของฝรั่งคงไม่มี สังคม " ไฮโซ" ของฝรั่งก็คงไม่มี


และที่จริงแล้ว " ไฮโซไทย" ยังห่างไกลกับไฮโซจริง ๆ ของฝรั่งอีกหลายขุมนัก ไม่เชื่อลองถามใครที่เป็น " ไฮโซไทย" ดูก็แล้วกัน


อย่างน้อยคำว่า " บาท" กับ " ดอลลาร์" ความหมายก็แตกต่างอย่างเห็นกันชัด ๆ อยู่แล้ว


...............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๑๗ พ.ค. ๒๕๔๘