Skip to main content

โครงสร้าง "เศรษฐกิจชุมชน" ที่(แทบ)ไม่เหลืออยู่?

คอลัมน์/ชุมชน

นักวิชาการและนักพัฒนาเศรษฐกิจหมู่บ้านชนบทในสายวัฒนธรรมชุมชนต่างก็มองว่า เศรษฐกิจหมู่บ้านของเรายังไม่ถูก " ดูดกลืน" เข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว เพราะในหมู่บ้านยังมีโครงสร้างที่เรียกว่า " เศรษฐกิจชุมชน" อยู่ เศรษฐกิจหมู่บ้านจึงมี 2 ระบบ คือโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยม(หรือเศรษฐกิจการตลาด) และโครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนซึ่งซ้อนอยู่


โดยแนวคิดทฤษฎี โครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนจะทำให้หมู่บ้านเป็น " สาธารณรัฐ" โดยตัวของมันเอง นั่นคือจัดการกับตัวเองและพึ่งพาตัวเองได้บนฐานทางวัฒนธรรมและขนบแห่งการแบ่งปันและช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยสมัครใจของชาวบ้าน โดยไม่ต้องง้อรัฐหรือทุนจากที่ไหน ถ้าจะต้องปฏิสัมพันธ์ก็ปฏิสัมพันธ์อย่างเท่าเทียม เพื่อหนุนเสริมและเติมเต็มส่วนที่หมู่บ้านขาด


ด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงดูจะเหมือนไม่ยากที่เราในฐานะนักวิชาการและนักพัฒนาจะไปเสริมโครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน เพราะชุมชนมี " โครงสร้างแห่งการพึ่งตัวเอง" อยู่แล้ว


แต่ก็น่าสงสัยเหมือนกันว่า แล้วทำไมกับ " ไอ้แค่" เรื่องจัดการกับกองทุนชุมชนหรือกลุ่มธุรกิจชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารข้าว ร้านค้าชุมชน ธุรกิจชุมชน และกองทุนอื่นๆ จึงได้ล้มเหลวนัก


กองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท เมื่อลงมาถึงชาวบ้านก็อยู่ได้ไม่ถึงเดือน แล้วหมุนออกไปอย่างน้อย 4 แหล่งใหญ่คือ (1) ร้านเคมีภัณฑ์การเกษตร (2) ท่าข้าว/โรงสี (3) ใช้หนี้พ่อค้า/นายทุนหรือใช้หนี้กองทุนอื่นๆ (4) ร้านค้าในตัวเมืองเช่น ร้าน VCD ร้านโทรศัพท์มือถือ ร้านมอเตอร์ไซด์ ฯลฯ


ทำไมจึงเป็นเช่นนี้... ผู้เขียนจะขอเล่าเรื่องป้าฝนกับลุงโก๋(นามสมมติ) สองสามีภรรยา ผู้ซึ่งกู้เงินกองทุนหมู่บ้านมาลงทุนปลูกถั่วในหน้าแล้ง มาลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง จนหมด เมื่อขายถั่วไปแล้วหักกลบลบหนี้เหลือ 600 บาท ใช้เวลาในการผลิตถั่ว 3 เดือน เฉลี่ยได้ผลตอบแทนเดือนละ 200 บาท ทำการผลิตกัน 2 คนผัว-เมีย เฉลี่ยได้เดือนละ 100 บาท คิดเป็นวัน ได้ผลตอบแทนวันละ 3.33 บาท งานนี้คนที่ได้ประโยชน์คือพ่อค้าร้านเคมีภัณฑ์การเกษตร และพ่อค้าคนกลางในตลาดซื้อขายถั่ว


เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของหมู่บ้านไม่ว่าเขาจะปลูกข้าว ถั่ว ข้าวโพด และพืชเศรษฐกิจอะไรก็ตาม ก็ยังเป็นโครงสร้างของเศรษฐกิจการตลาด ที่ยังต้องพึ่งพิงทั้ง (1) ปัจจัยการผลิตจากภายนอก(เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา ฯลฯ) และ (2) ตลาดภายนอกและตลาดส่งออก ซึ่งมีความผันผวนไม่แน่นอน ปีใดราคาต่ำก็จะมีการกดราคามาเป็นทอดๆ จนถึงชาวนาชาวไร่ซึ่งอยู่เป็น " เบี้ยล่าง" ของตลาด คนเมืองอาจจะคิดว่าปรากฏการณ์ของป้าฝนกับลุงโก๋นี่เป็นเหตุการณ์ผิดปกติชนิดที่นานๆเกิดทีรึเปล่า ก็ขอบอกว่าไม่ใช่ เพราะชาวนาลงทุนทำนา ปลูกพริก เลี้ยงหมู ฯลฯ แล้วขาดทุนก็มีให้เห็นถมถืด จนหมู่บ้านบางแห่งหนุ่มสาวหายไปเป็นแรงงานกรรมกรในกรุงเทพฯเกือบครึ่งหมู่บ้านเพราะถูก " หมูเตะไป"


ดังนั้นจึง เป็นไปไม่ได้ที่เงินกองทุนหมู่บ้านที่ถูกใส่เข้ามาภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงเช่นนี้จะ " กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า" ได้เลย แต่ถ้า " กระตุ้นการบริโภครากหญ้า" นี่สิ...แน่นอนกว่า! เราจึงเห็นชาวบ้านจำนวนไม่น้อยนำเงินกู้ที่ได้มานี้เอาไปซื้อโทรศัพท์มือถือ หรือ VCD เพราะไหนๆเงินที่เสียไปก็ยังได้ " ทรัพย์สิน" มา ดีกว่าลงทุนเหนื่อยแทบตายแล้วยังได้ผลตอบแทนแค่วันละ 3.33 บาท หรือเผลอๆ โดนหมูเตะไปกรุงเทพฯอีก เรื่องนี้จึงซับซ้อนกว่าที่คนเมืองอย่างเราจะไปตราหน้าว่า " ชาวบ้านก็ดีแต่ฟุ่มเฟือย"


นอกจากนี้ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเอากองทุนเงินล้านไปทำอะไร เพราะต้องไปใช้หนี้สินที่มันอีรุงตุงนังไปหมด


ส่วนกลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้าน กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน และกลุ่มอื่นๆ เกือบทั้งหมดต่างก็ถูกตั้งขึ้นเพื่อการ " กู้ทรัพย์" มากกว่า " ออมทรัพย์" เพราะต้องเอามาบรรเทาปัญหาดอกเบี้ยเงินกู้พ่อค้า/นายทุนนอกระบบที่แสนแพง ปรากฎการณ์ของกองทุนชุมชนในเวลานี้จึงเป็นเรื่องของการยืมกองทุนนั้นมาใช้หนี้กองทุนนี้ แล้วก็ยืมกองทุนนี้มาใช้หนี้กองทุนนั้น หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า " หมุนหนี้" ดังคำกลอนที่พี่ยับ วุ่นโต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาเปอะ อำเภอชาติตระการ พิษณุโลก แต่งฝากมาให้ผู้เขียน ดังนี้



นอนเสียเถิดลูกนอน พ่อจะกู้สหกรณ์ไปส่งออมทรัพย์


ลูกจงนอนเสียให้หลับ พ่อจะกู้ออมทรัพย์ไปส่ง กข.คจ.


ลูกจงนอนเสียให้พอ พ่อจะกู้ กข.คจ.ไปส่งเงินล้าน


ลูกจงอย่างเกียจค้าน จงรักษากองทุนเงินล้านไว้ให้ ธกส.



ส่วนธุรกิจชุมชนที่ผู้เขียนพบ กว่าร้อยละ 95 ที่ได้รับทุนหมุนเวียนหรือทุนฝึกอบรมจากทางราชการ หรือ อบต. หรือ NGOs ก็เป็นธุรกิจที่มีชื่อกลุ่มและชื่อสมาชิกบังหน้า ความจริงคือนำเงินนั้นมาให้สมาชิกกู้ เช่นกลุ่มทำอิฐของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง รวมกลุ่มกู้เงินมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธกส.) มาทำธุรกิจเป็นเงิน 250,000 บาท แต่เอามาทำธุรกิจจริง 50,000 บาท ที่เหลือก็ไปปล่อยกู้ตกดอกให้สมาชิก พอมีคนมาดูงานก็จะ " จัดฉาก" แสดงการทำอิฐให้ดู เมื่อคนดูงานกลับไปชาวบ้านต่างคนก็ต่างแยกย้ายกลับบ้านของตัวเอง


มีเรื่องการเอาเงินกลุ่มไปตกดอกเป็นหลักและจัดฉากให้แก่เจ้าของทุนที่มาดูงานแบบนี้เกิดขึ้นมากมายกับกลุ่มทอผ้า ทอเสื่อ กลุ่มทำไวน์ กลุ่มทำแชมพู กลุ่มจักสาน ฯลฯ ของหมู่บ้านอื่นๆโดยทั่วไป เงินกองทุนพวกเขาก็โตขึ้นเรื่อยๆ แต่โตเพราะเอามาปล่อยกู้ " ตกดอก" ไม่ได้โตเพราะธุรกิจเติบโต


จริงอยู่...มันช่วยบรรเทาปัญหาดอกเบี้ยแสนแพงจากพ่อค้าหน้าเลือดได้ แต่ไม่ได้บรรเทาปัญหาหนี้สินของชาวบ้านได้เลย เพราะไม่ได้ทำให้ความสามารถในการใช้หนี้ลดลงแต่อย่างใด ตรงข้ามกลับมีหนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญคือยังคง " ทำนาสี่สิบปีใช้หนี้ไม่หลุดซักที"


คณะกรรมการกลุ่มต่างๆก็ไม่ได้สนใจว่า กองทุนดังกล่าวนี้จะถูกบริหารจัดการเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างไร เพราะไม่เคยตั้งคำถามแบบนี้ (แค่บริหารไม่ให้กองทุนเป็น NPL ก็แย่แล้วนะนาย) มิหนำซ้ำการบริหารจัดการกองทุนยังขาดความโปร่งใสและชอบธรรม เนื่องจากเงินกองทุนมีจำกัดจึงต้องเลือกให้กู้ได้เฉพาะคนที่เป็นพรรคพวกของตัวเองหรือคนที่มีปัญญาจะส่งคืนเพื่อไม่ให้กองทุนเป็น NPL จึงทำให้คนที่จนจริงๆเข้าไม่ถึงกองทุน


ที่ซ้ำเติมไปกว่านั้นคือ ผู้เขียนก็พบว่าส่วนใหญ่ อบต.ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ได้ตั้งคำถามข้างต้นเช่นกัน กลุ่ม/กองทุนต่างๆในฐานะหน่วยเศรษฐกิจชุมชนก็ไม่มีคำถาม ผู้นำธรรมชาติและชาวบ้านก็ไม่ได้ตั้งคำถาม ไม่มีใครตั้งคำถาม ไม่มีใครสนใจ แทบไม่มีใครมีฉันทะที่จะทำให้กองทุนต่างๆและหน่วยธุรกิจชุมชนเป็นองค์กรแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชนอย่างจริงๆจังๆ แทบทุกคนสนใจแต่ว่า " ตัวข้าและครอบครัวข้าจะรอดได้อย่างไร"


เมื่อไม่มีคำถามแบบนี้ออกมาจากหน่วยต่างๆในชุมชน ก็แสดงว่าไม่มีโครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตัวเอง ใช่หรือไม่ เมื่อไม่มีโครงสร้างนี้อยู่ แล้วข้าผู้น้อยจะทำอย่างไรเพื่อช่วยชาวบ้านแก้ปัญหาหนี้สินและความยากจน กูรูทั้งหลายช่วยตอบที...


..............


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ เม.ย. ๒๕๔๘