Skip to main content

เสรีนิยม: สวัสดีและลาก่อน

คอลัมน์/ชุมชน

ได้พบกับเว็บภาษาอังกฤษ www.cjnetworks.com/~cubsfan/liberal.html เป็นเว็บอ่านง่ายเกี่ยวกับความเป็นเสรีนิยม (liberalism ) จึงขอนำมาถกและอธิบาย และถือเป็นอนุสนธิจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อปลายปีที่แล้ว รวมทั้งสภาพสังคมไทยทั่วไป บทความนี้จึงเป็นการนำเสนอแนวคิดและมุมมองกว้าง ๆ เกี่ยวกับคำ ๆ นี้


การเป็นเสรีนิยม ( liberal ) หมายถึง การส่อให้เห็นการเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลง และการเคารพในเสรีภาพของปัจเจกชน ภายในขอบเขตทางสังคมที่กำหนดว่ามนุษย์ทุกคนมีโอกาส (ทางสังคม) ที่เท่าเทียมกัน การเป็นอนุรักษ์นิยม ( conservative ) คือ การที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และใฝ่หาการแก้ไขปัญหาทางสังคมโดยผ่านระเบียบวิธีแบบดั้งเดิม ( traditional ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกี่ยวกับทางศีลธรรม


ในมุมมองของเสรีนิยมนั้น กรอบทั่วไปของ " เสรีภาพขั้นพื้นฐาน" กล่าวไว้ว่า 1. มนุษย์มีเสรีภาพทางความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ( conscience ) โดยกำหนดว่ามนุษย์สามารถคิดได้ตามที่ต้องการ 2. มนุษย์มีเสรีภาพทางศาสนา โดยกำหนดว่ามีสิทธิที่จะประกอบกิจกรรมทางศาสนาตามต้องการ รัฐบาลไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นสนับสนุนหรือต่อต้าน ในแต่ละศาสนาหรือศาสนาหนึ่งใดโดยเฉพาะ 3. มนุษย์มีเสรีภาพทางการสื่อสารพูดจา (speech ) โดยกำหนดว่ามีสิทธิที่จะแสดงออกทางความคิดต่าง ๆ ไม่ว่าอะไรก็ตาม และเชื่อว่าความจริงแท้จะอุบัติขึ้นได้ในตลาดหรือเวทีเสรีทางแนวความคิด


นอกจากนี้ เรื่องของคำว่า " ครอบครัว" ชาวเสรีนิยมเชื่อว่าครอบครัวเป็นหน่วยทางสังคมพื้นฐานในสหรัฐฯ (และที่อื่น ๆ ด้วย--ผู้เขียน) ครอบครัวต้องได้รับการยกย่องเคารพและการสนับสนุน ไม่ว่าครอบครัวนั้นจะอยู่ในรูปแบบใด ๆ (เช่น ครอบครัวผู้ปกครองเดี่ยว ครอบครัวของบุคคลรักต่างเพศ หรือรักเพศเดียวกัน--ผู้เขียน) รัฐบาลควรคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวทุกครั้งเมื่อจะออกนโยบายใด ๆ ออกมา


ชาวเสรีนิยมให้ความสำคัญเกี่ยวกับ สิทธิที่ว่าด้วย " การศึกษา" มองว่า มนุษย์มีความเท่าเทียมกันของโอกาสในการที่จะเข้าถึงและได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมทั้งธำรงไว้ซึ่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในฐานะพลเมืองของชาติ และความสามารถที่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในสังคม


ท้ายสุดที่จะนำมาถ่ายทอด (จริง ๆ มีรายละเอียดอีกมาก แต่ขอนำมาแค่นี้) คือ สิทธิของลูกจ้าง ( Employees' Rights ) ชาวเสรีนิยมกล่าวว่า มนุษย์ทำงานเกือบตลอดชั่วชีวิต งานคือพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและเป็นกาวใจหลักที่ทำให้ชุมชนต่างอยู่ร่วมด้วยกันได้ ลูกจ้างถือว่าเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่เท่าเทียมกับนายจ้าง และด้วยเหตุนี้จึงมีสิทธิที่จะรวมตัวกันต่อรองได้ในเรื่องข้อกำหนดของการว่าจ้าง


ถ้ามองถึงนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบันทำอยู่ จะเห็นว่าความเป็นเสรีนิยมแทบไม่เหลือ เสรีภาพต่าง ๆ หดหาย หากใช้ " ความกลัว" เข้ามากล่อมบุคคลในชาติให้ไขว้เขวและเข้าใจผิด มองการเปลี่ยนแปลงเป็นด้านลบ ลดกระแสความกดดันโดยไม่ให้ข้อมูลหลายอย่างออกมา อีกทั้งกำจัดสิทธิต่าง ๆ ของบุคคลทั่วไปที่ไม่อยู่ในกรอบของกระแส ไม่ว่าจะเป็นรักเพศเดียวกัน คนงานที่เข้ามาทำงานแบบที่เรียกว่าผิดกฎหมาย ทั้งที่ถ้าไม่มีคนพวกนี้คนอเมริกันเองก็ไม่ทำอยู่แล้ว เนื่องจากค่าแรงต่ำ ไม่มีสวัสดิการ และไร้ศักดิ์ศรี และบุคคลชายขอบทุกประเภท


ความเป็นเสรีนิยมที่พอมีอยู่บ้างในสมัยเดโมแครทครองเมืองก็ค่อย ๆ หายไป ไม่ได้บอกว่าเดโมแครทเป็นเสรีนิยมแท้ แต่ว่ามีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าเท่านั้น วันนี้สังคมอเมริกันได้ย้อนยุคไปมาก หลายคนเรียกยุคปัจจุบันว่ายุคหลัง 9/11 เกิดการขาดวิสัยทัศน์เพราะตื่นตระหนกกับคำขู่ของรัฐบาลที่จะมีภัยมา แต่ก็หามูลไม่ได้เอาเลย ในขณะเดียวกันก็มีสงครามและความขัดแย้งขึ้นเป็นระยะอย่างที่ไม่มีมาก่อนในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา


ส่วนในสังคมไทยนั้น ความเป็นเสรีชนยังไปไม่ถึง เริ่มได้ตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน ที่กล่าวกันไปมาว่าเป็นตะวันตกเกินไป เมืองไทยมีของกรอบเรื่องนี้ของตนเอง ขอจัดการเอง ลามไปถึงเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมที่ตากใบเสียชีวิตในกระบวนการการจับกุม คำตอบที่แท้จริงไม่มี หรือมีแต่ตอบไม่ได้


หลายคนอาจตั้งคำถามว่า " เสรีนิยม" เป็นทางออกเดียวหรืออย่างไรในการมองและแก้ปัญหาสังคม ผู้เขียนตอบว่าอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด หากแต่เป็นคำตอบขั้นต้นที่จะตีแผ่ข้อเท็จจริงอื่น ๆ ออกมาได้ หากแต่วันนี้ไม่มีวี่แววของการเบ่งบานของเสรีนิยมแต่อย่างใด เพราะเสรีนิยมอาจถือได้ว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของความเป็นเผด็จการหรืออำนาจนิยม


มุมมองนิเทศศาสตร์นั้น เราได้ไปเน้นที่เรื่อง เสรีภาพทางการสื่อสารพูดจา ( speech ) อันเป็นการสื่อสารที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะสร้างความเป็นเสรีชน การที่มีความขัดแย้งทางความคิดไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ความรุนแรง และการแบ่งแยกเดียดฉันท์ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น


หลายครั้งที่หนทางความเป็นเสรีนิยมดูเหมือนว่าอาจได้มาหลังจากการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ชีวิตผู้คน หยาดเลือดและหยดน้ำตา แต่ขอให้สำเหนียกว่านั่นไม่ใช่ทางไปสู่หรือผลของการมีเสรีนิยม แต่เป็นเพราะว่าการไม่มีเสรีนิยมมากกว่า ไม่มีการเปิดอกคุยกันตรง ๆ ไม่มีการเปิดเผยข่าวสารอย่างสุจริตของทุกฝ่าย และที่สำคัญสาเหตุของการขาดการมองแบบเสรีนิยม มักมาจากความเชื่อที่ว่าไม่คุ้มและใช้เวลายาวนานเกินไป


การที่ทำสังคมให้มีลักษณะของเสรีประชาคม ( civil liberty ) หรือสิทธิปัจเจกชนพื้นฐาน ที่ได้รับการปกป้องทางกฎหมาย และสามารถแสดงออกได้ในฐานะตัวป้องกันการแทรกแซงจากรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมนั้น ไม่ใช่ของแค่ชั่วข้ามคืน แต่หากต้องใช้เวลา ความอดกลั้น และแรงกายแรงใจของทุกฝ่าย เสรีนิยมนั้นนิยมและสนับสนุนความคิดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คงต้องมองต่อไปและเชื่อว่าหนทางนั้นยังอีกยาวนาน


...............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๒๗ พ.ค. ๒๕๔๘